ข่าวการเงิน - การลงทุน

30 June 2008

มุมมองหุ้นไทยสไตล์ Richerstock 30-06-08 ตอน 2

นลท.ทิ้งหุ้นรับวันหยุดครึ่งปีแบงก์ ผวาเงินเฟ้อกดดันบรรยากาศ

โบรกฯ คาดตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ ยังซบเซา โดยพรุ่งนี้ สถาบันการเงินไทยหยุดทำการ 1 วัน แนะจับตาเงินเฟ้อแผลงฤทธิ์ กดบรยากาศการลงทุน ชี้ความสามารถการบริโภคประชาชนลดลงจากต้นทุนชีวิตที่สูงขึ้น ส่อเค้าปรับลดประมาณการกำไร บจ. ลดความน่าลงทุนของตลาดหุ้นดิ่ง แนะนำชะลอการลงทุน วันนี้ (30 มิ.ย.) นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ เป็นวันหยุดทำการครึ่งปีของสถาบันการเงิน ส่งผลให้นักลงทุนเทขายทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยง นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่ายังคงเป็นห่วงเรื่องอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยปริมาณการซื้อขายในวันนี้ค่อนข้างบางเบา ปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้มีแรงขายทำกำไรออกมาในช่วงท้ายตลาดทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในวันพุธ (2 ก.ค 51) ดัชนีหุ้นไทย มีแนวโน้มอ่อนตัวลงต่อ เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆมาสนับสนุนการลงทุน ขณะที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตามแนะให้นักลงทุนติดตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศประกอบด้วย เนื่องจากอาจส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุน สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำทยอยขาย เนื่องจากดัชนีฯหลุดแนวรับสำคัญที่ 770 จุด โดยมีแนวโน้มเป็นขาลง ประเมินแนวรับไว้ที่ 760-753 จุด ส่วนแนวต้านประเมินไว้ที่ 780-790 จุด นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.บัวหลวง กล่าวถึงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในในวันพุธนี้ (2 ก.ค.51) คาดว่าดัชนีมีโอกาสปรับตัวลงต่อ เพราะความกังวลปัญหาเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งยังเป็นปัจจัยลบที่กดดันบรรยากาสการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งนี้ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ผลักดันให้ต้นทุนการบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้น และบั่นทอนความสามารถในการใช้จ่าย และเชื่อว่าทางบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะปรับลดประมาณการการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ และปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนลง ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจการลงทุนเข้าสู่ภาวะชะงักงัน กลยุทธ์การลงทุน แนะนำชะลอการลงทุน ประเมินแนวรับ 760 จุด แนวต้าน 778 จุด

----------------------------------------------
โอเปคหนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ย

นายอับดัลลา ซาเล็ม เอล-บาดรี เลขาธิการกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ระบุว่า ไม่วิตกว่าอาจจะเกิดภาวะเงินฝืดอย่างกะทันหัน หลังจากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นในปัจจุบัน ตามแรงซื้อจากสถาบันการเงิน กองทุนบำนาญ กองทุนป้องกันความเสี่ยง และนักลงทุนรายย่อย
เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงถูกกล่าวหาว่าเป็นปัจจัยผลักดันราคาน้ำมันดีดตัวเหนือระดับ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. และรักษาท่าทีต่ออัตราเงินเฟ้อ
นายเอล-บาดรี กล่าวว่า นักลงทุนจะหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นแทน หากเฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเชื่อว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลง
โอเปคไม่ได้ยินดีกับราคาน้ำมันที่ระดับ 137 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปัจจุบัน หรือ 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในอดีต ราคาที่ระดับ 80 ดอลลาร์ 90 ดอลลาร์ หรือ 110 ดอลลาร์ ควรสะท้อนตามปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์และอุปทาน
เลขาธิการโอเปคกล่าวด้วยว่า เขาได้พบกับพันธมิตรหลายรายที่มีความเห็นตรงกันว่า เงินทุนจากการเก็งกำไรเป็นต้นเหตุหลักที่ผลักดันราคาน้ำมันพุ่งขึ้นในขณะนี้

---------------------------------------------

มุมมองหุ้นไทยสไตล์ Richerstock 30-06-08

นักลงทุนต่างชาติ...ยังคงบทบาทสำคัญในตลาดหุ้นไทย :ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

