ข่าวการเงิน - การลงทุน

12 August 2008

หุ้นวัฐจักร

แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ครับ

1 หุ้น commodity cyclical หุ้นประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์หรือ commodity ซึ่งสินค้าจะหน้าตาเหมือนกัน ทำให้ผู้ผลิตเกือบทุกรายจะต้องขายสินค้าหรือบริการที่ราคาเดียวกัน ได้แก่ เหล็ก ปิโตรฯ น้ำมัน ถ่านหิน เรือ แร่ธาตุ ฯลฯ หุ้นประเภทนี้จะมี cycle ขึ้นลงตาม demand supply ของอุตสาหกรรม ซึ่งมีปัจจัยด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเข้ามาเกี่ยวข้องในด้าน demand และมีปัจจัยด้านการเพิ่มหรือลดการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ของโลกซึ่งเป็นตัวกำหนด supply ดังนั้นผู้ศึกษา cycle ของธุรกิจจะต้องวิเคราะห์ให้ถูกทั้งด้าน demand และ supply ถูกด้านเดียวไม่พอครับ

2 หุ้น economic cyclical หุ้นประเภทนี้แม้จะไม่ได้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ แต่สินค้าหรือบริการนั้นมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจสูง เพราะอาจจะเป็นสินค้าที่ไม่ได้จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตนักหรือพอจะชะลอการซื้อได้ หรือ/และ สินค้าของผู้ผลิตเหล่านี้แม้ไม่ได้เป็น commodity ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนักและลูกค้าพร้อมจะ switching จากยี่ห้อหนึ่งไปอีกยี่ห้อ ทำให้เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจึงมีการตัดราคากัน หรือเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่สูงมากทำให้การลดลงของรายได้ใกล้เคียงกับกำไรที่จะลดลง หุ้นกลุ่มนี้ เช่น รถยนต์ อสังหาฯ วัสดุก่อสร้าง อิเลคทรอนิกส์ รวมไปถึงหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน คือ ธนาคาร เงินทุนและหลักทรัพย์

การวิเคราะห์หุ้น economic cyclical นั้น ต้องอาศัยความสามารถในการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคสูงครับ เพราะยอดขายของหุ้นกลุ่มดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับนักลงทุนอย่างเราที่จะไปทำนายแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ ที่ปัจจุบันมีตัวแปรในอนาคตที่คาดการณ์ยากจำนวนมาก เช่น การเมือง ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ เช่น สหรัฐ จีน

หุ้น cyclical ทั้งสองประเภทนั้น ดู p/e เป็นหลักไม่ได้ครับ โดยเฉพาะหุ้น commodity cyclical หุ้นเหล่านี้ แม้ p/e ต่ำมาก ก็จะใช่ว่าถูกเสมอไป หรือช่วงที่ p/e สูงก็ไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป เช่น หากธุรกิจกำลังอยู่ช่วง peak หุ้นประเภท cyclical มักจะมีกำไรที่สูงมากทำให้ p/e ต่ำ แต่เมื่อธุรกิจเข้าสู่ขาลงกำไรจะลดลงแรงมากหรือถึงขั้นขาดทุน

ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่เป็นมือใหม่ หรือเป็นนักลงทุนที่มีงานประจำค่อนข้างยุ่งและไม่มีเวลาศึกษามากนัก ผมจึงแนะนำให้ดูหุ้นกลุ่มที่เป็น non-cyclical เป็นหลัก ซึ่งจะปลอดภัยกว่าและวิเคราะห์ง่ายกว่าครับ

และผมเองมีความเชื่อว่า สำหรับตลาดหุ้นเมืองไทยนั้น หุ้นวัฏจักรเป็นหุ้นที่ทำกำไรได้มากที่สุด ซึ่งต่างจากตลาดหุ้นยุโรปหรืออเมริกา ที่บ้านเขานั้นหุ้นเติบโตจะเป็นหุ้นที่ทำกำไรในระยะยาวได้มากที่สุด สาเหตุก็เป็นเพราะบริษัทในบ้านเขานั้น ถ้าเก่งจริงและเติบโตจริง เขาสามารถเติบโตได้ทั่วโลก แต่บ้านเราหาบริษัทที่โตได้ทั่วโลกยากมาก โตสุดๆคือโตเต็มประเทศก็ถือว่าเก่งมากแล้ว การเล่นหุ้นเติบโตในเมืองไทยจึงสู้เล่นหุ้นวัฏจักรไม่ได้

วิธีค้นหาหุ้นวัฏจักร

เมื่อก่อนผมใช้วิธีอ่านหนังสือพิมพ์ไปเรื่อยๆ เคยเจอข่าว "ค่าระวางเรือสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์" ข่าวแบบนี้ก็จะช่วยให้เราสะดุดตาและเริ่มให้ความสนใจ ผมยังเคยเจอข่าว "วัสดุก่อสร้างขาดตลาดอย่างหนัก ผู้รับเหมาร้องขอเลื่อนส่งงาน" ข่าวแบบนี้ก็จะทำให้เราเริ่มสนใจวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น แต่ปัจจุบันนี้ ผมคิดว่าการใช้วิธีเดิมๆจะค่อนข้างช้า หมายความว่าเรารู้ตอนที่ใครๆก็รู้ และรู้กันทั้งประเทศแล้ว และราคาหุ้นมักจะปรับตัวกันไปบ้างแล้วแม้บางตัวอาจจะแพงไป บางตัวอาจจะยังถูก แต่ก็ถือว่าช้าอยู่ดี ปัจจุบันนี้เราจึงต้องดักหน้าก่อน พยายามมองให้ออกก่อน เราถึงจะได้เปรียบแบบมากๆหน่อย
จากการศึกษา วิธีที่จะดักหน้ากลุ่มนี้เราควรจะรู้เสียก่อนว่ากลุ่มนี้ทั้งหมดนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เท่าที่ดูๆผมจะแบ่งกลุ่มเพื่อให้สังเกตุง่ายๆพร้อมคุณสมบัติและโทษสมบัติแต่ละกลุ่มดู

