ข่าวการเงิน - การลงทุน

12 August 2008

หุ้นวัฐจักร

แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ครับ

1 หุ้น commodity cyclical หุ้นประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์หรือ commodity ซึ่งสินค้าจะหน้าตาเหมือนกัน ทำให้ผู้ผลิตเกือบทุกรายจะต้องขายสินค้าหรือบริการที่ราคาเดียวกัน ได้แก่ เหล็ก ปิโตรฯ น้ำมัน ถ่านหิน เรือ แร่ธาตุ ฯลฯ หุ้นประเภทนี้จะมี cycle ขึ้นลงตาม demand supply ของอุตสาหกรรม ซึ่งมีปัจจัยด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเข้ามาเกี่ยวข้องในด้าน demand และมีปัจจัยด้านการเพิ่มหรือลดการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ของโลกซึ่งเป็นตัวกำหนด supply ดังนั้นผู้ศึกษา cycle ของธุรกิจจะต้องวิเคราะห์ให้ถูกทั้งด้าน demand และ supply ถูกด้านเดียวไม่พอครับ

2 หุ้น economic cyclical หุ้นประเภทนี้แม้จะไม่ได้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ แต่สินค้าหรือบริการนั้นมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจสูง เพราะอาจจะเป็นสินค้าที่ไม่ได้จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตนักหรือพอจะชะลอการซื้อได้ หรือ/และ สินค้าของผู้ผลิตเหล่านี้แม้ไม่ได้เป็น commodity ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนักและลูกค้าพร้อมจะ switching จากยี่ห้อหนึ่งไปอีกยี่ห้อ ทำให้เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจึงมีการตัดราคากัน หรือเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่สูงมากทำให้การลดลงของรายได้ใกล้เคียงกับกำไรที่จะลดลง หุ้นกลุ่มนี้ เช่น รถยนต์ อสังหาฯ วัสดุก่อสร้าง อิเลคทรอนิกส์ รวมไปถึงหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน คือ ธนาคาร เงินทุนและหลักทรัพย์

การวิเคราะห์หุ้น economic cyclical นั้น ต้องอาศัยความสามารถในการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคสูงครับ เพราะยอดขายของหุ้นกลุ่มดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับนักลงทุนอย่างเราที่จะไปทำนายแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ ที่ปัจจุบันมีตัวแปรในอนาคตที่คาดการณ์ยากจำนวนมาก เช่น การเมือง ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ เช่น สหรัฐ จีน

หุ้น cyclical ทั้งสองประเภทนั้น ดู p/e เป็นหลักไม่ได้ครับ โดยเฉพาะหุ้น commodity cyclical หุ้นเหล่านี้ แม้ p/e ต่ำมาก ก็จะใช่ว่าถูกเสมอไป หรือช่วงที่ p/e สูงก็ไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป เช่น หากธุรกิจกำลังอยู่ช่วง peak หุ้นประเภท cyclical มักจะมีกำไรที่สูงมากทำให้ p/e ต่ำ แต่เมื่อธุรกิจเข้าสู่ขาลงกำไรจะลดลงแรงมากหรือถึงขั้นขาดทุน

ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่เป็นมือใหม่ หรือเป็นนักลงทุนที่มีงานประจำค่อนข้างยุ่งและไม่มีเวลาศึกษามากนัก ผมจึงแนะนำให้ดูหุ้นกลุ่มที่เป็น non-cyclical เป็นหลัก ซึ่งจะปลอดภัยกว่าและวิเคราะห์ง่ายกว่าครับ

และผมเองมีความเชื่อว่า สำหรับตลาดหุ้นเมืองไทยนั้น หุ้นวัฏจักรเป็นหุ้นที่ทำกำไรได้มากที่สุด ซึ่งต่างจากตลาดหุ้นยุโรปหรืออเมริกา ที่บ้านเขานั้นหุ้นเติบโตจะเป็นหุ้นที่ทำกำไรในระยะยาวได้มากที่สุด สาเหตุก็เป็นเพราะบริษัทในบ้านเขานั้น ถ้าเก่งจริงและเติบโตจริง เขาสามารถเติบโตได้ทั่วโลก แต่บ้านเราหาบริษัทที่โตได้ทั่วโลกยากมาก โตสุดๆคือโตเต็มประเทศก็ถือว่าเก่งมากแล้ว การเล่นหุ้นเติบโตในเมืองไทยจึงสู้เล่นหุ้นวัฏจักรไม่ได้

วิธีค้นหาหุ้นวัฏจักร

เมื่อก่อนผมใช้วิธีอ่านหนังสือพิมพ์ไปเรื่อยๆ เคยเจอข่าว "ค่าระวางเรือสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์" ข่าวแบบนี้ก็จะช่วยให้เราสะดุดตาและเริ่มให้ความสนใจ ผมยังเคยเจอข่าว "วัสดุก่อสร้างขาดตลาดอย่างหนัก ผู้รับเหมาร้องขอเลื่อนส่งงาน" ข่าวแบบนี้ก็จะทำให้เราเริ่มสนใจวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น แต่ปัจจุบันนี้ ผมคิดว่าการใช้วิธีเดิมๆจะค่อนข้างช้า หมายความว่าเรารู้ตอนที่ใครๆก็รู้ และรู้กันทั้งประเทศแล้ว และราคาหุ้นมักจะปรับตัวกันไปบ้างแล้วแม้บางตัวอาจจะแพงไป บางตัวอาจจะยังถูก แต่ก็ถือว่าช้าอยู่ดี ปัจจุบันนี้เราจึงต้องดักหน้าก่อน พยายามมองให้ออกก่อน เราถึงจะได้เปรียบแบบมากๆหน่อย
จากการศึกษา วิธีที่จะดักหน้ากลุ่มนี้เราควรจะรู้เสียก่อนว่ากลุ่มนี้ทั้งหมดนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เท่าที่ดูๆผมจะแบ่งกลุ่มเพื่อให้สังเกตุง่ายๆพร้อมคุณสมบัติและโทษสมบัติแต่ละกลุ่มดู

วัฏจักรแบบท้องถิ่น หมายถึงในประเทศครับ เช่น อสังหา วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ หลักทรัพย์ โรงพยาบาล
- ความถี่ เกิดขึ้นได้บ่อยๆ วงจรสั้น ความรุนแรงน้อย
- ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อเงินฝืดในประเทศ
- ความแม่นยำในการพยากรณ์ มีน้อย เพราะขึ้นกับทำเล อุปสงค์/อุปทาน ในประเทศด้วย และการเปลี่ยนแปลงใดๆมีผลกระทบต่อการพยากรณ์มาก

วัฏจักรสากล เช่น เดินเรือ โลหะ กระดาษ ปิโตรเคมี หลักทรัพย์
- ความถี่ วงจรค่อนข้างยาว เกิดขึ้นนานๆครั้ง ความรุนแรงมาก(ได้กำไรมาก อิอิ)
- ขึ้นกับสัดส่วนอุปสงค์/อุปทานของโลก
- ความแม่นยำในการพยากรณ์ มีมาก เพราะไม่ขึ้นกับทำเล ไม่ขึ้นกับอุปสงค์/อุปทานในประเทศนัก และการเปลี่ยนแปลงใดๆมีผลกระทบต่อการพยากรณ์น้อย เพราะตลาดโลกมีขนาดใหญ่มาก

ปล. กลุ่มหลักทรัพย์นั้นผมจัดให้อยู่ทั้งสองกลุ่มเพราะคิดว่าไม่ตรงกับอันใดอันหนึ่งเสียทีเดียว ส่วนกลุ่มยานยนต์นั้นอาจจะเริ่มเข้าสู่กลุ่มที่สองถ้าสัดส่วนการส่งออกค่อยๆสูงขึ้นอย่างในปัจจุบัน

วิธีเลือกจังหวะซื้อขาย

ปีเตอร์ ลินช์ เคยบอกว่าให้ซื้อตอน p/e สูงๆ และขายตอน p/e ต่ำๆ หลักการอันนี้ดูจะกลับตาลปัตรกับหุ้นเติบโตหรือแม้แต่หุ้นทั่วๆไป แต่เป็นเรื่องจริงครับ
แต่ถ้าเรายึดตามตัวอักษรเป๊ะๆ เราอาจจะไปซื้อตอนช่วงกลางๆของวัฏจักรก็ได้ เพราะช่วงนั้น p/e ก็สูงเช่นเดียวกัน และถ้าวัฏจักรเต็มๆมีระยะเวลา 20 ปี เราก็ต้องรอตั้งสิบปีกว่าจะถึงขาขึ้น รอกันจนหน้าเหี่ยวพอดีและก็เสียโอกาสในการทำเงินไม่ใช่น้อยๆเรย......จึงต้องศึกษาเพิ่มเติมเสียหน่อย

ผลการศึกษา พบว่า
1. เราใช้วิธีดักหน้าไว้ก่อนเลย เช่นเรารู้วงจรของธุรกิจว่าใช้เวลากี่ปีๆ เราก็คำนวณไปล่วงหน้าว่าอีกกี่ปีจึงจะถึงรอบขาขึ้น แล้วเราก็จ้องตลอดว่ามัน “ใช่ ” หรือยัง
2. สัญญาณที่บอกว่า “ใช่ ” ก็เช่น บริษัทเริ่มได้กำไรมากขึ้น และมากขึ้นอย่างชัดเจนด้วยนะ
3. เช็คข่าวว่าบริษัทอื่นที่ทำธุรกิจคล้ายๆกัน ได้กำไรมากขึ้นเหมือนกันหรือเปล่า (ถ้าเป็นกลุ่มสากลมักจะได้กำไรไปด้วยกัน แต่ถ้าเป็นกลุ่มท้องถิ่นจะยากหน่อย อาจจะค่อยๆทยอยกันมาก็ได้)
4. เช็คยอดขาย อันนี้จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ร่วมกับสต็อคสินค้าเริ่มลดลง
5. เช็คบทวิเคราะห์ทั่วโลก(กลุ่มท้องถิ่นจะทำแบบนี้ไม่ได้ แต่กลุ่มสากลจะทำได้ง่าย และงานนี้จะไม่มีใครเป็น inside ตัวจริง ทุกคนจะพอๆกันเป็นการลดความเสียเปรียบ)
6. บทวิเคราะห์ที่ว่าอาจจะมีความคลาดเคลื่อน เพราะนักวิเคราะห์เองก็อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน(ระแวงไว้หน่อยก็ดีครับ) เขาอาจจะใช้ความเห็นมากกว่าข้อเท็จจริงก็ได้ หรืออาจจะใช้ข้อเท็จจริงแต่นำเสนอข้อเท็จจริงไม่หมด หรือจริงๆแล้วเจตนาบริสุทธิ์แต่รู้ไม่หมด ไม่รอบด้านพอ จึงต้องเช็คงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาด้วยจะเชื่อถือได้มากกว่า

03 August 2008

The Diamond Model

The Diamond Model

ในการวางกลยุทธ์การแข่งขันข้ามพรมแดนต้องคำนึงถึง (1) ปัจจัยด้านที่ตั้ง (Location) และ (2) ความได้เปรียบในการแข่งขันที่เป็นผลจากความร่วมมือข้ามพรมแดนหรือ Global Networks โดยมีเครื่องมือที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบของ Location ที่มีต่อความสามารถในการแข่งขันคือ Diamond Model ซึ่งแบ่งการวิเคราะห์ทั้งปัจจัยที่เป็นบวกและลบออกเป็น 4 ด้านหลัก ได้แก่ (1) ปัจจัยและเงื่อนไขที่เป็น Input ของการพัฒนาอุตสาหกรรม (Factor Conditions) ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน เงินทุน ระบบสาธารณูปโภค, (2) อุปสงค์ของสินค้า/บริการ (Demand Conditions), (3) อุตสาหกรรมที่สนับสนุนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และ (4) กลยุทธ์ของบริษัท โครงสร้างอุตสาหกรรม และคู่แข่ง และมีปัจจัยภายนอกเพิ่มเติมอีก 2 ปัจจัย คือ การเปลี่ยนแปลงในอนาคต และกฎระเบียบและนโยบายของรัฐที่เกี่ยวโยงกับองค์ประกอบหลักทั้งสี่ด้าน


ตัวอย่าง
ใน Diamond Model ที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งได้แก่ (1) เงื่อนไขปัจจัยการผลิต (2) อุตสาหกรรมเชื่อมโยงและสนับสนุน (3) เงื่อนไขด้านอุปสงค์ และ (4) บริบทของการแข่งขันและกลยุทธ์ทางธุรกิจ

จากการศึกษาแบบ Top-down จากบนสู่ล่าง และ Bottom-up Approach กระบวนจากล่างขึ้นบน คณะทำงานได้พบประเด็นสำคัญ ที่ส่งผลกระทบทั้งในการสนับสนุน และเป็นอุปสรรค ต่อการสร้างความสามารถ ในการแข่งขันของไทย ซึ่งเป็นประเด็นพื้นฐานทั่วไป ที่พบทั้งในระดับของการศึกษาจากภาพรวม และจากการศึกษาระดับอุตสาหกรรม 5 อุตสาหกรรม ที่นำมาเป็นกรณีศึกษาในครั้งนี้ สรุปได้ดังนี้

1) ด้านเงื่อนไขปัจจัยการผลิต
๐ ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะมี Bio-diversity สูง และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสวยงาม แต่เริ่มมีปัญหาการเสื่อมโทรมลง
๐ โครงสร้างพื้นฐานโดยทั่วไปอยู่ในระดับดี โดยเฉพาะถนน แต่ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ICT) ยังมีปัญหาด้านการกระจุกตัว ของเครือข่ายในเขตเมือง และราคาบริการที่สูง
๐ การศึกษา และคุณภาพของแรงงานไทยโดยทั่วไปต่ำ การผลิตแรงงาน ที่มีความสามารถเฉพาะ/ขั้นสูง ยังมีจำกัด และด้อยคุณภาพ และไม่สอดคล้อง กับความต้องการของอุตสาหกรรม
๐ ความสามารถทางเทคโนโลยีของธุรกิจไทย อยู่ในระดับต่ำ การวิจัยและพัฒนา (R&D) ยังใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้น้อย และมีปัญหาเรื่องกลไก และระบบการบริหารจัดการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
๐ ตลาดทุนยังอ่อนแอ ทำให้เอกชนส่วนใหญ่พึ่งพาตลาดเงิน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินที่สูงของธุรกิจ

2) อุตสาหกรรมเชื่อมโยงและสนับสนุน
๐ การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นการเชื่อมโยงเชิงกิจกรรม ในห่วงโซ่อุปทานตลอดสาย ของอุตสาหกรรมต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ แต่ในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมอาหาร ยังคงมีปัญหาของการเชื่อมโยงเชิงกิจกรรม ในทุกช่วงของห่วงโซ่อุปทาน
๐ ส่วนการเชื่อมโยงในเชิงความร่วมมือในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster) ก็ยังมีปัญหามาก ซึ่งพบได้ในอุตสาหกรรมทั้ง 5 กลุ่มที่ได้ศึกษา เนื่องจากการขาดกลไก ที่จะผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ
๐ สถาบันเพื่อความร่วมมือของกลุ่มอุตสาหกรรม ได้มีการจัดตั้งอยู่บ้างแล้ว เช่น การรวมกลุ่มของธุรกิจ เป็นสมาคมการค้าต่างๆ แต่ส่วนใหญ่เน้นทำกิจกรรมวิ่งเต้น และเจรจาต่อรอง เพื่อผลประโยชน์ มากกว่าจะสนับสนุน การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม ให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ส่วนสถาบันเฉพาะทางสำหรับแต่ละอุตสาหกรรมยังคงอ่อนแอ และขาดศักยภาพ ที่จะเป็นแกนกลางในการสร้างความร่วมมือ ของอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หลายสถาบันได้มีการริเริ่มกิจกรรมต่างๆ ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจให้กับสมาชิก รวมทั้งหลายแห่งได้มีการริเริ่มกิจกรรม การแลกเปลี่ยนข้อมูล การสร้างเครือข่ายธุรกิจ รวมทั้งประสานความร่วมมือ ระหว่างสถาบันการศึกษากับธุรกิจ ซึ่งจะเป็นรากฐาสำคัญของการพัฒนา และสร้างความเข้มแข็ง ให้กับเครือข่ายวิสาหกิจบ้างแล้ว

