ข่าวการเงิน - การลงทุน

20 July 2008

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้

อัตราดอกเบี้ยคืออะไร ?

หากเรามีเงิน 1,000 บาท และให้ใครก็ตามยืมไปทำประโยชน์ เราต้องการส่วนเกินเพิ่มขึ้นจาก 1,000 บาท สมมุติให้เป็นว่าต้องคืนเราที่ 1,100 บาท ส่วนเกินที่คืนมา 100 บาท เราเรียกมันว่าดอกเบี้ย หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ดอกเบี้ยก็คือส่วนเพิ่มขึ้นจากเงินต้นของเรานั่นเอง

ผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ย
1. ค่าเงินบาท
2. อัตราเงินเฟ้อ
3. การลงทุนของบริษัทเอกชนในประเทศ
4. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
5. เสถียรภาพของเศรษฐกิจ
6. การขาดดุลการค้า
7. การนำเข้า และส่งออก
8. ต้นทุนของธนาคารพานิชณ์
9. ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าการออกนโยบายเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากและยากยิ่ง และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อนโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยของไทยคือ นโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารการสหรัฐอเมริกาหรือ Fed Fund Rate ซึ่งมีผลกระทบต่อการลงทุนของชาวต่างชาติ และธุรกิจภายในประเทศอย่างมากที่สุด เนื่องจาก เงินลงทุนในภาคเอกชนจะเป็นสกุลเงิน ดอลล่า ส่วนหนึ่งด้วย

ทำไมต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น : จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป ?!?

การที่ ธปท. จะออกนโยบายปรับเพิ่ม หรือลดอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศจะต้องเปรียบเทียบกับ FED ก่อนว่ามีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่เท่าไร ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เช่นหากทาง สหรัฐอเมริกามีอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูง การปรับอัตราดอกเบี้ยประเทศไทยซึ่งอ้างอิงกับสหรัฐฯก็ต้องประกาศปรับขึ้นตามอีกในไม่ช้า เพราะว่าหากประเทศไทยไม่ประกาศปรับดอกเบี้ยขึ้นตามสหรัฐ คนในประเทศไทยก็จะเห็นว่าการออมเงินในประเทศไม่คุ้มค่าเพราะมีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ ดังนั้นคนภายในประเทศไทยก็จะนำเงินไปฝากในต่างประเทศ หรือลงทุนในต่างประเทศ เร่งชำระหนี้ต่างประเทศ พักเงินไว้ต่างประเทศกันมากขึ้น เงินก็จะไหลออกนอกประเทศมากขึ้นจนอาจทำให้เงินบาทของเราอ่อนค่าลงได้
นอกจากนี้ยังจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติด้วย เพราะอะไรหรือ.....เนื่องจากว่าชาวต่างชาติจะมองเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีพอ ยังคงใช้ดอกเบี้ยในระดับต่ำๆ โดยไม่มีการขยับขึ้นเลย นักลงทุนต่างชาติ จะมองว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เพราะผลตอบแทนของการออมขั้นพื้นฐาน คือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังอยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นได้ว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี ภาคการเงินยังมีปัญหา การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นตัวสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ทางหนึ่ง ดังนั้นจึงคิดว่าในไม่ช้าธนาคารแห่งประเทศไทยก็คงจะประกาศการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รักษาระดับการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจไม่มีความผันผวน และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในทิศทางและแนวโน้มที่สามารถเข้ามาทำการลงทุนได้ นอกจากนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังเป็นการลดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศไทยอีกทางหนึ่ง และยังส่งผลให้ค่าเงินบาทของประเทศไม่อ่อนค่ามากนักจากการที่นักลงทุนนำเงินออกนอกประเทศ
หากเป็นช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อจาก กรณี Demand Pull หรือภาวะเงินเฟ้อจากความต้องการสินค้าที่มากขึ้น การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการออมมากขึ้น การใช้จ่ายลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่ภาวะปรกติได้

จึงสรุปได้ว่า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย … ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ ,เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ,เพื่อรักษาระดับค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนเกินไป ,ลดอัตราเงินเฟ้อจาก Demand Pull ,

ผลกระทบจากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่มากเกินไป !!
หากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยผิดจังหวะ หรือมากเกินไปจะทำให้เกิดการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนเนื่องจากไม่กล้าที่จะกู้ลงมาลงทุนเพิ่ม หรือแม้กระทั่งมีเงินไหลเข้าประเทศมากเกินไปจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงจนทำให้เกิดวิกฤติค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ธุรกิจส่งออกประสบปัญหาขาดทุน และทำให้เกิดภาวะขาดดุลตามมา

ทำไมต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย ?

เมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัวไม่ดีนักหรือ หดตัวลง สิ่งที่จะต้องดำเนินการ คือ ดำเนินนโยบายการคลังและการเงินแบบผ่อนคลาย นั่นหมายความว่าจะต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ผลที่ตามมาทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ จนผู้หวังกำไรจากการฝากแบงค์ต้องหาช่องทางลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่น การซื้อพันธบัตร ตราสารหนี้ เป็นต้น และสิ่งที่คาดหวังยิ่งกว่านั้นคือทำให้นักธุรกิจทำการกู้ยืมเงินจากธนาคารพานิชณ์มากขึ้น เช่นนำมาขยายโรงงาน สั่งซื้อวัตถุดิบเพิ่ม จนก่อให้เกิดการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจ และลดภาวะเงินเฟ้อจากกรณี Cost Plus ได้อีกด้วย
แต่หากในสภาพการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่านอัตราดอกเบี้ยจะไม่ได้ผล ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ 1) สถาบันการเงินซึ่งเป็นสถาบันที่ให้เงินทุนแก่ธุรกิจและให้สินเชื่อแก่ประชาชนไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัญหา NPL รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการขยายสินเชื่อ และ 2) เป็นผลมาจากการที่ธุรกิจได้มีการขยายการลงทุนเกินตัวไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับแรงซื้อหดหายไป (ภาวะเงินฝืด) ดังนั้นไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำแค่ไหนก็ตาม นักธุรกิจจะไม่ขยายการลงทุน

ผลกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป !!
การลดอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป และยิ่งมีระยะห่างกับ FED มากแล้วละก็จะทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศไทย และนำเงินไหลออกนอกประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การขาดดุลการชำระเงินส่งผลต่อทุนสำรองระหว่างประเทศ และไร้เสถียรภาพของค่าเงินบาท

ตลาดหุ้นไทย VS นโยบายธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED)

ทำไม ธปท. ประเทศไทย และอีกหลายๆประเทศต้องจับตามองประเด็นการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ด้วย ? ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่คลาสสิกมาก และตอบยากแน่นอน…. เพราะอะไรนะเหรอ ? … ง่ายมากครับนโยบายอัตราดอกเบี้ยของ FED ก็มีข้อพิจารณาไม่ต่างจาก ธปท. ของเราเลย คือต้องดูแลค่าเงินบาท การขยายการลงทุน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงอัตราเงินเฟื้อฐาน แต่ก็เป็นภายในประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเมื่อนโยบายของ FED ออกมาปรับเพิ่ม/ลด เท่าไร อย่างไร ทาง ธปท. ก็นำมาพิจารณาปรับเปลี่ยนให้เหมาะตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนั้น โดยเน้นส่วนที่สำคัญคือต้องคำนึงถึง การลงทุนของนักธุรกิจซึ่งมีการกู้ยืมจากภายในประเทศสหรัฐอเมริกา 30-40% และการไหลเข้าไหลออกของนักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น

ผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์

ธนาคารพาณิชย์ได้ประโยชน์หากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลดลง และมีความพอใจหากดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากธนาคารปล่อยสินเชื่อได้น้อยมาก ขณะที่ฐานเงินฝากยังเติบโตอยู่
อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ชี้ถึงความผิดปกติ บางอย่างที่ยังคงอยู่ของภาวะเศรษฐกิจ อันนำมาสู่ปัญหาความต้องการสินเชื่อที่ชะลอตัวลง ปัญหาการไหลเข้าของเงินฝาก ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังไม่คืบหน้า ส่งผลให้ธนาคารต้องแบกรับต้น ทุนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ตลอดจนภาระในการทำสำรองเผื่อการ ด้อยค่าของมูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกันและการเสื่อมค่าของสินทรัพย์จัดชั้นในระดับสูง ไม่คุ้มกับรายได้ดอกเบี้ยและไม่เพียงพอที่จะทำให้ธนาคารดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างปกติสุข