วัฏจักรแบบท้องถิ่น หมายถึงในประเทศครับ เช่น อสังหา วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ หลักทรัพย์ โรงพยาบาล
- ความถี่ เกิดขึ้นได้บ่อยๆ วงจรสั้น ความรุนแรงน้อย
- ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อเงินฝืดในประเทศ
- ความแม่นยำในการพยากรณ์ มีน้อย เพราะขึ้นกับทำเล อุปสงค์/อุปทาน ในประเทศด้วย และการเปลี่ยนแปลงใดๆมีผลกระทบต่อการพยากรณ์มาก

วัฏจักรสากล เช่น เดินเรือ โลหะ กระดาษ ปิโตรเคมี หลักทรัพย์
- ความถี่ วงจรค่อนข้างยาว เกิดขึ้นนานๆครั้ง ความรุนแรงมาก(ได้กำไรมาก อิอิ)
- ขึ้นกับสัดส่วนอุปสงค์/อุปทานของโลก
- ความแม่นยำในการพยากรณ์ มีมาก เพราะไม่ขึ้นกับทำเล ไม่ขึ้นกับอุปสงค์/อุปทานในประเทศนัก และการเปลี่ยนแปลงใดๆมีผลกระทบต่อการพยากรณ์น้อย เพราะตลาดโลกมีขนาดใหญ่มาก

ปล. กลุ่มหลักทรัพย์นั้นผมจัดให้อยู่ทั้งสองกลุ่มเพราะคิดว่าไม่ตรงกับอันใดอันหนึ่งเสียทีเดียว ส่วนกลุ่มยานยนต์นั้นอาจจะเริ่มเข้าสู่กลุ่มที่สองถ้าสัดส่วนการส่งออกค่อยๆสูงขึ้นอย่างในปัจจุบัน

วิธีเลือกจังหวะซื้อขาย

ปีเตอร์ ลินช์ เคยบอกว่าให้ซื้อตอน p/e สูงๆ และขายตอน p/e ต่ำๆ หลักการอันนี้ดูจะกลับตาลปัตรกับหุ้นเติบโตหรือแม้แต่หุ้นทั่วๆไป แต่เป็นเรื่องจริงครับ
แต่ถ้าเรายึดตามตัวอักษรเป๊ะๆ เราอาจจะไปซื้อตอนช่วงกลางๆของวัฏจักรก็ได้ เพราะช่วงนั้น p/e ก็สูงเช่นเดียวกัน และถ้าวัฏจักรเต็มๆมีระยะเวลา 20 ปี เราก็ต้องรอตั้งสิบปีกว่าจะถึงขาขึ้น รอกันจนหน้าเหี่ยวพอดีและก็เสียโอกาสในการทำเงินไม่ใช่น้อยๆเรย......จึงต้องศึกษาเพิ่มเติมเสียหน่อย

ผลการศึกษา พบว่า
1. เราใช้วิธีดักหน้าไว้ก่อนเลย เช่นเรารู้วงจรของธุรกิจว่าใช้เวลากี่ปีๆ เราก็คำนวณไปล่วงหน้าว่าอีกกี่ปีจึงจะถึงรอบขาขึ้น แล้วเราก็จ้องตลอดว่ามัน “ใช่ ” หรือยัง
2. สัญญาณที่บอกว่า “ใช่ ” ก็เช่น บริษัทเริ่มได้กำไรมากขึ้น และมากขึ้นอย่างชัดเจนด้วยนะ
3. เช็คข่าวว่าบริษัทอื่นที่ทำธุรกิจคล้ายๆกัน ได้กำไรมากขึ้นเหมือนกันหรือเปล่า (ถ้าเป็นกลุ่มสากลมักจะได้กำไรไปด้วยกัน แต่ถ้าเป็นกลุ่มท้องถิ่นจะยากหน่อย อาจจะค่อยๆทยอยกันมาก็ได้)
4. เช็คยอดขาย อันนี้จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ร่วมกับสต็อคสินค้าเริ่มลดลง
5. เช็คบทวิเคราะห์ทั่วโลก(กลุ่มท้องถิ่นจะทำแบบนี้ไม่ได้ แต่กลุ่มสากลจะทำได้ง่าย และงานนี้จะไม่มีใครเป็น inside ตัวจริง ทุกคนจะพอๆกันเป็นการลดความเสียเปรียบ)
6. บทวิเคราะห์ที่ว่าอาจจะมีความคลาดเคลื่อน เพราะนักวิเคราะห์เองก็อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน(ระแวงไว้หน่อยก็ดีครับ) เขาอาจจะใช้ความเห็นมากกว่าข้อเท็จจริงก็ได้ หรืออาจจะใช้ข้อเท็จจริงแต่นำเสนอข้อเท็จจริงไม่หมด หรือจริงๆแล้วเจตนาบริสุทธิ์แต่รู้ไม่หมด ไม่รอบด้านพอ จึงต้องเช็คงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาด้วยจะเชื่อถือได้มากกว่า