3) เงื่อนไขด้านอุปสงค์
๐ อุปสงค์ภายในประเทศของผู้บริโภคทั่วไป ยังคงมีความพิถีพิถันน้อย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพ และมาตรฐานสินค้า และบริการเท่าที่ควร เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ มีการศึกษาน้อย และมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่ประนีประนอมสูง
๐ ปัจจัยผลักดันให้ธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพ และมาตรฐาน ส่วนใหญ่มาจากอุปสงค์ของต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เป็นปัจจัย ที่ก่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน เนื่องจากการพัฒนามาตรฐาน และคุณภาพได้ตามระดับสากลนั้น เป็นลักษณะที่ประเทศอื่นๆ สามารถที่จะเลียนแบบ และพัฒนาจนมีระดับเท่าเทียมกันได้
๐ มีจุดแข็งของอุปสงค์ภายในประเทศ ที่มีลักษณะเฉพาะในบางสินค้า เช่น รถปิกอัพ ซึ่งมีความพิถีพิถันสูง และมีศักยภาพ ในระดับที่ชี้นำอุปสงค์ของโลกได้
๐ อุปสงค์จากภาครัฐในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่ของอุตสาหกรรม ยังขาดความพิถีพิถัน มุ่งเน้นราคาต่ำมากกว่าคุณภาพ จึงไม่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพ หรือผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น

4) สภาพแวดล้อมการแข่งขันและกลยุทธ์ธุรกิจ
๐ ระดับการเปิดกว้างต่อการแข่งขัน และการลงทุนจากต่างประเทศ มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจมีการแข่งขันกันมาก และผลิตภาพของธุรกิจสูงขึ้น
๐ การเปิดเสรียังล่าช้า อัตราภาษียังสูง ซับซ้อน และไม่สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของแต่ละอุตสาหกรรม
๐ การบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้ายังมีปัญหา และไม่เอื้อต่อการสร้างบรรยากาศในการแข่งขันที่เป็นธรรม
๐ กลไกราชการขาดประสิทธิภาพ มีปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งก่อให้เกิดภาระต้นทุนแก่ธุรกิจ ๐ บริษัทส่วนใหญ่แข่งขันบนพื้นฐานปัจจัยการผลิตราคาถูก และการตัดราคา และมีการลงทุน เพื่อการพัฒนาความสามารถ ในการแข่งขันในระยะยาวน้อย

Porter's Five Force

Porter's Five Force วิเคราะห์อุตสาหกรรมและการแข่งขัน

Michael E Porter's Five Forces เป็นหลักการประเมินธุรกิจรูปแบบหนึ่งครับ โดยหลักการนี้จะแบ่งการประเมิน 5 ทิศทางหรือ 5 ข้อคือ

1. ประเมินความสามารถของคู่แข่ง
ก็ต้องดูว่าคู่แข่งมีความสามารถแค่ไหน โดยอาจวิเคราะห์จาก SWOT ของคู่แข่งเทียบกับธุรกิจของตน
2. ความยากง่ายของเจ้าใหม่ที่จะเข้าตลาด
อุตสาหกรรมนี้รายใหม่เข้าได้ยากง่ายเพียงไร หากธุรกิจต้องใช้เงินลงทุนสูงมากๆ และมีข้อกำหนดหลายอย่างจะทำให้เป็นการยากที่รายใหม่จะเกิดขึ้น
3. อำนาจการต่อรองของ supplier
supplier มีอำนาจต่อรองมากน้อยเพียงไร ยิ่งบริษัทเราใหญ่มากเท่าไรอำนาจการต่อรองของ supplier ยิ่งน้อยลงเท่านั้น ยิ่ง supplier มีการแข่งขันกันสูง supplier ยิ่งมีอำนาจต่อรองน้อย
4. Buyer power
ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองมากเพียงไร หากเป็นธุรกิจที่พึ่งพาลูกค้ารายใหญ่จะทำให้ผู้ซื้อมีอำนาจมากกว่าบริษัท ทำให้การขึ้นราคาสินค้าเป็นไปได้ยาก
5. สินค้าทดแทน
สินค้านี้มีสินค้าทดแทนได้มากน้อยเพียงไร และในอนาคตมีแนวโน้มจะมีสินค้าทดแทนหรือไม่ รวมถึงสินค้าในกลุ่มอื่นที่ไม่เคยขายแข่งในตลาดเดียวกัน เช่น กล้องถ่ายรูปที่จะถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายภาพได้ ถึงแม้จะไม่สามารถแทนที่กันได้โดยสมบูรณ์แต่ก็เป็นคู่แข่งที่แย่งส่วนแบ่งตลาดกล้องถ่ายรูปได้มากทีเดียว

ตัวอย่าง
การวิเคราะห์ตามตัวแบบ Porter’s Five Force Model ในอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทย


1. สภาพการแข่งขันระหว่างผู้แข่งขันรายเดิม (Rivalry among Firms)
􀂙 ภายในประเทศ
+ กระทรวงพาณิชย์ปรับลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลง เกษตรกรผู้ผลิต
จึงขยายการเลี้ยงไก่มากขึ้น1 ส่งผลให้ผลผลิตไก่ออกสู่ตลาดปริมาณมาก การแข่งขันด้านราคาจึงเพิ่มขึ้น
- จำนวนโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการส่งออกจากประเทศคู่ค้ามีมากขึ้น ส่งผลให้การแข่งเพื่อ
ส่งออกทวีความรุนแรงขึ้น
- การแข่งขันการเลี้ยงไก่ในฟาร์มระบบปิดเพิ่มจำนวนขึ้น เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อแบบอิสระหันไป
เลี้ยงไก่เนื้อแบบประกันราคาและรับจ้างเลี้ยงมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดของโรคไข้หวัดนก
- ผู้ผลิตมีการรวบกลุ่มกันเพื่อควบคุมการผลิต ในกรณีเกิดภาวะไก่ล้นตลาด
+ ธุรกิจโรงฆ่าและชำแหละไก่ ถูกควบคุมมาตรฐานการผลิตอย่างเข้มงวดโดยกรมปศุสัตว์ นับตั้งแต่เกิดการ
ระบาดของโรคไข้หวัดนก ทำให้โรงงานปรับปรุงมาตรฐานโรงฆ่าและชำแหละไก่ ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

􀂙 ภายนอกประเทศ
+ จำนวนคู่แข่งในการส่งออกเนื้อไก่สดในตลาดโลกลดลง เนื่องจากเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกใน
ประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก ส่งผลดีต่อประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไข้หวัดนก
และเป็นโอกาสให้เกิดผู้ส่งออกรายใหม่ เช่น อาเจนติน่า
- ประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทยมีการแข่งขันด้านราคาอย่างเข้มข้น โดยใช้ความได้เปรียบด้านต้นทุนการ
ผลิตที่ต่ำกว่า
- เกิดการแข่งขันในสินค้าไก่แปรรูปปรุงสุกมากขึ้น เนื่องจากประเทศที่เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนก
หันมาผลิตสินค้าไก่ปรุงสุก เช่น ไทย และจีน

2. ด้านคู่แข่งรายใหม่ (Threat of New Entrants)
+ บราซิลผู้ส่งออกเนื้อไก่คู่แข่งในตลาดญี่ปุ่น เสียเปรียบด้านต้นทุนในการขนส่งเมื่อเทียบกับไทย เนื่องจาก
ระยะทางการขนส่งที่ห่างไกลกว่า
+ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย มีความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและคุณภาพมาตรฐานสินค้าไทย เพราะมี
การพัฒนาร่วมกันมานาน
- การระบาดของโรคไข้หวัดนก ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่มีความพร้อมด้านเงินลงทุนสำหรับการ
เลี้ยงไก่เนื้อระดับฟาร์มแบบโรงเรือนปิดไม่กล้าลงทุนสำหรับเริ่มกิจการเลี้ยงไก่เนื้อเนื่องจากมีความเสี่ยงสูง
- การเปลี่ยนแปลงสายการผลิตจากไก่สดแช่เย็นแช่แข็งมาเป็นไก่แปรรูปปรุงสุก ถูกจำกัดด้วยปัจจัย
สนับสนุนด้านเงินทุน และกฎระเบียบ มาตรฐานการค้าของประเทศคู่ค้า
- สหภาพยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทวีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะ
มาตรการที่มิใช่ภาษี เช่น ความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety Protocal) มาตรการสวัสดิภาพสัตว์ (Animal
Welfare) มาตรการสมุดปกขาว (White paper on food safety) และการกำหนดโควตานำเข้า

3. ด้านสินค้าทดแทน (Threat of Substitutes)
+ มีแนวโน้มว่าผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น มีการเปลี่ยนแปลงรสนิยมในการบริโภค
จากเนื้อสัตว์ที่มีสีแดง (red meat) เช่น โค สุกร มาเป็นเนื้อสัตว์เล็ก (white meat) เช่น ไก่ เป็นต้น ซึ่งผู้บริโภคเชื่อว่า
มีความปลอดภัยมากกว่า
+ เนื้อไก่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับเนื้อหมู เนื้อวัว รวมทั้งมีแคลอรีต่ำ แนวโน้มการ
บริโภคในอนาคตจึงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่รักสุขภาพ
- มีเนื้อสัตว์ชนิดอื่นทดแทน เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกเช่น เนื้อหมู วัว ปลา และอาหารทะเล นอกจากนี้ยัง
มีแหล่งโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเหลือง โปรตีนสกัดจากพืช (โปรตีนเกษตร) เป็นต้น
- มีสินค้าทดแทนสินค้าไก่แปรรูปหลายชนิดที่จำหน่ายในลักษณะร้านอาหารจานด่วน (Fast Food) และ
บางส่วนจะอยู่ในรูปอาหารไทยสำเร็จรูปแบบ ready to eat และ ready to cook ตามร้านสะดวกซื้อ
- เมื่อราคาไก่ของประเทศไทยสูงขึ้นประเทศคู่ค้าของไทย อาจหันไปซื้อไก่ของประเทศคู่แข่งของไทยได้
เพราะสินค้าไม่มีความแตกต่าง

4. ด้านอำนาจต่อรองของ Suppliers (Bargaining Power of Suppliers)
- จำนวนผู้จำหน่าย ไก่ ปู่-ย่า พ่อ-แม่ พันธุ์ไก่เนื้อมีจำนวนน้อยราย ประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพิงการนำเข้า
ปัจจัยดังกล่าว จึงไม่สามารถกำหนดราคาได้เอง
- ประเทศไทยไม่สามารถผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมไก่เนื้อได้เองทั้งหมด จึงต้อง
นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ไทยจึงเสียเปรียบในด้านต้นทุนการผลิตประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น บราซิล
สหรัฐอเมริกา
- ผู้ประกอบการที่จำหน่าย ยา และเวชภัณฑ์สัตว์เพื่อป้องกันและรักษาโรคระบาด เป็นผู้กำหนดราคาสินค้า
ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวที่สำคัญในการกำหนดต้นทุนการเลี้ยงไก่เนื้อ ถ้าต้นทุนการผลิตดังกล่าวสูง จะส่งผลต่อการ
กำหนดราคาขายสินค้าไก่เนื้อทำให้มีราคาสูง ทำให้ปริมาณการขายลดลง
อุตสาหกรรมไก่

5. ด้านอำนาจต่อรองของผู้ซื้อ (Bargaining Power of Buyers)
- ตลาดส่งออกไก่แปรรูปของไทยมีเพียง 2 ตลาดหลัก คือ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในสัดส่วนที่สูง
ประเทศดังกล่าวมีแหล่งนำเข้าไก่แปรรูปได้จากหลายแหล่ง ทำให้ไทยมีอำนาจในการต่อรองราคาต่ำ
- ลูกค้ามีอำนาจในการกำหนดสูตรและลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปตามที่ต้องการ ทำให้การ
ผลิตและส่งออกไก่แปรรูปของไทยยังเน้นที่การผลิตตามคำสั่งของลูกค้าแต่ละราย ประกอบกับไม่มีตราสินค้าและไม่มี
ช่องทางจำหน่ายหลายตลาด จึงมีอำนาจในการต่อรองราคาต่ำ
- สินค้าเนื้อไก่สด ไม่มีเอกลักษณ์ที่แยกความแตกต่างได้ชัดเจน ดังนั้นผู้บริโภคจึงสามารถเลือกซื้อสินค้า
เนื้อไก่ได้จากหลายยี่ห้อ โดยเปรียบเทียบกับสินค้าที่มีราคาน้อยกว่าในการตัดสินใจซื้อเป็นสำคัญ
- ประเทศผู้นำเข้าสินค้าเนื้อไก่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการอนุญาตการนำเข้าสินค้าเนื้อไก่ เพราะบริษัทผู้
ส่งออกจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานผลิตไก่เพื่อส่งออก ภายหลังจากได้รับการตรวจสอบสถานที่ผลิตแล้ว
- ผู้บริโภคเป็นผู้มีอิทธิพลโดยตรงต่อการกำหนด กฎ ระเบียบ มาตรการ สุขอนามัยด้านอาหาร โดยเฉพาะ
ในช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก เช่น ผู้จำหน่ายเนื้อไก่ต้องเผยแพร่ข้อมูลแนะนำการบริโภคไก่อย่างปลอดภัย
รวมถึงระบุแหล่งผลิตไก่บนบรรจุภัณฑ์ให้ผู้บริโภคได้รับทราบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
- การส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ของไทย ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขที่ประเทศผู้ซื้อเป็นผู้กำหนด อาทิเช่น
ประกาศห้ามนำเข้าไก่และผลิตภัณฑ์จากประเทศที่ยังไม่ได้รับการรับรองว่าปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรค
ไข้หวัดนก ยกเว้นไก่แปรรูปปรุงสุกจากโรงงานที่ได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่จากประเทศผู้นำเข้า เช่น ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

หมายเหตุ : เครื่องหมาย + หมายถึง ปัจจัยที่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมไก่เนื้อของประเทศไทย
เครื่องหมาย - หมายถึง ปัจจัยที่เป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมไก่เนื้อของประเทศไทย

การวิเคราะห์อุตสาหกรรม (Industry Analysis)

สรุปการวิเคราะห์อุตสาหกรรมและการแข่งขัน

1.หลักการในการวิเคราะห์อุตสาหกรรมและการแข่งขันในภาพรวมการวิเคราะห์อุตสาหกรรมมีหลักการสรุปได้ดังนี้