นับจากต้นปี 2551 เป็นต้นมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีทิศทางที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ซึ่งนับจากวันเปิดตลาดจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน ตลาดหุ้นไทยลดลงไปแล้ว 94.35 จุดหรือร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบจากระดับปิด ณ.สิ้นปีก่อน ขณะที่ในวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยร่วงลงไปปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 เดือน ทั้งนี้ สาเหตุที่ดัชนีปรับตัวลงค่อนข้างแรงนั้น มาจากการขายสุทธิอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไปแล้วกว่า 46,000 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงเดียวกันของปีก่อนนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิสูงถึง 97,000 ล้านบาท และทั้งปี 2550 นั้นนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิประมาณ 56,000 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติเปลี่ยนฐานะจากซื้อสุทธิในปีก่อนมาเป็นการขายสุทธิในปีนี้แทน เนื่องจากตลาดหุ้นไทยได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง นอกจากนี้ดัชนี SET ยังมีการปรับตัวที่สอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูง (Stagflation) หลังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชน ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองทรัพย์สินที่มีความเสี่ยง เช่น หุ้น และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนให้สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงกว่า เช่น พันธบัตรรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การปรับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกล้วนแต่มีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน เห็นได้จากเมื่อเริ่มเปิดขายในปี 2551 จนถึงวันที่ 24 มิถุนายน ดัชนีตลาดหุ้นต่างๆ หลายแห่งทั่วโลกร่วงลงอย่างหนัก เช่น ดัชนีหุ้นเวียดนามร่วงลงร้อยละ 59.4 และดัชนีหุ้นจีนปรับลดลงร้อยละ 46.7 เป็นต้น ส่วนการปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้นไทยนั้น ดัชนีร่วงลงไปแล้วถึง 94.35 จุดหรือร้อยละ 11.0 ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไปแล้วกว่า 46,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ดัชนีหุ้นไทยยังปรับลดลงไปไม่มากนักเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค ยกเว้นเพียงดัชนีตลาดหุ้นไต้หวันและดัชนี NIKKEI สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยดังนี้
ตลาดหุ้นไทยอาจจะได้รับปัจจัยบวก จากการที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีราคาถูก(ค่า P/E ต่ำ) กว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ในขณะที่มีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุน โดยค่า P/E ของตลาดหุ้นไทย ณ.สิ้นเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ประมาณ 11.36 ขณะที่ Dividend Yield ร้อยละ 3.50 อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกดังกล่าว อาจมีน้ำหนักลดลง เพราะหากเทียบค่า P/E ณ.สิ้นเดือน พ.ค. กับต้นปี 2550 จะพบว่าค่า P/E ของดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับประเทศเกาหลี ขณะที่ตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคลดลง นอกจากนี้หากเทียบกับตั้งแต่ต้นปี 2551 พบว่าค่า P/E ของตลาดหุ้นอื่นๆ เช่น ดัชนีตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ก็ลดลงมาค่อนข้างมาก ทำให้ตลาดหุ้นเหล่านี้เริ่มมีความดึงดูดมากขึ้น นอกจากนี้ แรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติอาจจะถูกจำกัดด้วยความวิตกเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย
สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ทั้งการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีแนวโน้มจะดำเนินไปอย่างยืดเยื้อมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนชาวต่างชาติได้
ภาวะเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อของไทยกำลังปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปี หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม เร่งตัวขึ้นเกินคาดสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปีที่ร้อยละ 7.6 จากร้อยละ 6.2 ในเดือนเมษายน โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังกล่าวว่า มีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อของไทยในระยะถัดไปจะขยายตัวเป็นเลขสองหลักเนื่องจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า
โดยสรุป ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ที่ผ่านมานั้น ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงมากถึงร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบจากระดับปิด ณ.สิ้นปีก่อน ทั้งนี้ สาเหตุที่ดัชนีปรับลดลงค่อนข้างแรงนั้น มาจากการขายสุทธิอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิไปแล้วกว่า 46,000 ล้านบาท เนื่องจากความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ และดัชนีหุ้นไทยมีการปรับตัวสอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ปรับลดลงจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะStagflation ในขณะที่ค่าความสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างการปรับตัวของดัชนีหุ้นไทยกับมูลค่าการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติยังเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับช่วง 4 ปีก่อน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายก็มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง แต่มูลค่าการลงทุนยังคงขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักของนักลงทุนต่างชาติต่อปัจจัยแวดล้อมต่างๆ โดยแม้ตลาดหุ้นไทยจะมีปัจจัยบวกจากการที่ดัชนีปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีราคาถูก (ค่า P/E ต่ำ) ในขณะที่มีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ราคาหุ้นในหลายตลาดในภูมิภาคปรับลดลงมากกว่า ประกอบกับแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติอาจจะถูกจำกัดด้วยความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น

------------------------------------------------------
ชั่วโมงนี้ หากไม่พูดถึงอัตราเงินเฟ้อคงจะเชยแย่เลยครับ ลองสรุปคราวๆให้นะครับ
1. หากเศรษฐกิจร้อนแรง มีความต้องการสินค้า มากกว่า ความสามารถในการผลิต
แก้ไขโดย ทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดความต้องการสินค้าลง ให้นำเงินไปเก็บให้มากขึ้น ซึ่งส่วนนี้จะมีผลคือเศรษฐกิจจะชะรอตัวลง GDP อาจจะไม่ได้ตามเป้าหมายเดิม
2. หากเกิดจากปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงมากขึ้น อาจด้วยราคาน้ำมันสูงขึ้น ราคาเหล็หสูงขึ้น
แก้ไขโดย ทำการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนนำเงินกู้ไปลงทุนในส่วนของต้นทุนเพิ่ม ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการสนับสนุนนโยบายการคลัง ซึ่งจะทำให้ภาคเศรษฐกิจขยายตัว และตัวเลข GDP ขึ้นสูงตาม

ทั้งสองวิธีมีทั้งข้อดี และข้อเสียครับหากนำไปใช้ผิดที่ผิดเวลา ซึ่งหากวิเคราะห์กันอย่างง่ายๆ ภาพที่ชัดเจนที่สุดคือ ราคาสินค้าขึ้นสูงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเรื่อยๆและยังคงมีทีท่าว่าจะสูงต่อไปอีก ดังนั้นหากนำวิธีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาใช้เพื่อ เป็นการประกาศชัดเจนถึงภาวะปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าปรกตินั้นหากนำมาใช้แล้วไม่ได้ผล จะเกิดภาวะการหดตัวของเศรษฐกิจระยะยาวได้

คงต้องจับตากันต่อไปโดยรอฟังผลการประชุมของทาง กนง. ในวันที่ 16/07/2551 ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ขอบอกในที่นี้ไว้ก่อนว่า ในโซนเอเชีย ประเทศไทยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดครับ อืมมมมม...... น่าคิดนะครับ