กำหนดนิยามหรือขอบเขตของอุตสาหกรรม: การกำหนดขอบเขตของอุตสาหกรรมจะต้องระบุให้ได้ว่าสินค้า/บริการในอุตสาหกรรมนั้นๆคืออะไร และมีสิ่งใดบ้างที่อาจเป็นสินค้า/บริการของอุตสาหกรรมอื่นด้วย รวมถึงการกำหนดขอบเขตการแข่งขันเชิงภูมิศาสตร์ว่าอยู่ในระดับประเทศ ภูมิภาคเดียวกัน หลายภูมิภาค หรือทั้งโลก สิ่งที่ต้องระวังคือการกำหนดขอบเขตของอุตสาหกรรมที่แคบหรือกว้างเกินไป อันจะทำให้เกิดภาพที่บิดเบือนในการวิเคราะห์ตามมา ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง (Construction Industry) อาจจะหมายรวมถึง การก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ และโครงการสาธารณูปโภค (ถนน ทางรถไฟ พลังงาน ท่าเรือ ระบบประปา/น้ำเสีย) รวมกัน หรือเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอันที่จริงแล้วโครงสร้างของอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งสองแบบมีความแตกต่างกันอย่างมาก

การระบุและจำแนกกลุ่มผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม: ต้องระบุให้ได้ว่าในอุตสาหกรรมมีใครเกี่ยวข้องบ้าง (Industry Participants) และจำแนกออกเป็น 5 กลุ่ม คือ ผู้ซื้อ ผู้ผลิตวัตถุดิบ คู่แข่ง สินค้า/บริการทดแทน และคู่แข่งขันรายใหม่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่เป็นผู้นำอยู่ในปัจจุบัน) ซึ่งการวิเคราะห์ในหัวข้อนี้จะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องจากการกำหนดขอบเขตอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ จะมีผู้เกี่ยวข้องและอุตสาหกรรมมากกว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ทั่วๆไป กล่าวคือ “ผู้ผลิต” จะรวมถึงสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะในระบบสาธารณูปโภคแต่ละด้าน “ผู้ซื้อ” จะประกอบไปด้วยภาครัฐ บริษัทเอกชน และประชาชนทั่วไป “คู่แข่ง” ก็มักจะเป็น International Contractors ที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงมากกว่า Domestic Contractors เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจัยทั้ง 5 กลุ่มดังกล่าวเป็น Five Competitive Forces หลักในการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรม ที่จะต้องประเมินให้ได้ว่า “อะไรเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน Competitive Forces แต่ละตัว และ Competitive Forces แต่ละตัวมีระดับความเข้มแข็งหรืออ่อนแออย่างไร”

การวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรม: ในการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมใดๆ จะต้องหาให้ได้ว่า Life Cycle ของอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร (ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคจะต้องมองภาพในระยะยาวไม่ใช่โครงการเดียวจบ เพราะต้นทุนเริ่มต้นสูงมาก และมีรูปแบบการทำกำไรแตกต่างกัน) ระดับการทำกำไรของอุตสาหกรรมเป็นเท่าไร เพราะความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรมแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน นอกจากนั้น จะต้องวิเคราะห์ว่าอะไรคือปัจจัยที่ควบคุมความสามารถในการทำกำไร (ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างสาธารณูปโภคมักจะมี “สัมปทาน” เป็นตัวควบคุม) มีคู่แข่งที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันหรือไม่ (Multinational Contractors ที่มีเงินทุนและทรัพยากรมากจะมีความได้เปรียบในการประมูลงานก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง)

การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต: ในการวิเคราะห์ต้องให้ความสำคัญทั้งกับสภาวะปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของ Competitive Forces แต่ละตัวในอนาคต ทั้งที่เป็นเชิงลบและบวก ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคปัจจุบันรัฐบาลอาจเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยบริษัทเอกชนเป็นเพียงผู้เข้าไปรับจ้างก่อสร้าง แต่ในอนาคตรัฐบาลอาจเปลี่ยนนโยบายเป็น Public-Private Partnerships (PPPs) และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของเอกชนแบบ Build-Operate-Transfer (BOT) หรือ Build-Own-Operate-Transfer (BOOT) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทอย่างมากถ้าไม่มีการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า

ข้อพึงระวังในการวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่จะนำไปสู่ความผิดพลาดในการวิเคราะห์ ประกอบด้วย
(1) การกำหนดขอบเขตของอุตสาหกรรมกว้างหรือแคบเกินไป
(2) การวิเคราะห์เพียงผิวเผิน
(3) การให้ความสำคัญเท่าๆกันในทุกด้าน แต่ละเลยที่จะทำการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งในประเด็นที่มีความสำคัญมากเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคแบบ BOOT จะต้องให้ความสำคัญกับนโยบาย Tariff System ของรัฐบาลมากเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นผลตอนแทนการลงทุนในระยะยาวของบริษัท
(4) การละเลยที่จะวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
(5) การไม่เข้าใจใน Life Cycle ของอุตสาหกรรม

2.เทคนิคการวิเคราะห์การแข่งขันและการวางกลยุทธ์ของกิจการด้วย “Porter’s Five Forces”

“Porter’s Five Forces” เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์โครงสร้างและสภาพแวดล้อมทางอุตสาหกรรม โดยมีปัจจัยหลักที่วิเคราะห์ 5 ปัจจัย ได้แก่ (1) ความรุนแรงของสภาวะการแข่งขันระหว่างองค์กรธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน (2) ข้อจำกัดในการเข้าสู่อุตสาหกรรมของคู่แข่งขันใหม่ (3) การมีสินค้า/บริการที่ทดแทนกันได้ (4) อำนาจต่อรองของผู้ซื้อ และ (5) อำนาจต่อรองของผู้ขายวัตถุดิบ การวิเคราะห์โดยใช้ Five Forces จะช่วยให้เข้าใจสภาพการแข่งขันและการทำกำไรของอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม โดยทั่วไปหากพบว่ามีแรงกดดันสูงจาก Five Forces อย่างในกรณีของอุตสาหกรรมสายการบิน สิ่งทอ และโรงแรม กิจการมักมีกำไรหรือผลตอบแทนการลงทุนต่ำ ในทางกลับกัน หากแรงกดดันจาก Five Force อยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำอย่างในอุตสาหกรรม Software และผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลม กิจการมักมีกำไรค่อนข้างดี

การเข้าใจถึงอิทธิพลที่ Five Forces มีต่อการทำกำไรของอุตสาหกรรมจะช่วยในการพัฒนากลยุทธ์ของกิจการเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการทำกำไรของกิจการในระยะยาวยกตัวอย่างเช่น (1) การวาง Position ของกิจการให้อยู่ในตำแหน่งที่มีแรงกดดันจาก Five Forces ต่ำ (ตัวอย่างเช่น การเข้าไปในอุตสาหกรรมก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล (Desalination System) ที่ต้องใช้ทั้งเทคโนโลยีขั้นสูงและเงินลงทุนที่สูงมากทำให้มีคู่แข่งน้อยและลูกค้ามีอำนาจต่อรองต่ำ) (2) การอาศัยจังหวะเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอันเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนโยบายของรัฐบาล ในการวางตำแหน่งทางการแข่งขันใหม่ๆที่มีศักยภาพสูงกว่าเดิม (ตัวอย่างเช่น การใช้ประโยชน์จาก FTA และการเปลี่ยนแปลงนโยบาย FDI เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง) และ (3) การเข้าไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน Five Forces เพื่อให้ส่งผลดีต่อกิจการ ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่สั่งจาก Suppliers เจ้าต่างๆเพื่อลด Switching Cost และอำนาจต่อรองของ Supplier การเพิ่มการลงทุนใน R&D เพื่อทำให้สินค้ามีความแตกต่างและปกป้องตลาดจากคู่แข่งขันรายใหม่ หรือการป้องกันผลกระทบจากสินค้าทดแทนด้วยการกระจายสินค้าให้ผู้บริโภคซื้อหาได้ง่ายที่สุด เป็นต้น

3.ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ความสามารถในการแข่งขันของประเทศขึ้นอยู่กับผลิตภาพ (Productivity) อันเป็นผลจากความสามารถในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรบุคคล เงินทุน และทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศ ในการที่จะมีรายได้เข้าประเทศมากนั้นจะต้องมี Productivity สูงเป็นเงื่อนไขเริ่มต้น

ปัจจุบันสภาวะแวดล้อมของการแข่งขันระหว่างประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยสังเกตได้จาก(1) ข้อจำกัดทางการค้าและการลงทุนถูกทำให้ลดลงหรือขจัดไปจากการเกิดขึ้นของ Multilateral และ Bilateral Agreements ต่างๆ (2) การเกิด Globalization ของตลาดสินค้า/บริการและ Value Chains (3) การเปลี่ยนจาก Vertical Integration ของกระบวนการผลิตเป็นการพึ่งพา Suppliers, Partners และสถาบันต่างๆ (4) การแข่งขันต้องใช้ความรู้และทักษะความชำนาญเพิ่มสูงขึ้น และ (5) ประเทศและภูมิภาคต่างๆ แข่งขันกันเพื่อเป็นที่ตั้งของธุรกิจที่มี Productivity สูงที่สุด

The Diamond Modelในการวางกลยุทธ์การแข่งขันข้ามพรมแดนต้องคำนึงถึง (1) ปัจจัยด้านที่ตั้ง (Location) และ (2) ความได้เปรียบในการแข่งขันที่เป็นผลจากความร่วมมือข้ามพรมแดนหรือ Global Networks โดยมีเครื่องมือที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบของ Location ที่มีต่อความสามารถในการแข่งขันคือ Diamond Model ซึ่งแบ่งการวิเคราะห์ทั้งปัจจัยที่เป็นบวกและลบออกเป็น 4 ด้านหลัก ได้แก่ (1) ปัจจัยและเงื่อนไขที่เป็น Input ของการพัฒนาอุตสาหกรรม (Factor Conditions) ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน เงินทุน ระบบสาธารณูปโภค, (2) อุปสงค์ของสินค้า/บริการ (Demand Conditions), (3) อุตสาหกรรมที่สนับสนุนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และ (4) กลยุทธ์ของบริษัท โครงสร้างอุตสาหกรรม และคู่แข่ง และมีปัจจัยภายนอกเพิ่มเติมอีก 2 ปัจจัย คือ การเปลี่ยนแปลงในอนาคต และกฎระเบียบและนโยบายของรัฐที่เกี่ยวโยงกับองค์ประกอบหลักทั้งสี่ด้าน

26 July 2008

ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจสหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ

เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่แสดงการเจริญเติบโต ถดถอย หรือชี้ให้เห็นภาคการลงทุนภายในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเราจำเป็นต้องติดตามอัพเดตข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์หาผลกระทบกับประเทศไทย รวมถึงตลาดหุ้นไทย

• ดุลบัญชีเดินสะพัด โดย กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ
• ผลสำรวจภาคการผลิต โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ
• ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย โดยสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติสหรัฐฯ
• ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และ การขออนุญาตก่อสร้าง โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ
• ตัวเลขสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ
• จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐ
• จีดีพี (GDP) โดย กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ
• ดัชนีการผลิตทั่วประเทศ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ
• ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ โดย Conference Board
• ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจ โดย ธนาคารกลางสหรัฐฯ
• รายได้ส่วนบุคคล โดยกระทรวงพาณิชย์
• ดัชนีความเชื่อมั่นขั้นสุดท้าย โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน
• ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI และ CPI พื้นฐาน โดย ธนาคารกลางสหรัฐฯ
• ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิต โดยกระทรวงพาณิชย์

ปัจจัยชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย
อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และอัตราการใช้จ่ายผู้บริโภคลดลง รวมถึงตัวเลข จีดีพี สหรัฐลดลง และการจ้างงานของบริษัทต่างๆ ที่ลดลง เห็นได้ชัดว่าการลงทุนภายในประเทศสหรัฐฯลดลง สิ้นค้าแพงขึ้น คนว่างงานมากขึ้น การใช้จ่ายเงินของคนสหรัฐฯลดลง ส่งผลให้การนำเข้าลดลง

การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยแบบนี้ กระทบกับเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านการส่งออก และค่าเงินบาท การส่งออกลดลงเนื่องจากสหรัฐฯเป็นประเทศนำเข้าสินค้าจากเอเชียมากที่สุด ดังนั้นดุลการค้าลดลงเรื่อยๆ จนขาดดุลในที่สุด

ภาวะแบบนี้จะคลี่คลายได้ก็ต่อเมื่อมีนโยบายของสหรัฐฯใหม่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น Fed ทำการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุน ขยายการจ้างงานในภาครัฐ เป็นต้น

ปัจจัยชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ช่วงเจริญรุ่งเรือง
ทั้งนี้ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญๆ โดยนอกเหนือจากจีดีพี ยังรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงเล็กน้อย 1-2% และอัตราการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งมีสัดส่วนสูงขึ้น 40-70% ในจีดีพีสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1-2% ขณะที่ การจ้างงานของบริษัทต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น และอาจนับรวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้นทำให้ค่าเงินดอลล่าแข็งขึ้นอย่างมาก

ภาวะแบบนี้จะส่งผลดีกับประเทศไทยในภาคการส่งออก การเติบโตของสหรัฐฯทำให้ต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมากเช่น ผลผลิตทางการเกษตร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น แม้อาจจะพบสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากการที่นักลงทุนถอนเงินกลับไปลงทุนที่ประเทศของตนเองบ้างก็ตาม

เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มอิ่มตัว อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯจะสูงขึ้น ทาง Fed ก็จะทำการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดการลงทุน ลดภาวะเงินเงินเฟื้อ เป็นต้น

ราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมัน

ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน
เป็นเชื้อเพลิงที่มีความต้องการใช้สูงกว่าพลังงานชนิดอื่น ๆ จึงมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทั้งยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างไรก็ดี “น้ำมันดิบ” จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเมื่อผ่านกระบวนการผลิตที่แยกส่วนออกเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (Petroleum Products) หลายชนิดซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะแตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และน้ำมันเตา ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ราคาน้ำมันดิบแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไปตามคุณภาพของน้ำมันชนิดนั้น เช่น น้ำมันดิบชนิดหนัก/เบา (Heavy/Light Crude)


เมื่อผ่านกระบวนการกลั่นแล้วให้ชนิดน้ำมันสำเร็จรูปตรงตามความต้องการของตลาด อาทิ เบนซิน หรือดีเซลในปริมาณมากน้อยต่างกัน นอกจากนั้น น้ำมันดิบที่มีปริมาณกำมะถันสูง/ต่ำ (Sour/Sweet Crude)จะมีราคาซื้อขายที่แตกต่างกันการคาดการณ์หรือพยากรณ์ระดับราคาน้ำมันในอนาคตเป็นสิ่งที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะน้ำมัน เป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ทั่วโลก และสามารถทำให้คุณภาพเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ได้หลากหลายแตกต่างกับสินค้าอื่นๆ มาก เนื่องจากตลาดน้ำมันส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมระดับภูมิภาคที่เกิดจากหลายประเทศรวมกัน และเกิดจากการปฏิบัติของคนหลายกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์และสภาพแวดล้อมต่างกัน จึงมีปัจจัยหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์แนวโน้มของราคาน้ำมันนั้น สามารถวิเคราะห์ได้ทั้งในระดับภูมิภาค (Regional Area) และระดับโลก (Global)

ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน

1. ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Factor)
ปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ อุปสงค์และอุปทาน (Demand/Supply) เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ อุปสงค์และอุปทานของน้ำมันแต่ละชนิดจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะและเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อใดที่อุปสงค์/อุปทานไม่มีสมดุล (ไม่เท่าเทียมกัน) ก็จะกระทบต่อราคาได้ เช่นอุปสงค์มากกว่าอุปทาน (ความต้องการใช้มากกว่าปริมาณที่ผลิตได้) ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น สิ่งที่ทำให้อุปสงค์และอุปทานขาดสมดุล ได้แก่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันเมื่อใดที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในชีวิตประจำวันและความต้องการใช้เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจะขยายตัวสูงขึ้น ถ้าโลกไม่สามารถผลิตได้ทันความต้องการก็จะส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันสูงขึ้น ในทางกลับกันราคาน้ำมันอาจลดลง เมื่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำเพราะมีน้ำมันมากกว่าความต้องการของตลาด ทั้งนี้จักต้อง




พิจารณาอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในทุกภูมิภาค

สภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนฤดูกาลก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันและการผลิตน้ำมันขาดสมดุล (ไม่เท่าเทียมกัน) โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภค อาทิ ในบริเวณยุโรป และสหรัฐอเมริกาจะมีความต้องการใช้น้ำมันเปลี่ยนไปตามฤดูกาลอย่างเห็นได้ชัด

ดังจะเห็นได้จากในช่วงฤดูหนาว ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่น (Heating Oil) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา จะมีปริมาณมากกว่าน้ำมันประเภทอื่น ทั้งนี้ การสำรองน้ำมันประเภทนี้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี เพื่อเตรียมรับปริมาณการใช้ในฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงต้นปี ทำให้ราคาน้ำมันเริ่มทยอยสูงขึ้นในช่วงดังกล่าว และยิ่งไปกว่านั้นหากสภาพอุณหภูมิในฤดูหนาวนั้นมีความหนาวเย็นรุนแรงกว่าปกติก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความต้องการน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ผู้ใช้เกิดความกลัวว่าจะไม่มีน้ำมันเพียงพอจึงเข้ามาซื้อเก็บไว้มาก ก่อให้เกิดอุปสงค์มากกว่าอุปทานอันส่งผลต่อราคาด้วยเช่นกันในขณะที่ช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นฤดูแห่งการเดินทางท่องเที่ยวของประเทศในตะวันตก และเริ่มในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี คือตั้งแต่ราวกรกฎาคมนั้น ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินก็จะสูงกว่าน้ำมันประเภทอื่น

ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 กล่าวโดยสรุป สภาวะอากาศเป็นปัจจัยพื้นฐานอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อสมดุลของอุปสงค์/อุปทาน (Demand/Supply) ซึ่งมีผลโดยตรงต่อราคาน้ำมัน

กำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน หากมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการผลิตน้ำมันที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้ ย่อมส่งผลกระทบต่อระดับราคาน้ำมันอย่างแน่นอน ดังเช่นวิกฤตการณ์น้ำมันโลกที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองและสามารถผลิตน้ำมันได้ในระดับสูงจึงมีอำนาจในการเจรจาต่อรองราคา ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตน้ำมันที่ว่านี้หมายถึงองค์การประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าออกหรือกลุ่มโอเปก (Organization of Petroleum Exporting Countries) ซึ่งปัจจุบันมี 11 ประเทศได้แก่ แอลจีเรีย อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก คูเวต ลิเบีย ไนจีเรีย กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวเนซุเอลา โดยกลุ่มโอเปกสามารถควบคุมและบริหารปริมาณการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ หากประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกผลิตน้ำมันมากหรือน้อยเกินไปก็ย่อมจะส่งผลถึงราคาน้ำมัน

ยกตัวอย่าง สถานการณ์การประท้วงของพนักงานที่ปฏิบัติงานที่แท่นขุดเจาะน้ำมันที่ประเทศไนจีเรียลุกลามและยืดเยื้อทำให้ปริมาณการผลิตลดลงส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

นโยบายของประเทศกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน
การกำหนดนโยบายของผู้ผลิตน้ำมันต่าง ๆ มีผลกระทบต่อสมดุลของอุปสงค์และอุปทานของตลาดน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น มติของกลุ่มโอเปกซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่และครอบครองปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลกที่ประกาศออกมาแต่ละครั้งย่อมมีอิทธิพลที่จะทำให้ระดับราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลง จึงเห็นได้ว่าการประชุมกลุ่มโอเปกในแต่ละครั้งจะได้รับความสนใจและเป็นข่าวสำคัญที่ต้องติดตามอย่างขาดเสียมิได้

ปริมาณน้ำมันสำรองของประเทศผู้บริโภครายสำคัญของโลก ตามปกติแล้วประเทศต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้น้ำมันสูงจะเก็บสำรองน้ำมันไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง ประเทศผู้บริโภคน้ำมันสูงมักจะเก็บสำรองน้ำมันในระดับที่เพียงพอใช้เท่านั้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย
ถ้าปริมาณสำรองน้ำมันมีมากเพียงพอ ความกังวลว่าอุปทานน้ำมันจะตึงตัวก็ลดลง ราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ในขณะเดียวกันหากความต้องการใช้น้ำมันของโลกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประมาณการไว้มากก็จะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำรองลดต่ำลง ทำให้ ผู้ใช้น้ำมันเข้ามาหาซื้อในตลาดมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานตึงตัว ราคาน้ำมันก็จะปรับสูงขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ ปริมาณสำรองน้ำมันของผู้บริโภครายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในทวีปยุโรปจึงเป็นเรื่องที่วงการธุรกิจน้ำมันให้ความสำคัญไม่น้อย

พลังงานทดแทน หากมีการค้นพบและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำพลังงานชนิดอื่น ๆ เช่นก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน นิวเคลียร์ ฯลฯ มาใช้ทดแทนน้ำมันได้มากขึ้น ในราคาที่แข่งขันได้ และสะดวกในการใช้งานของผู้บริโภค ความต้องการใช้และระดับราคาน้ำมันย่อมลดลง แต่ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถค้นคว้าหรือพัฒนาพลังงานประเภทอื่น ๆ มาใช้ทดแทนน้ำมันได้ ราคาน้ำมันก็ยังจะคงมีความผันผวนขึ้นลงตามอุปสงค์/อุปทานที่ยังขาดความสมดุล อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์น้ำมันโลกที่เกิดขึ้นทุกครั้งกระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนหันไปพัฒนาพลังงานชนิดอื่นขึ้นมาใช้ทดแทนน้ำมัน เมื่อใดก็ตามหากมีการพัฒนาพลังงานทดแทนน้ำมันได้เพียงพอและก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์ /อุปทาน เมื่อนั้นราคาน้ำมันจึงจะมีเสถียรภาพ


2. ปัจจัยทางความรู้สึกของผู้ซื้อขายในตลาดน้ำมัน (Sentimental Factor)
จากการที่ธรรมชาติของตลาดน้ำมันมีลักษณะเฉพาะซึ่งมักจะอ่อนไหวต่อกระแสข่าวต่าง ๆมากกว่าตลาดอื่น ความรู้สึกของผู้ซื้อขายในตลาดน้ำมันมักจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตอบรับกระแสข่าวต่างๆ อย่างรวดเร็วอยู่เสมอ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกในภูมิภาคหนึ่งมักจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะในสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น ภาวะสงคราม
ที่สำคัญ หากข่าวคราวดังกล่าวเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้น้ำมันรายสำคัญของโลก
โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ประเทศในกลุ่มทะเลเหนือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ฯลฯ มักจะมีผลกระทบต่อตลาดน้ำมันมากกว่าและรุนแรงกว่าข่าวคราวจากภูมิภาคอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ การติดตามสถานการณ์ข่าวความไม่สงบ การประท้วง การทำรัฐประหาร การลอบสังหารผู้นำทางการเมืองของประเทศสมาชิกโอเปก หรือมติขององค์การระหว่างประเทศที่มีผลต่อสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งเพราะล้วนมีผลต่อการขึ้นลงของราคาอันเนื่องจากความวิตกกังวล แม้ความจริงแล้วปริมาณการผลิตและส่งออกยังคงเป็นไปตามปกติ ไม่ได้ลดน้อยลงไปจากเดิมแต่อย่างใด


3. ปัจจัยทางเทคนิค (Technical Factor)
การซื้อขายในตลาดน้ำมันนั้น นอกจากผู้ค้าจะต้องติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐานของตลาดน้ำมันแล้ว ยังจำเป็นต้องอาศัยข้อมูล สถิติ รายงานค่าเฉลี่ยย้อนหลังของราคาน้ำมันมาประกอบการพิจารณาระดับราคาน้ำมันในปัจจุบัน ทั้งนี้ ข้อมูลทางสถิติดังกล่าวจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อขายน้ำมันและจะมีผลทางอ้อมต่อระดับราคาด้วย โดยเฉพาะในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า(Future Market) ซึ่งจะมีปริมาณการซื้อขายเกินกว่าปริมาณน้ำมันที่มีอยู่จริงในตลาด และส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายเพื่อเก็งกำไร สำหรับตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าใหญ่ๆ ปัจจุบันมีอยู่ 5 แห่งด้วยกันคือ NewYork Merchantile Exchange (NYMEX) ณ กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา, International PetroleumExchange (IPE) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, Singapore Monetary Exchange (SGX) ประเทศสิงคโปร์, Tokyo Commodity Exchange (TOCOM) ประเทศญี่ปุ่น และ Shanghai Futures Exchangeประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน


4. ปัจจัยอื่น ๆ (Miscellaneous Factor)
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
น้ำมันที่มีการซื้อขายกันระหว่างประเทศ มักจะกำหนดราคาเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ย่อมมีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน เพราะเมื่อใดที่เงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนตัวลง จะทำให้ราคาน้ำมันดิบที่นำเข้าประเทศและราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันต่างๆ ถูกลงเมื่อคิดเป็นเงินตราท้องถิ่น

แต่ถ้าคำนวณในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ ราคาน้ำมันจะสูงขึ้น เมื่อเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งขึ้นราคาน้ำมันก็จะลดลง นอกจากนี้ การที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ย่อมทำให้การเปรียบเทียบราคาน้ำมันในตลาดต่าง ๆเป็นไปด้วยความลำบากอย่างยิ่ง


สรุป
จะเห็นได้ว่าไม่มีใครสามารถกำหนดราคาน้ำมันล่วงหน้าได้ ทว่า......สามารถคาดการณ์แนวโน้มและทิศทางราคาน้ำมันได้ โดยพิจารณา วิเคราะห์จากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันย่อมผันแปรไปตามปัจจัยรายล้อมที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ด้วยเหตุนี้ ความเข้าใจในกลไกของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน จึงนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้สามารถวางแผนการใช้พลังงานได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์แนวโน้มของราคาน้ำมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องหลายประการ ระดับราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่กำหนดไว้ ณ วันที่ทำการวิเคราะห์ ดังนั้น การคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญแต่ละแห่งอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เชี่ยวชาญนั้น ๆ ว่าจะกำหนดสมมติฐานในการประมาณการไว้อย่างไร


ราคาน้ำมัน VS ราคาหุ้น

เรื่องหุ้นนิดนึงดีกว่า ว่าเหมือนหรือเกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันอย่างไรบ้าง น้ำมันนั้นถือเป็นต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมของเกือบทุกบริษัท มากน้อยตามโครงสร้างค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัท เช่น บริษัทขนส่งอย่างการบินไทย แน่นอนน้ำมันถือเป็นต้นทุนสำคัญที่สุดตัวหนึ่ง (สมมุติว่าประมาณสัก 20% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด) หรืออย่างบริษัทรับเหมาก่อสร้างก็เช่นเดียวกัน การก่อสร้างนั้นต้องมีการขนส่งเครื่องไม้เครื่องมือและการขนส่งต่างๆเยอะ น้ำมันก็ย่อมเป็นต้นทุนที่สำคัญอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน แล้วเราก็ลองสมมุติต่อว่า น้ำมันขึ้น 50% (เช่น ดีเซล ขึ้นจาก 12 บาทมาที่ 18 บาทต่อลิตร) นั้นหมายถึงต้นทุนน้ำมันของการบินไทยจะกลายเป็นสัดส่วนถึง 30% (20% x 1.50 = 30%) หรือหมายถึง กำไรสุทธิที่ลดลงถึง 10% (เอาแบบตัวเลขง่ายๆนะ) แต่ แต่อย่าพึงตกใจครับ การบินไทยก็อาจไปทำ fixed ราคาน้ำมันไว้ก่อนเพื่อให้ผลกระทบน้อยลง หรือไม่ก็เพิ่มค่าตั๋ว (เช่น surcharge ค่าน้ำมัน) มาเก็บกับผู้โดยสารเพื่อผลักภาระนี้ไป ทำให้ลดความรุนแรงของผลกระทบจากราคาน้ำมันได้บ้าง ส่วนของบริษัทก่อสร้างใหญ่ๆที่รัฐประมูลโครงการจากรัฐบาลนั้น แบบย่อๆคือว่า ถ้าต้นทุนสูงเกินกว่ากำหนดกันไว้ในสัญญา x.x% รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบแทนครับ ส่วนก่อสร้างรายเล็กๆก็ .... ตายกันเองครับ บริหารกันเอาเอง

นอกจากนี้ น้ำมันยังเป็นต้นทุนสำคัญทางอ้อมส่วนหนึ่งของบริษัทต่างๆอีกด้วย ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การผลิตกระแสไฟฟ้านั้นยังใช้เชื้อเพลิงที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (น้ำมันเตา) หรืออ้างอิงราคาจากราคาน้ำมัน เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ แปลว่าน้ำมันขึ้น ไฟฟ้าก็ขึ้นครับ ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ทุกคนใช้กันอยู่แล้ว ต้นทุนการผลิตของบริษัทและโรงงานต่างๆจึงสูงขึ้นตาม นอกจากนี้ เมื่อต้นทุนการดำเนินชีวิตจากการเติมน้ำมันหรือใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายที่น้อยลงของผู้บริโภค แล้วก็ส่งต่อมาถึงยอดขายและกำไรของบริษัทต่างๆในตลาดหลักทรัพย์ เห็นไหมว่าสุดท้ายแล้วมันเกี่ยวข้องกันหมดแหละ

แล้วราคาหุ้นในตลาดละ แน่นอนว่าการที่น้ำมันขึ้นมากๆก็ทำให้คนกลัวถึงผลประกอบการของบริษัทต่างๆในตลาด (จากต้นทุนที่สูงขึ้นและกำลังซื้อที่ลดลง) ทำให้นักเก็งกำไรกลัวและใช้เป็นข้ออ้างในการขายหุ้น โดยเฉพาะช่วงก่อน เมื่อหุ้นตก คนก็มักอ้างว่าเป็นเพราะน้ำมันขึ้น เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งให้คนที่ลงทุนในหุ้นหันมาสนใจราคาน้ำมันกัน เออ แล้วคิดต่อสิ ว่าถ้าราคาน้ำมันลงละ..... สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือหุ้นก็ตกอยู่ดีครับ เพราะว่าคนกลัวว่าน้ำมันลงทำให้หุ้นใหญ่ๆที่มีผลต่อการคำนวณ SET INDEX มากๆอย่าง ปตท. ปตทสผ. หรือ ไทยออยล์ จะลงทำให้ภาพรวมของ SET INDEX ลงครับ คนก็เลยยังขายกันต่อ ................. สรุปว่าน้ำมันขึ้นหุ้นลง น้ำมันลงหุ้นก็ลง ฮ่า ฮ่า คุ้นๆเหมือนเรื่องราคาน้ำมันในต่างประเทศไหม?

นโยบายการเมือง คลัง พาณิชย์ ธปท. และกนง.

การเมืองกับหุ้น

เรื่องการเมืองหรือนักการเมืองกับหุ้นหรือตลาดหุ้นนั้น คนจำนวนมากเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันสูงมาก มองในภาพใหญ่ คนมักจะเชื่อว่า รัฐบาลหรือนักการเมืองสามารถที่จะทำให้หุ้นดีหรือไม่ดีได้ รัฐบาลหนึ่งมาจะทำให้เศรษฐกิจดีดังนั้นหุ้นจะต้องดี รัฐบาลอีกชุดหนึ่งมา ฝีมือในการบริหารแย่ เศรษฐกิจแย่ หุ้นจะตกต่ำ พูดง่าย ๆ คนเชื่อว่ารัฐบาลมีส่วนอย่างมหาศาลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและดังนั้นต่อดัชนีหุ้น

นั่นคือความเชื่อของคนจำนวนมากซึ่งผมไม่ใคร่จะเชื่อ ผมรู้แต่เพียงว่า:
1) ถ้าเศรษฐกิจในปีนี้ดี หุ้นดี นักการเมืองจะรีบออกมาคุยว่าทั้งหมดนี้คือฝีมือและผลงานของรัฐบาลและเห็นไหมว่าดัชนีหุ้นขึ้นไปเท่าไร? โดยที่อาจจะไม่ได้พูดด้วยว่าที่จริงต่างประเทศเขาก็ดีไม่แพ้กัน แต่ถ้าดีเฉพาะประเทศไทย การคุยก็จะดังขึ้นเป็นสองเท่า
2) ถ้าเศรษฐกิจแย่ นักการเมืองจะดูว่าต่างประเทศในย่านเดียวกันหรือประเทศที่เกี่ยวข้องเช่นอเมริกาหรือยุโรปแย่ด้วยไหม ถ้าใช่ เขาก็จะบอกว่าเรื่องเศรษฐกิจแย่นั้น “เป็นไปตามภาวะ” และของเรายังดีกว่าคนอื่นเพราะรัฐบาลไม่ได้อยู่เฉย ๆ
3) ถ้าเศรษฐกิจแย่ในขณะที่เพื่อนบ้านต่างประเทศดูเหมือนจะดีกว่า นักการเมืองก็จะไม่พูดถึงเรื่องของประเทศอื่น แต่จะบอกว่า มันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดแบบนั้น แต่รัฐบาลเห็นปัญหาและกำลังแก้ไข ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไร เศรษฐกิจจะแย่กว่านี้มาก และรับรองว่าด้วยฝีมือของรัฐบาล เศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เพื่อที่จะบอกว่า ความเก่งไม่เก่งของนักการเมืองที่บริหารเศรษฐกิจนั้น ส่วนใหญ่แล้วน่าจะเป็นเรื่องของภาพพจน์ แต่เรื่องจริงว่าใครเก่งหรือไม่เก่งนั้นเป็นเรื่องที่ดูยากมาก ว่าที่จริง คนบริหารเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นนักการเมืองนั้น อาจจะไม่มีผลอะไรเลยก็ได้ เพราะเศรษฐกิจของประเทศนั้นประกอบไปด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนทั้งประเทศ รัฐบาลเองเป็นเพียงอีกคนหนึ่งที่ใช้จ่ายเงิน ซึ่งคิดเป็นเพียงไม่เกิน 20% ของการใช้จ่ายทั้งหมด และการใช้จ่ายของรัฐบาลนั้นจริง ๆ จะมากหรือน้อยส่วนใหญ่ก็มาจากภาษีซึ่งก็เกิดจากกิจกรรมของชาวบ้าน ดังนั้น เอาเข้าจริง ๆ แล้วรัฐบาลมีอิทธิพลต่อภาวะเศรษฐกิจไม่มาก การกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะทำได้บ้างโดยการกู้เงินมาใช้จ่ายเพิ่ม แต่นี่คงไม่ทำให้ภาพรวมใหญ่ ๆ ของเศรษฐกิจในแต่ละปีเปลี่ยนแปลงไปมากนัก ข้อสรุปของผมก็คือ เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ตลาดหุ้นจะดีหรือไม่ดี ไม่ค่อยเกี่ยวกับนักการเมือง หรือรัฐบาล

รัฐบาลที่จะทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นดีในระยะยาวไม่ควรจะเป็น “ฮีโร่” ทางเศรษฐกิจในสายตาชาวบ้านทั่วไป แต่ควรเป็นผู้กำหนดกติกาที่ดีและให้ทุกคนปฎิบัติตามกติกาอย่างเคร่งครัด ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ รัฐบาลที่ผมชอบควรจะเป็นกรรมการตัดสินที่ดี แทนที่จะพยายามลงสนามในฐานะผู้เล่นกองหน้าของทีมฟุตบอล


นโยบายการคลัง

นโยบายการคลังเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการเก็บภาษีอากร การตัดสินใจในการใช้จ่ายของรัฐบาลและการตัดสินใจเกี่ยวกับหนี้สาธารณะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินด้วย การตัดสินใจของรัฐ เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระดับอุปสงค์รวม เช่น ระดับราคาสินค้า อัตราดอกเบี้ย ระดับรายได้ประชาชาติ ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ประชาชาติ ดุลการชำระเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน

บทบาทของนโยบายการคลัง

1. บทบาททางด้านการจัดสรร จะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจจัดสรรทรัพยากรของรัฐบาล เพื่อใช้ผลิตสินค้าสาธารณะ ( Public Goods ) และ สินค้าเอกชน ( PrivateGoods ) เนื่องจากประเทศมีทรัพยากรในการผลิตและบริการที่จำกัด เพราะฉะนั้นรัฐจึงต้องจัดสรรทรัพยากรเพื่อการผลิตสินค้าเหล่านี้อย่างเหมาะสม นโยบายการคลังยังมีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบภายนอก ซึ่งก็คือ ผลประโยชน์ที่ตกแก่สังคมนั่นเอง
2.บทบาททางด้านการกระจาย การตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องของการจัดเก็บภาษี และนำมาใช้จ่ายเป็นเงินโอน (Transfer Payment )เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้พิการ เด็ก และคนสูงอายุ ให้มีระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงเท่ากับเป็นการโอนอำนาจซื้อจากประชาชนผู้มีความสามารถเสียภาษีไปให้แก่ประชาชนผู้ยากจนต่างๆ ซึ่งช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ของบุคคลต่างๆในสังคมให้มีความเท่าเทียมกัน
3. บทบาททางด้านการรักษาเสถียรภาพ การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจควรเป็นนโยบายที่ผู้วางนโยบายได้กำหนดไว้อย่างเหมาะสมในการกระตุ้นอุปสงค์รวมในเวลาที่อุปสงค์รวมของประเทศมีต่ำเกินไป หรือลดอุปสงค์รวมของประเทศในยามที่อุปสงค์รวมมีมากเกินไป

1.1 นโยบายการคลังกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ
ภาวะเศรษฐกิจตำต่ำบางครั้งเรียกว่าการเกิดภาวะเงินฝืด คือภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการลดลง อุปสงค์รวมต่อสินค้าและบริการมีน้อยกว่าอุปทานรวม
การแก้ไขภาวะเงินฝืดหรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมักกระทำโดยการเพิ่มอุปสงค์รวมหรือการทำให้มีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นได้แก่
- การใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค
- การใช้จ่ายลงทุน (Invesment)
- การใช้จ่ายของรัฐบาล (Government expenditure)
1) การเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล ควรเป็นการใช้จ่ายในโครงการใดโครงการหนึ่งที่
สามารถเริ่มดำเนินการได้เร็ว และสิ้นสุดได้เร็ว เพื่อช่วยให้คนมีงานทำได้เร็ว
2) การลดอัตราภาษีอากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดอัตราภาษีทางอ้อมที่มีผลสามารถกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคมากขึ้น

1.2 นโยบายการคลังกับปัญหาเงินเฟ้อ
กรณีเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงดันของต้นทุน (Cost push inflation)
หมายถึงการที่ระดับราคา (Price level) สูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รัฐบาลอาจแก้ไขโดยการลดอัตราภาษีสำหรับวัตถุดิบ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการหรืออาจลดอัตราภาษีแก่สินค้าสำเร็จรูปก็ได้

กรณีการเกิดภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงดึงของอุปสงค์ (Demand pull inflation)
มาตรการทางการคลังที่จะช่วยแก้ไขหรือบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ โดยจะมีผลต่อการลดการใช้จ่ายหรือโดยการลดอุปสงค์รวมได้แก่
1) ลดการใช้จ่ายของภาครัฐบาล (Government expenditure) โดยการลดการใช้จ่ายด้านการลงทุนต่าง ๆ ของรัฐบาลลง
2) การเพิ่มภาษีอากร (Taxation) โดยอาจเพิ่มทั้งภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม ในทางปฏิบัติการเพิ่มภาษี การเพิ่มอัตราภาษีมีผลทำให้ราคาสูงขึ้น โดยทั่วไปผู้บริโภคก็จะลดการบริโภคลง

1.3) นโยบายการคลังกับปัญหาการว่างงาน (Unemployment)
การว่างงานมีหลายลักษณะ เช่น การว่างที่เกิดจากภาวะเงินฝืด ,ตามฤดูกาล ,จากการใช้เครื่องจักรแทนคน ,จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการว่างงานแอบแฝง
แต่สาเหตุหลักจริงๆการว่าจ้างแรงงานถูกกำหนด โดยอุปสงค์รวม (Aggregate demand) และอุปทานรวม (Aggregate supply) ในการแก้ไขปัญหาการว่างงานจึงต้องพยายามเพิ่มอุปสงค์รวม โดยพยายามเพิ่มการใช้จ่ายอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายในการลงทุน และการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งอาจจะกระทำได้โดยผ่านทางนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ดังนี้
1) เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลให้กับโครงการในลักษณะ ดังนี้
- การจ่ายเงินประกันการว่างงาน
- การจ่ายเงินสงเคราะห์
- การเพิ่มการลงทุนของรัฐ เช่น การสร้างถนน
2) การลดภาษีอากร โดยพิจารณาได้ ดังนี้
- การลดภาษีการค้าหรือภาษีการขาย เพื่อกระตุ้นการบริโภค
- การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อจูงใจให้นักธุรกิจลงเพิ่มมากขึ้น
- การลดภาษีสินค้าบุคคลธรรมดา เช่น บุคคลที่มีรายได้ต่ำเพื่อกระตุ้นการบริโภค

1.4 นโยบายการคลังกับปัญหาดุลการชำระเงิน
การดำเนินนโยบายการคลังในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า
1) ด้านสินค้าออก โดยสนับสนุนการส่งออกเพิ่มขึ้น ดังนี้
- ลดต้นทุนสินค้าส่งออก โดย การคืนอากรวัตถุดิบ และการชดเชยภาษีอากร
- ราคาสินค้าส่งออก โดย การลด/หรือยกเว้นอากรขาออกสำหรับสินค้าส่งออกเป็นการสนับสนุนให้สามารถขายสินค้าได้ถูกลง
2) ด้านสินค้าเข้า ลดการนำเข้าโดยดำเนินมาตรการด้านภาษีอากรในลักษณะต่างๆ ดังนี้
- เพิ่มต้นทุนการนำเข้า โดยการเพิ่มอัตราภาษีขาเข้าวัตถุดิบและสินค้าชั้นกลางเพื่อลดประมาณการนำเข้าสินค้า และเพื่อเป็นการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผลิตวัตถุดิบและสินค้าชั้นกลาง
- ราคาสินค้านำเข้า เพิ่มอัตราภาษีขาเข้าให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพงควรจัดเก็บในอัตราสูง เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงภาระภาษีและลดการนำเข้า

1.5 นโยบายการคลังกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ประเทศที่กำลังพัฒนาโดยส่วนใหญ่จึงมีการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลเสมอ เนื่องจากรายได้ของประชาชนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นเรื่องที่เกินกว่ากำลังความสามารถของภาคเอกชนที่จะสามารถอาศัยกลไกของตลาดในการแก้ปัญหาและเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเข้ามามีส่วนในการร่วมวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและพยายามเร่งอัตราการลงทุนให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ โดยอาจกำหนดเป็นนโยบายและมาตรการทางการคลังดังนี้ เช่น
1. เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐในโครงการที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยการจัดลำดับโครงการที่มีผลต่อการพัฒนา
เศรษฐกิจให้มากที่สุด
2. การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิตและเพื่อจูงใจให้มีการพัฒนาเฉพาะด้านเช่น การยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ภาษีเงินปันผล การเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยในอัตราสูง เป็นต้น


นโยบายกระทรวงพาณิชย์

กระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce) เป็นกระทรวงหนึ่งของประเทศไทยที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา

บทบาทหน้าที่หลัก
1. ภารกิจด้านในประเทศ มีหน้าที่ดูแลราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร ดูแลผู้บริโภคภายใต้กรอบกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้งการค้าสินค้าและธุรกิจบริการ รวมทั้งธุรกิจประกันภัย และคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา
2. ภารกิจด้านต่างประเทศ มีหน้าที่เจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยการเจรจาภายใต้กรอบ WTO FTA อนุภูมิภาค ภูมิภาค ฯลฯ จัดระเบียบและบริหารการนำเข้าส่งออก รวมทั้งการขายข้าวรัฐต่อรัฐ การค้ามันสำปะหลัง สินค้าข้อตกลงต่างๆ แก้ไขปัญหา และรักษาผลประโยชน์ทางการค้า เช่น การดูแลเรื่อง GSP การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ส่งเสริมและเร่งรัดการส่งออก



ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

หน้าที่ของ ธปท. คือนำเครื่องนโยบายการเงินมาใช้ในการแก้ไขปัญหา เพื่อควบคุมปริมาณเงินในระบบให้สมดุล และส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะยาว

นโยบายการเงิน

หามาตรการหรือเครื่องมือทางการเงินมาจัดการปริมาณเงิน(MS)ของประเทศให้เหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจประเทศ ธนาคารกลางและธปท.จะกำหนดมาตรการและเครื่องมือการเงินต่างๆเพื่อควบคุมปริมาณเงินให้สมดุลให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินและสอดคล้องกับเป้าหมายเศรษฐกิจประเทศ
เป้านโยบายเศรษฐกิจมีหลายประการ

ในการดำเนินนโยบายการเงินจะตั้งเป้านโยบายการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายเศรษฐกิจเพียงประเด็นเดียว คือ “การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ”(การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก)

การดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพภายในประเทศ
1. การรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมด้วยการตั้งเป้าเงินเฟ้อ (Inflation Target)
2. เปิดเผยข้อมูลทางการเงินและพยากรณ์ GDP ตามสภาวะเศรษฐกิจ

เครื่องมือนโยบายการเงินเพื่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอก
1. รักษาระดับทุนสำรองระหว่างประเทศให้เหมาะสม
2. รักษาดุลการชำระเงินให้สมดุล
3. รักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ



คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งรับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ ธปท. อย่างใกล้ชิดในการติดตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ การกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของ กนง. จะพิจารณาจากข้อมูลต่างๆที่ ธปท. นำเสนอให้ทราบ จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวไปกลั่นกรองพิจารณาในที่ประชุม เพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายการเงินต่อไป

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน

อำนาจหน้าที่ของ กนง. ระบุไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย ดังนี้

1. กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศ โดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
2. กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
3. กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายตาม (1) และ (2)
4. ติดตามการดำเนินมาตรการของ ธปท. ตาม (3) ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ พ.ร.บ. ธปท. ฉบับใหม่กำหนดให้ กนง. จัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินของปีถัดไปภายในเดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อเป็นแนวทางให้แก่รัฐและ ธปท. ในการดำเนินการ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคา โดยทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและให้รัฐมนตรีเสนอเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ได้ทำความตกลงร่วมนั้นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ และ กนง. มีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกหกเดือน

สรุปนโยบายการเงิน
นโยบายการเงินมีวัตถุประสงค์หลักนอกจากรักษาเสถียรภาพของราคาแล้ว ก็ยังต้องคำนึงถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วย เศรษฐกิจขยายตัวได้จะต้องอาศัยแรงจูงใจ จากกำไรที่ได้จากราคาของสินค้าที่สูงขึ้น ฉะนั้น ศิลปะของนายธนาคารกลางจึงต้องดูว่า จะสร้างสมดุลระหว่างการขยายตัวของเศรษฐกิจกับความมั่นคงของระดับราคาได้อย่างไรจึงจะมีความพอดี และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว
ในทางปฏิบัตินี้ หากธนาคารกลางต้องการทำนโยบายการเงินแบบกระตุ้นเศรษฐกิจ (ลดดอกเบี้ย) ไม่สู้ยากนัก เพราะทุกคนจะตอบรับเศรษฐกิจขยายตัว ต้นทุนกู้ยืมลดลง ตลาดหุ้นขานรับ การบริโภคขยายตัว ถ้าหากต้องการคะแนน Popular Vote ธนาคารกลางก็ต้องลดดอกเบี้ยมากๆ ผมเอง ในฐานะผู้กู้เงินก็อยากให้ดอกเบี้ยถูกๆ
แต่ความยากอยู่ตรงที่ในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวมากจนอาจก่อให้เกิด หรือนำมาซึ่งความไม่สมดุล (ความต้องการมากกว่าความสามารถในการผลิต) ผมขีดเส้นใต้คำว่า "อาจ" เพราะนโยบายการเงิน จะรอให้เศรษฐกิจขาดความสมดุลก่อนแล้วดำเนินนโยบายตามก็ช้าเกินไป นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า โรคกลัวเงินเฟ้อ คือ อาการที่ทุกคนคิดว่าของจะแพง เมื่อทุกคนคิดเหมือนกัน ก็หันไปซื้อของเก็บไว้ ผลก็คือ ทำให้ของราคาแพงขึ้นและเกิดเงินเฟ้อตามมาจริงๆ
การดำเนินนโยบายการเงินจึงต้องป้องกัน ต้องทันกาลและมิให้ประชาชนคาดการณ์เช่นนั้นด้วย จึงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความเข้าใจ และทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่า ในยามที่เขามีรายได้ มีโบนัสมาก หุ้นขึ้นทุกวัน ราคาที่ดินปรับขึ้นทุกปีนั้น การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดโดยการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติเป็นเรื่องที่ถูกต้อง มันยากจริงๆ ครับ
นี่กระมัง เป็นเหตุว่าทำในประเทศสากลอื่นทั่วโลก จึงต้องมีกฎหมายให้ความอิสระแก่ธนาคารกลาง ในการใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน (Operational Independence) ทั้งนี้ อิสระในการดำเนินนโยบายดังกล่าว ต้องควบคู่กับความรับผิดชอบ ที่จะต้องดูแลให้เงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมาย ที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และรายได้ของประชาชนในระยะยาวด้วย

22 July 2008

ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ

บัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ (balance of payments accounts) เป็นบัญชีที่บันทึกข้อมูลสถิติเกี่ยวกับธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ( economics transactions) ระหว่างบุคคลในประเทศใดประเทศหนึ่งกับบุคคลในประเทศอื่น ธุรกรรมเหล่านี้อาจเป็นการซื้อขายสินค้าและบริการหรือการลงทุน หรือการกู้ยืม และส่วนใหญ่มักก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างๆ และการหมุนเวียนของเงินตราข้ามพรมแดนของประเทศต่างๆ โดยทั่วไปการบันทึกข้อมูลเพื่อจัดทำบัญชีเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางซึ่งจะรายงานข้อมูลสำหรับช่วงเวลาต่างๆ เช่น รายเดือน รายไตรมาส และรายปี

โดยปกติบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศแสดงรายละเอียดซึ่งสะท้อนถึงฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จึงถูกทำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของภาครัฐและภาคเอกชน

ภาครัฐ ในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายสำคัญๆ เช่น นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายการค้าระหว่างประเทศ นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

ภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์อาจใช้ข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมโดยรวมของประเทศในการวางแผนกระจายความเสี่ยงอันเกิดจากการกู้ในรูปของเงินตราต่างประเทศ ส่วนบริษัทส่งออกโดยเฉพาะบริษัทพืชผลการเกษตรอาจใช้ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศในการพิจารณาขยายตลาดต่างประเทศ

ส่วนประกอบของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ
1. บัญชีเดินสะพัด (Current Account)
2. บัญชีทุนเคลื่อนย้าย (Capital and Financial Account)
3. รายการสถิติคลาดเคลื่อน (Errors and Omissions)
4. บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve Account)


1. บัญชีเดินสะพัด (Current Account)
1.1 บัญชีดุลการค้า (Trade Account) คือ การบันทึกรายการสินค้านำเข้าและส่งออกของประเทศ
1.2 บัญชีดุลบริการ (Service Account) คือการบันทึกรายการรับและให้บริการทางด้านการขนส่ง ท่องเที่ยว การบริการของรัฐ และการบริการอื่น ๆ 1.3 บัญชีรายได้ (Income Account) รายได้รับจากแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ , รายได้จากการลงทุน ส่วนรายจ่ายนั้นจะเกี่ยวกับส่วนของทุนและหนี้สิน เช่น การจ่ายเงินปันผล
1.4 บัญชีเงินโอน (Current Transfer) คือ การบันทึกรายการให้เปล่าที่เป็นตัวเงินและสิ่งของเช่น การส่งเงินกลับมาให้ญาติ , การส่งเงินไปให้บุตรหลานที่เรียนในต่างประเทศ

2. บัญชีทุนเคลื่อนย้าย (Capital and Financial Account)
2.1 เงินลงทุนโดยตรง (Direct Investment) คือ รายการที่มีการเคลื่อนย้ายลงทุนไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อหวังผลระยะยาว เช่น การสร้างโรงงาน
2.2 เงินลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment) ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
2.3 เงินทุนประเภทอื่น ๆ (Other Investment) คือ รายการสินเชื่อทางการค้า เงินกู้ยืม และบัญชีเงินฝากระหว่างประเทศ

3. รายการสถิติคลาดเคลื่อน (Errors and Omission)
เกิดจากความผิดพลาดในการรวบรวมข้อมูล หรือ การเก็บข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเนื่องจากอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ เช่น การลักลอบสินค้าหนีภาษี การค้ายาเสพติด การฟอกเงิน การจัดเก็บตัวเลขที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายในประเทศไทย

4. บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve Account)
คือ ยอดที่แสดงการเปลี่ยนแปลงในปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศ ในรอบระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการปรับความแตกต่างระหว่างยอดรวมทางด้านรายรับและรายจ่ายเงินตราต่างประเทศ ของทั้งบัญชีเดินสะพัดและบัญชีทุนเคลื่อนย้ายของประเทศนั้น ๆ
ทุนสำรองของประเทศจะประกอบด้วย ทองคำ หลักทรัพย์รัฐบาล, เงินตราสกุลหลัก, สิทธิไถ่ถอนพิเศษ และ เงินสำรองที่มีอยู่ที่ IMF

แน่นอนว่า เราจะค้า เราจะขาย เราจะซื้อ เราจะไปเที่ยว เราจะไปทำงานต่างประเทศ หรือชาวต่างชาติมาทำงานบ้านเรา ฯลฯ จะอยู่ในบัญชีเดินสะพัดทั้งหมด

ดังนั้น บัญชัเดินสะพัด จึงเป็นรายการที่มีสำคัญมากในดุลการชำระเงิน


เมื่อเรารู้ว่าสำคัญที่สุด งั้นมาดูกันแบบละเอียดๆเลย
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน่ากลัวหรือไม่อย่างไร ผมมีความเห็นว่า ประเทศไทยสามารถขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้โดยต่อเนื่องประมาณ 2% ของจีดีพี โดยไม่เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้จะต้องขาดดุลอย่างมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ
หมายความว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งก็คือ การลงทุนมากกว่าเงินออมที่มีอยู่ในประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเริ่มกู้เงิน และเป็นหนี้ต่างประเทศมากขึ้น การเป็นหนี้ในระดับที่เหมาะสมนั้น ไม่เสียหายอะไร ยกตัวอย่างหลายๆ ครอบครัวที่กู้เงินมาซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยหรือผ่อนรถยนต์ ซึ่งทำให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้นและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกด้วย

บัญชีเดินสะพัด กับอัตราดอกเบี้ย
ประเด็นหลัก คือ การกู้ยืมที่ระมัดระวังและนำเงินกู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างรายได้ที่เพียงพอกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและใช้คืนทั้งยอดหนี้และดอกเบี้ย ตัวอย่างเช่น หากประเทศไทยมีโครงการต่างๆ ที่น่าลงทุน เพราะให้ผลตอบแทนจริง 15% ต่อปี ก็สมควรจะกู้เงินมาลงทุน เพราะปัจจุบันเงินกู้นั้นต้องจ่ายดอกเบี้ยเพียง 5-7% ต่อปี
จะเห็นได้ว่า ความเหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับผลตอบแทนการลงทุน ซึ่งต้องเป็นผลตอบแทนจริง หมายความว่า ไม่ใช่ผลตอบแทนที่สูงถึง 15% นั้น เป็นผลมาจากการอุดหนุนของรัฐบาล (เช่นรัฐบาลนำงบประมาณมาช่วยลดต้นทุน) หรือเป็นผลมาจากการอาศัยการผูกขาดไม่ให้รายอื่นๆ มาแข่งขัน หรือมีผลข้างเคียงทางสังคม (เช่นก่อให้เกิดมลภาวะ) ทำให้ผลตอบแทนทางสังคมต่ำแต่ผลตอบแทนของเอกชนสูง
นอกจากนั้น ก็ยังมีความเสี่ยงในเชิงของดอกเบี้ยในอนาคตที่จะต้องปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น จึงควรคาดการณ์เผื่อเอาไว้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวนั้น น่าจะอยู่ที่ 8-9% ไม่ต่ำที่ 5-7% เช่นปัจจุบันอีก

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น ที่หมายความว่า เราจะต้องพึ่งเม็ดเงินจากต่างประเทศ เพราะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด คือ การที่ประเทศไทยซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศมากกว่าขายสินค้าและบริการให้กับชาวต่างประเทศเงินทุนที่ต้องไหลเข้ามานั้น อาจเป็นในรูปของการกู้ยืมโดยเอกชนหรือรัฐบาลไทย การที่ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยหรือการที่ต่างประเทศเข้ามาลงทุนโดยตรงในการก่อสร้างโรงงานและเข้ามาทำธุรกิจในไทย

ผมได้กล่าวตอนต้นว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 2% ของจีดีพี นั้น น่าจะไม่เป็นอันตราย เพราะหากการเป็นหนี้ต่างประเทศปีละ 2% ของจีดีพีดังกล่าว ทำให้เราสามารถนำเงินไปลงทุน แล้วให้ผลตอบแทนสูง ทำให้จีดีพีไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกปีละ 2-3% ก็หมายความว่าจีดีพีจะโตเร็วเท่ากับ หรือมากกว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เสียหายอะไร (กรณีที่เสียหายในระยาว คือ สหรัฐที่จีดีพีโตปีละ 3-4% แต่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปีละ 5-6% ของจีดีพี)



ความสำคัญของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ

- สามารถแสดงให้เห็นถึงฐานะทางการเงินของประเทศนั้น ๆ ว่ามีระดับของการขาดดุลหรือเกินดุลอย่างไร ภายในรอบระยะเวลาหนึ่ง
- เป็นรายการที่มีอิทธิพลต่อตัวแปรเศรษฐกิจ มหภาค เช่น GDP , เงินเฟ้อ, อัตราดอกเบี้ย, อัตราแลกเปลี่ยน
- ทราบถึงระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ- ดุลการชำระเงินจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ
- ภาคธุรกิจสามารถคาดคะเนศักยภาพของตลาด

สาเหตุที่ทำให้ขาดดุลการชำระเงินระหว่างประเทศของประเทศไทย คือ
1. การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจ ได้แก่การลดลงของการส่งสินค้าและบริการออกและการเพิ่มขึ้นของการสั่งสินค้าเข้า การเปลี่ยนแปลงทางด้านการบริโภคและการต้องพึ่งพาความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
2. ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเงิน ได้แก่ การเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อ การว่างงาน การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเงินระหว่างประเทศ เช่น ลดค่าเงิน การเปลี่ยนแปลงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
3. การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองการปกครอง ได้แก่ การเกิดความไม่เชื่อถือของผู้นำประเทศ การเกิดความไม่สงบภายในประเทศการไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การเกิดกรณีพิพาทกับต่างประเทศซึ่งมีผลทำให้ต่างประเทศไม่กล้าเข้ามาลงทุน และคนในประเทศพากันนำเงินออกไปนอกประเทศ

ผลกระทบของการขาดดุลการชำระเงินระหว่างประเทศไทยของประเทศไทย
1. ผลกระทบที่มีต่อฐานะทางเศรษฐกิจภายในประเทศ
2.ผลกระทบที่มีต่อฐานะทางการเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ


ดุลงบประมาณของรัฐบาล

การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล นั่นคือการที่รัฐบาลใช้จ่ายมากกว่ารายรับที่ได้มา หากเราพิจารณาให้ดี การขาดดุลงบประมาณจะส่งผลด้านกลับต่อผลิตภาพ เมื่อรัฐบาลต้องหาเงินมาชดเชยส่วนขาดดุล รัฐบาลอาจกู้เงินในตลาดการเงิน เหมือนอย่างที่นักศึกษากู้เงินมาใช้จ่ายค่าเล่าเรียน หรือเหมือนบริษัทกู้เงินมาสร้างโรงงานใหม่ แต่เมื่อรัฐบาลกู้เงินในตลาด ปริมาณเงินทุนที่เหลือสำหรับให้เอกชนกู้ยืมก็จะน้อยลง นั่นคืองบประมาณขาดดุลทำให้การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์(เช่นค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษา) และการลงทุนด้านทุนกายภาพ(เช่น โรงงานใหม่) ลดน้อยลง งบประมาณขาดดุลจึงถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของที่ทำให้การเติบโตของมาตรฐานการครองชีพลดลง ทั้งนี้เนื่องจากการลงทุนที่ลดลงในปัจจุบันหมายถึงผลิตภาพที่ลดลงในอนาคต

20 July 2008

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้

อัตราดอกเบี้ยคืออะไร ?

หากเรามีเงิน 1,000 บาท และให้ใครก็ตามยืมไปทำประโยชน์ เราต้องการส่วนเกินเพิ่มขึ้นจาก 1,000 บาท สมมุติให้เป็นว่าต้องคืนเราที่ 1,100 บาท ส่วนเกินที่คืนมา 100 บาท เราเรียกมันว่าดอกเบี้ย หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ดอกเบี้ยก็คือส่วนเพิ่มขึ้นจากเงินต้นของเรานั่นเอง

ผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ย
1. ค่าเงินบาท
2. อัตราเงินเฟ้อ
3. การลงทุนของบริษัทเอกชนในประเทศ
4. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
5. เสถียรภาพของเศรษฐกิจ
6. การขาดดุลการค้า
7. การนำเข้า และส่งออก
8. ต้นทุนของธนาคารพานิชณ์
9. ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าการออกนโยบายเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากและยากยิ่ง และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อนโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยของไทยคือ นโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารการสหรัฐอเมริกาหรือ Fed Fund Rate ซึ่งมีผลกระทบต่อการลงทุนของชาวต่างชาติ และธุรกิจภายในประเทศอย่างมากที่สุด เนื่องจาก เงินลงทุนในภาคเอกชนจะเป็นสกุลเงิน ดอลล่า ส่วนหนึ่งด้วย

ทำไมต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น : จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป ?!?

การที่ ธปท. จะออกนโยบายปรับเพิ่ม หรือลดอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศจะต้องเปรียบเทียบกับ FED ก่อนว่ามีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่เท่าไร ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เช่นหากทาง สหรัฐอเมริกามีอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูง การปรับอัตราดอกเบี้ยประเทศไทยซึ่งอ้างอิงกับสหรัฐฯก็ต้องประกาศปรับขึ้นตามอีกในไม่ช้า เพราะว่าหากประเทศไทยไม่ประกาศปรับดอกเบี้ยขึ้นตามสหรัฐ คนในประเทศไทยก็จะเห็นว่าการออมเงินในประเทศไม่คุ้มค่าเพราะมีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ ดังนั้นคนภายในประเทศไทยก็จะนำเงินไปฝากในต่างประเทศ หรือลงทุนในต่างประเทศ เร่งชำระหนี้ต่างประเทศ พักเงินไว้ต่างประเทศกันมากขึ้น เงินก็จะไหลออกนอกประเทศมากขึ้นจนอาจทำให้เงินบาทของเราอ่อนค่าลงได้
นอกจากนี้ยังจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติด้วย เพราะอะไรหรือ.....เนื่องจากว่าชาวต่างชาติจะมองเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีพอ ยังคงใช้ดอกเบี้ยในระดับต่ำๆ โดยไม่มีการขยับขึ้นเลย นักลงทุนต่างชาติ จะมองว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เพราะผลตอบแทนของการออมขั้นพื้นฐาน คือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังอยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นได้ว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี ภาคการเงินยังมีปัญหา การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นตัวสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ทางหนึ่ง ดังนั้นจึงคิดว่าในไม่ช้าธนาคารแห่งประเทศไทยก็คงจะประกาศการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รักษาระดับการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจไม่มีความผันผวน และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในทิศทางและแนวโน้มที่สามารถเข้ามาทำการลงทุนได้ นอกจากนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังเป็นการลดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศไทยอีกทางหนึ่ง และยังส่งผลให้ค่าเงินบาทของประเทศไม่อ่อนค่ามากนักจากการที่นักลงทุนนำเงินออกนอกประเทศ
หากเป็นช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อจาก กรณี Demand Pull หรือภาวะเงินเฟ้อจากความต้องการสินค้าที่มากขึ้น การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการออมมากขึ้น การใช้จ่ายลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่ภาวะปรกติได้

จึงสรุปได้ว่า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย … ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ ,เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ,เพื่อรักษาระดับค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนเกินไป ,ลดอัตราเงินเฟ้อจาก Demand Pull ,

ผลกระทบจากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่มากเกินไป !!
หากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยผิดจังหวะ หรือมากเกินไปจะทำให้เกิดการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนเนื่องจากไม่กล้าที่จะกู้ลงมาลงทุนเพิ่ม หรือแม้กระทั่งมีเงินไหลเข้าประเทศมากเกินไปจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงจนทำให้เกิดวิกฤติค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ธุรกิจส่งออกประสบปัญหาขาดทุน และทำให้เกิดภาวะขาดดุลตามมา

ทำไมต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย ?

เมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัวไม่ดีนักหรือ หดตัวลง สิ่งที่จะต้องดำเนินการ คือ ดำเนินนโยบายการคลังและการเงินแบบผ่อนคลาย นั่นหมายความว่าจะต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ผลที่ตามมาทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ จนผู้หวังกำไรจากการฝากแบงค์ต้องหาช่องทางลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่น การซื้อพันธบัตร ตราสารหนี้ เป็นต้น และสิ่งที่คาดหวังยิ่งกว่านั้นคือทำให้นักธุรกิจทำการกู้ยืมเงินจากธนาคารพานิชณ์มากขึ้น เช่นนำมาขยายโรงงาน สั่งซื้อวัตถุดิบเพิ่ม จนก่อให้เกิดการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจ และลดภาวะเงินเฟ้อจากกรณี Cost Plus ได้อีกด้วย
แต่หากในสภาพการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่านอัตราดอกเบี้ยจะไม่ได้ผล ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ 1) สถาบันการเงินซึ่งเป็นสถาบันที่ให้เงินทุนแก่ธุรกิจและให้สินเชื่อแก่ประชาชนไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัญหา NPL รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการขยายสินเชื่อ และ 2) เป็นผลมาจากการที่ธุรกิจได้มีการขยายการลงทุนเกินตัวไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับแรงซื้อหดหายไป (ภาวะเงินฝืด) ดังนั้นไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำแค่ไหนก็ตาม นักธุรกิจจะไม่ขยายการลงทุน

ผลกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป !!
การลดอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป และยิ่งมีระยะห่างกับ FED มากแล้วละก็จะทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศไทย และนำเงินไหลออกนอกประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การขาดดุลการชำระเงินส่งผลต่อทุนสำรองระหว่างประเทศ และไร้เสถียรภาพของค่าเงินบาท

ตลาดหุ้นไทย VS นโยบายธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED)

ทำไม ธปท. ประเทศไทย และอีกหลายๆประเทศต้องจับตามองประเด็นการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ด้วย ? ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่คลาสสิกมาก และตอบยากแน่นอน…. เพราะอะไรนะเหรอ ? … ง่ายมากครับนโยบายอัตราดอกเบี้ยของ FED ก็มีข้อพิจารณาไม่ต่างจาก ธปท. ของเราเลย คือต้องดูแลค่าเงินบาท การขยายการลงทุน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงอัตราเงินเฟื้อฐาน แต่ก็เป็นภายในประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเมื่อนโยบายของ FED ออกมาปรับเพิ่ม/ลด เท่าไร อย่างไร ทาง ธปท. ก็นำมาพิจารณาปรับเปลี่ยนให้เหมาะตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนั้น โดยเน้นส่วนที่สำคัญคือต้องคำนึงถึง การลงทุนของนักธุรกิจซึ่งมีการกู้ยืมจากภายในประเทศสหรัฐอเมริกา 30-40% และการไหลเข้าไหลออกของนักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น

ผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์

ธนาคารพาณิชย์ได้ประโยชน์หากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลดลง และมีความพอใจหากดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากธนาคารปล่อยสินเชื่อได้น้อยมาก ขณะที่ฐานเงินฝากยังเติบโตอยู่
อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ชี้ถึงความผิดปกติ บางอย่างที่ยังคงอยู่ของภาวะเศรษฐกิจ อันนำมาสู่ปัญหาความต้องการสินเชื่อที่ชะลอตัวลง ปัญหาการไหลเข้าของเงินฝาก ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังไม่คืบหน้า ส่งผลให้ธนาคารต้องแบกรับต้น ทุนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ตลอดจนภาระในการทำสำรองเผื่อการ ด้อยค่าของมูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกันและการเสื่อมค่าของสินทรัพย์จัดชั้นในระดับสูง ไม่คุ้มกับรายได้ดอกเบี้ยและไม่เพียงพอที่จะทำให้ธนาคารดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างปกติสุข

19 July 2008

อัตราแลกเปลี่ยน(Exchange Rate) หรือที่เรียกกันว่า “ค่าเงินบาท”

ช่วงนี้มักจะได้ยินสื่อต่างๆ พูดคำว่า ค่าเงินบาทแข็งอยู่ตลอด จึงอยากจะขออธิบายให้ฟังเพื่อให้มีความเข้าใจว่า ค่าเงินบาทแข็ง,ค่าเงินบาทอ่อนคืออะไร เกิดจากอะไรได้บ้าง ค่าเงินบาทแข็งแล้วอ่อนได้หรือไม่ ถ้าแข็งหรืออ่อนแล้วจะมีผลดีและผลเสียต่อใคร อย่างไร แล้วค่าเงินบาทที่อ่อนดีกว่าค่าเงินบาทที่แข็งจริงหรือไม่ ซึ่งก่อนอื่นขอสร้างความเข้าใจก่อนว่า ค่าเงินบาทคืออะไร

ค่าเงินบาทคืออะไร ?

ค่าเงินบาท หมายถึง จำนวนเงินบาทที่ใช้นำไปแลกเปลี่ยนกับเงินตราต่างประเทศ หรือที่เรียกว่าเงินสกุลอื่นๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ ดอลลาร์สิงคโปร์ เยนญี่ปุ่น ปอนด์สเตอร์ลิง เป็นต้น ซึ่งที่ค่อนข้างคุ้นเคยก็คือ การนำเงิน 33 บาทไปแลกกับดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือการนำเงิน 30 บาทไปแลกได้ 100 เยนญี่ปุ่น หรือ นำเงิน 63 บาท ไปแลกได้ 1 ปอนด์สเตอร์ลิง เป็นต้น

โดยเวลาที่พูดกันว่า ค่าเงินบาทแข็ง ก็หมายถึง เงินบาทของเรามีค่ามากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลที่กำลังเปรียบเทียบอยู่ เช่น ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็คือ สมมติ เราเคยใช้เงินบาทจำนวน 36 บาทไปแลกกับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ตอนนี้ เราใช้เงินบาทในจำนวนที่น้อยลง เช่น 33 บาทไปแลกกับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น ส่วนคำว่า ค่าเงินบาทอ่อนตัว ก็ตรงกันข้ามกับค่าเงินบาทแข็ง กล่าวคือ เราต้องใช้เงินบาทมากขึ้น เช่น 40 บาทไปแลก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น

ค่าเงินบาทแข็ง หรืออ่อน เกิดจากสาเหตุอะไร ?

ค่าเงินบาทแข็ง จะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หากสมมติให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่ การที่อยู่ ๆ ก็มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยมาก ๆ เช่น เข้ามาในตลาดหุ้น ซึ่งเวลาเข้ามานั้น นักลงทุนต่างประเทศจะไม่สามารถเอาเงินตราต่างประเทศที่เค้าถืออยู่มาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้โดยตรง โดยเค้าต้องขอแลกเป็นเงินบาทก่อน ดังนั้น กรณีนี้ ความต้องการในเงินบาทก็จะสูงขึ้น ซึ่งเวลาที่ความต้องการในเงินบาทสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณเงินบาทที่มีในระบบเศรษฐกิจอยู่คงที่ กลไกตลาดก็จะทำงาน โดยทำให้เงินบาทมีค่าสูงขึ้น หรือที่เราเรียกว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นนั่นเอง

อีกตัวอย่างที่อาจทำให้เห็นภาพชัดขึ้น ก็คือ หากธุรกิจของไทยสามารถส่งออกได้มาก ผู้ส่งออกของไทยเมื่อได้รับรายได้ในรูปของเงินสกุลต่างประเทศ ผู้ส่งออกก็จะเอาเงินสกุลต่างประเทศนั้น ๆ มาแลกเป็นเงินบาท เพื่อจะได้นำมาใช้ต่อไป ในกรณีนี้ก็จะคล้ายๆ กับกรณีแรกคือ ความต้องการเงินบาทก็จะมากขึ้น และทำให้ค่าของเงินบาทแข็งขึ้นได้เช่นกัน

สำหรับกรณีของค่าเงินบาทอ่อนลง ก็อาจจะเกิดได้ในกรณีที่ไทยต้องการนำเข้ามาก ๆ เช่น ต้องการนำเข้าน้ำมัน หรือกรณีการนำเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักรจากต่างประเทศ ดังนั้น ในกรณีนี้ ก็จะต้องมีการนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินตราต่างประเทศ เพื่อที่จะได้เอาเงินไปจ่ายต่างประเทศ ความต้องการในเงินตราสกุลต่างประเทศก็จะสูงขึ้น กลไกตลาดก็จะทำให้ค่าของเงินบาทอ่อนลง เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ค่าเงินบาทสามารถที่จะแข็งขึ้นและอ่อนลงได้ด้วยหลายๆ ปัจจัย แม้กระทั่งหากนักเก็งกำไรมีความรู้สึกว่าค่าเงินบาทน่าจะอ่อนกว่าที่เป็นอยู่ จึงต้องการที่จะถือเงินบาทน้อยลง และหากนักเก็งกำไรทุก ๆ คน คิดและทำเหมือนกันหมด ก็จะมีส่วนทำให้ค่าเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงได้เช่นกัน

ค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนมีผลดีและผลเสียต่อใคร อย่างไร แล้วค่าเงินบาทอ่อนดีกว่าค่าเงินบาทแข็งจริงหรือไม่ ตรงนี้จะขออธิบายว่า เวลาค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อน จะต้องมีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์เสมอ จึงไม่ควรมองเพียงด้านใดด้านหนึ่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

เจาะประเด็นค่าเงินบาทแข็ง

เวลาค่าเงินบาทแข็ง ก็คือใช้จำนวนเงินบาทที่น้อยลงไปแลกกับเงินสกุลต่างประเทศ คนที่ได้ประโยชน์ จะมีหลายกลุ่ม อาทิ

• คนที่ต้องนำเข้าสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ เช่น ธุรกิจที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบ หรือ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตจากต่างประเทศ ก็จะซื้อวัตถุดิบ หรือเครื่องจักรได้ถูกลง ต้นทุนการผลิตก็จะต่ำลง หรือกรณีที่เราพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เพื่อใช้โดยตรง หรือใช้ในการผลิตไฟฟ้า กรณีนี้ ราคาน้ำมันที่เราเติม กับค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายก็จะถูกไปด้วย เพราะนำเข้ามาในราคาที่ถูกลง หากราคาวัตถุดิบ เครื่องจักร และน้ำมันที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศไม่ได้แพงขึ้น หรือแม้ว่า ราคาวัตถุดิบ เครื่องจักร และน้ำมันที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศจะแพงขึ้น แต่การที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ก็ช่วยให้ราคาของวัตถุดิบ เครื่องจักรและน้ำมันดังกล่าวในรูปของเงินบาทไม่แพงขึ้นได้ ดังจะเห็นตัวอย่างจากช่วงที่ผ่านมาที่ในบางช่วงที่แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะแพงขึ้น แต่ราคาน้ำมันในประเทศในรูปของเงินบาทไม่ได้ปรับขึ้นตาม ส่วนหนึ่งก็เพราะค่าเงินบาทที่แข็งช่วยให้ราคาในการนำเข้าไม่แพงขึ้นนั่นเอง
• คนที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ก็จะมียอดหนี้เมื่อแปลงเป็นเงินบาทน้อยลง ก็อาจจะเป็นจังหวะให้เราอาจจะตัดสินใจใช้หนี้ เพราะใช้เงินน้อยลงในการแลกเงินสกุลต่างประเทศไปคืนเค้า เป็นต้น
• คนที่ส่งลูกเรียนเมืองนอก หรือคนที่อยากไปเที่ยวเมืองนอก ก็ใช้เงินน้อยลงในการส่งเงินให้ลูกได้เท่าที่เคยส่ง หรือใช้เงินน้อยลงเวลาไปเที่ยวหรือไปซื้อของที่เมืองนอก เป็นต้น

แต่ค่าเงินบาทแข็ง ผลกระทบก็มีเช่นกัน

• ผลต่อคนที่ส่งออกในด้านความสามารถในการแข่งขัน เช่น แต่ก่อนชาวต่างชาติเคยซื้อข้าวจากเรา สมมติ ตันละ 8,000 บาท เวลาเค้ามาซื้อเค้าเคยใช้เงิน 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาซื้อ หากค่าเงินบาทแข็งขึ้น และเค้าเอาเงิน 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่าเดิมมาซื้อ คราวนี้เค้าจะไม่ได้ข้าว 2 ตัน แต่จะได้น้อยกว่านั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่ค่าเงินบาทแข็ง สินค้าของเราก็จะดูว่าแพงขึ้น ชาวต่างชาติเค้าก็อาจจะหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นแทน แต่ประเด็นนี้ จะมีข้อยกเว้นตรงที่ หากคู่แข่งของเรา เช่น เวียดนาม หรืออินเดีย หรือประเทศอื่นๆ ค่าเงินของเค้าแข็งขึ้นด้วย กรณีนี้ ค่าเงินบาทที่แข็ง ก็ไม่ได้มีส่วนทำให้เราส่งออกไม่ได้ หรือสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งไป (ในเรื่องความสามารถในการแข่งขันนี้ แม้ค่าเงินจะเป็นเรื่องหนึ่งที่มีผล แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกมาก อาทิ ความสามารถในการผลิต ต้นทุนการผลิต เป็นต้น)

ผลต่อคนที่ส่งออกด้านรายได้ที่จะได้รับ เช่น สมมติเคยขายได้ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเคยแลกได้ 4,000 บาท (หากอัตราแลกเปลี่ยน 40 บาทแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่เพราะค่าเงินบาทแข็งขึ้น (อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ก็เลยเอา 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาแลกได้เงินน้อยลง โดย แลกได้เพียง 3,600 บาท เป็นต้น ก็ได้เงินน้อยลง แต่ถ้าผู้ส่งออกคนนี้ มีการนำเข้าด้วย ก็จะสามารถลดผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งไปได้ โดยถ้าผู้ส่งออกคนนี้ มีการนำเข้าที่มากกว่าการส่งออก ก็จะถือได้ว่า แม้จะเป็นผู้ส่งออก แต่ก็ยังได้รับผลดีเวลาที่ค่าเงินบาทแข็งได้ เป็นต้น
โดยหากเป็นกรณีค่าเงินบาทอ่อนลง ผลก็จะเป็นตรงกันข้าม คือ ผู้ที่ต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบ หรือเครื่องจักรมาก ๆ หรือผู้ที่ยังส่งลูกเรียนเมืองนอกอยู่ ก็จะต้องจ่ายแพงขึ้น ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่อ่อนลง ก็จะช่วยให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้ดีขึ้น (หากค่าเงินของประเทศคู่แข่งไม่ได้อ่อนลงตามไปด้วย) และมีรายได้หลังจากแลกเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น

นโยบายอัตราดอกเบี้ย กับค่าเงินบาท

การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบทได้จริงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ คือ 1. ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยต้องส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของเงินทุน และ 2. การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตามตามทฤษฎีเงินทุนเคลื่อนย้ายจะหาผลตอบแทนที่สูงที่สุดในระยะที่ผ่านมา ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมีผลเพียงบางส่วนต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจากค่าเฉลี่ยร้อยละ 0.20 ในปี 2546 เป็นลบร้อยละ 0.56 ในปี 2548 ตามวัฏจักรดอกเบี้ยที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ Fed Funds โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนระยะ 1 วัน แต่ส่วนต่างที่ลดลงไม่ได้ทำให้เงินทุนไหลออก แต่กลับทำให้เงินทุนไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2546 และในปี 2548 มีเงินทุนไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่นักลงทุนให้ความสนใจ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย คือความเชื่อมั่นและความเสี่ยง ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากการที่นักลงทุนต่างประเทศโยกย้ายการถือครองสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ กลับไปถือครองสินทรัพย์ในตลาดหลัก ทั้งที่ส่วนต่างของระหว่าง 2 ตลาดไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือเรียกว่า Emerging Market Risk Aversion ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2549 และต้นปี 2550 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยการคาดการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพราะนอกจากผลตอบแทนจากดอกเบี้ยแล้ว การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินก็มีส่วนกำหนดอัตราผลตอบแทนการลงทุนด้วยดังนั้น หากนักลงทุนคาดว่าเงินสกุลใดสกุลหนึ่งจะแข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีหรือแรงกดดันจากการเก็งกำไรค่าเงิน

จากข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่าในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 2.50 ในเดือนกรกฎาคม 2544 เป็นร้อยละ 1.25 ในเดือนกรกฎาคม 2546อัตราแลกเปลี่ยนกลับแข็งค่าขึ้นจาก 45.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 41.78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยลดแรงกดดันทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนอาจไม่ประสบผลเท่าที่คาดการณ์ไว้

ดังนั้น เวลาจะดูผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง หรืออ่อน รวมทั้งการสรุปว่าค่าเงินบาทอ่อนเป็นเรื่องดี ค่าเงินบาทแข็งเป็นเรื่องไม่ดี จึงอาจจะไม่จริงเสมอไป แต่จะต้องดูผลดีและผลเสียในหลายๆ ด้านประกอบกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่าจะเลือกมองจากด้านใด ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้ว อาจไม่มีใครตอบได้ว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยควรจะอยู่ที่ระดับใด เพราะขึ้นอยู่กับสภาพของเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่สิ่งที่เห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่คือ ค่าเงินบาท ควรจะมีเสถียรภาพ กล่าวคือ ไม่ควรจะผันผวนเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างรวดเร็วมากเกินไป เพราะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว คาดเดาได้ยาก จะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป

ลิงค์ข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยน : http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/FinancialMarkets/ExchangeRate/_layouts/Application/ExchangeRate/ExchangeRate.aspx

ภาวะเงินเฟ้อคืออะไร?

ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) คืออะไร เกิดจากอะไร วัดอย่างไร และถ้าสูงขึ้นมาก ๆ จะเกิดอะไรขึ้น

ภาวะเงินเฟ้อคืออะไร?

หลายคนเมื่อได้ยินคำว่าเงินเฟ้อ อาจจะสงสัยว่าเงินเฟ้อคืออะไร แล้วเมื่อไรถึงจะเรียกว่าเกิดภาวะเงินเฟ้อ คำว่าภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็จะมีผลทำให้ค่าของเงินที่เราถืออยู่ลดลง ตัวอย่างของค่าของเงินที่ลดลงเช่น ราคาน้ำมันเคยอยู่ที่ 14 บาทต่อลิตร สมมติเราเคยเติมน้ำมัน 10 ลิตร ก็จะใช้เงิน 140 บาท แต่ปัจจุบัน ราคาน้ำมันได้กลายเป็น 28 บาทต่อลิตร หากเราใช้เงินเท่าเดิมคือ 140 บาท เราจะเติมน้ำมันได้เพียง 5 ลิตร ไม่ใช่ 10 ลิตรแบบที่เคยเติมได้ ซึ่งหากต้องการที่จะเติมน้ำมัน 10 ลิตร เท่าเดิม แปลว่าเราต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเป็น 280 บาท หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การเกิดภาวะเงินเฟ้อ จะทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมที่เราถืออยู่มีค่าลดลง ทำให้ซื้อของได้น้อยลง

ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้นแบบนี้ ต้นทุนในการขนส่งสินค้าจากแหล่งผลิตที่จะส่งไปขายยังที่ต่าง ๆ ก็ย่อมต้องสูงขึ้น และทำให้ราคาสินค้าชนิดอื่นๆ ต้องขึ้นราคาตามไปด้วย แต่การที่มีสินค้าแค่ชนิดใดชนิดหนึ่งแพงขึ้น จะยังไม่เรียกว่าเงินเฟ้อ เพราะภาวะเงินเฟ้อหมายถึง ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วๆ ไปแพงขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจจะมีราคาสินค้าบางอย่างถูกลงด้วยในเวลาเดียวกัน แต่โดยรวม ๆ แล้ว หากราคาสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น และเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไปสักพักหนึ่ง ถึงจะเรียกได้ว่าเกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยที่เราจำเป็นต้องรู้เรื่องเงินเฟ้อ ก็เพื่อที่จะใช้สำหรับวัดค่าครองชีพหรือมาตรฐานการครองชีพของเรา (ประชาชน) ว่าดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร

เงินเฟ้อเกิดจากอะไร?

ภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นได้จากหลายๆ สาเหตุ แต่ส่วนใหญ่ในทางวิชาการมักจะแบ่งสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อได้เป็น 2 สาเหตุหลักๆ ได้แก่ Cost-push inflation และ Demand-pull inflation

(1) เกิดจากต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า Cost-push inflation ซึ่งต้นทุนที่ใช้ในการผลิตสินค้าอาจจะสูงขึ้นได้จากทั้งส่วนผสมหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า ค่าจ้างแรงงาน รวมทั้งค่าขนส่งสินค้า มีราคาแพงขึ้น เช่น กรณีของราคาน้ำมันที่แพงขึ้นก็เป็นตัวอย่างได้ หรือการที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน หรือเกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตเกษตรเสียหาย ราคาสินค้าเกษตรก็แพงขึ้น เป็นต้น หรือแม้แต่ในกรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนลง จาก 35 บาท เป็น 40 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องใช้เงินบาทจำนวนที่มากขึ้นเพื่อไปซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิต) หรือแม้แต่การที่รัฐบาลเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เช่น การเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หรืออาจเกิดจากผู้ผลิตต้องการกำไรที่สูงขึ้นจึงขึ้นราคาสินค้า ซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ก็จะมีส่วนทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นได้
ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ อาจจะเกิดขึ้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ หรืออาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กันก็ได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และทำให้ราคาสินค้าและบริการหลายๆ ชนิดแพงขึ้นพร้อมๆ กัน ความรุนแรงของเงินเฟ้อก็จะมากขึ้นด้วย

(2) เกิดจากความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า Demand-pull inflation ส่วนใหญ่ในช่วงที่ปกติ ผู้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่ก็ย่อมจะวางแผนการผลิตสินค้าโดยดูว่ามีคนต้องการซื้อสินค้าของเราเท่าไรในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้น ปริมาณสินค้าที่มีในตลาดก็น่าจะอยู่ใกล้เคียงกับความต้องการซื้อสินค้า แต่หากความต้องการสินค้าและบริการสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่สินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการมีอยู่ในตลาดมีไม่พอ ก็ย่อมทำให้ราคาสินค้าและบริการแพงขึ้นได้ ซึ่งเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น คนจะยิ่งรีบใช้เงินซื้อสินค้าและบริการมาตุนไว้ ก่อนที่ค่าเงินที่มีอยู่จะลดลง เพราะซื้อสินค้าได้น้อยลง ราคาสินค้าและบริการจะยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นไปกว่าเดิม เพราะคนจะยิ่งรีบใช้เงินที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว หน่วยงานของทางการก็มักจะไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง โดยทางการอาจจะเข้ามากำกับดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้า ตัวอย่างเช่น การขอความร่วมมือให้ ขสมก. เลื่อนการขึ้นค่ารถเมล์ไปก่อน หรืออนุญาตให้ค่ารถเมล์ปรับขึ้นราคาได้บ้างนิดหน่อย เป็นต้น หรือในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย อาจใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนน้อยที่สุด

เงินเฟ้อวัดอย่างไร?

อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยวัดโดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ประกาศอัตราเงินเฟ้อเป็นประจำทุกเดือน โดยวิธีวัดอัตราเงินเฟ้อทำได้โดยการวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาของสินค้าและบริการกลุ่มหนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ซึ่งระดับราคาของสินค้าและบริการ ใช้ชื่อว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index-CPI) ตัวอย่างการคำนวณอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน ซึ่งคือเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เพื่อที่จะบอกว่าราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปแพงขึ้นหรือถูกลงเมื่อเปรียบเทียบกัน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่ประกาศโดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า อยู่ที่ 114.5 ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ปี 2549 อยู่ที่ 111.9

ดังนั้น
อัตราเงินเฟ้อของเดือนกุมภาพันธ์ 2550 [(114.5-111.9)/111.9]x100 = 2.3%
ซึ่งอันนี้จะมีความหมายว่า ระดับราคาสินค้าและบริการโดยรวมมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน 2.3% หรือหากเรามีเงินจำนวนเท่าเดิมกับปีที่แล้ว ค่าของเงินที่เราถืออยู่จะด้อยค่าไป 2.3% ซึ่งทำให้ซื้อของได้น้อยลง


ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์


ถ้าเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ๆ จะเกิดอะไรขึ้น?

โดยปกติแล้ว หากเงินเฟ้อสูงขึ้นนิด ๆ หน่อย ๆ (ปกติตามหลักวิชาการคือเงินเฟ้อที่สูงไม่เกิน 5% จะเรียกเงินเฟ้ออย่างอ่อน (Mild inflation)) จะเป็นสิ่งที่ดีที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตมีการลงทุนขยายการผลิต และมีการจ้างงาน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัวได้ดี ไม่มีผลเสียต่อเศรษฐกิจ แต่หากเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ๆ และสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนยากที่จะคาดเดาได้ว่าเงินเฟ้อจะเป็นเท่าไร (Hyper inflation) จะมีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถวางแผนการผลิตและลงทุนได้ เพราะไม่รู้ว่าวัตถุดิบที่จะซื้อเข้ามาราคาจะเป็นเท่าไร จะตั้งราคาสินค้าเท่าไร เพื่อให้ยังมีกำไร ขณะที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคเองก็ไม่แน่ใจว่าราคาสินค้าจะแพงขึ้นอีกหรือไม่ เงินจำนวนเท่าเดิมที่มีอยู่ในกระเป๋าก็ด้อยค่าลงไป เพราะข้าวของแพงขึ้น ทำให้ซื้อของได้น้อยลง ธุรกิจก็ขายของได้น้อยลง ซึ่งที่สุดแล้วจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศแย่ลงได้
โดยสรุปคือ ภาวะเงินเฟ้อใช้เพื่อวัดค่าครองชีพของประชาชน ภาวะเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นต่อเมื่อราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปสูงขึ้นต่อเนื่อง หากสูงขึ้นแล้วปรับลดลง จะไม่นับว่าเกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อในระดับอ่อนๆ จะไม่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ แต่หากเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงๆ จะทำให้ค่าของเงินที่เรามีอยู่ด้อยค่าลงไป ทำให้ซื้อของได้น้อยลง ธุรกิจไม่สามารถผลิตหรือลงทุนได้เพราะมีความไม่แน่นอนเรื่องราคาอยู่สูง ซึ่งจะมีผลกระทบทางลบต่อระบบเศรษฐกิจในที่สุด

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP

คำว่า GDP เป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยมาก แต่ใครเล่าจะรู้ซึ้งถึงความหมายที่แท้จริง และมันมีไว้ทำอะไร ?!?

นิยาม

จากความสัมพันธ์ระหว่างภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างการทำหน้าที่ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ในฐานะที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ผลิต และฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ใช้ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ จะเห็นว่ากิจกรรมที่เชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจทั้งสองเข้าด้วยกัน คือ ภาคครัวเรือน ให้ใช้ปัจจัยแรงงาน ที่ดิน ทุน และผู้ประกอบการ ได้รายได้เป็น ค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย และกำไร เมื่อรวมรายได้ทุกประเภทของเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหมดที่มีส่วนร่วมในการผลิต เรียกว่า " รายได้ประชาชาติ " ซึ่งจะนำไปใช้จ่ายเพื่อซื้อผลผลิตที่อยู่ในรูปของสินค้า และบริการต่าง ๆ จากภาคธุรกิจ
เพราะฉะนั้น ถ้าหากมองความสัมพันธ์อย่างง่าย ๆ จะเห็นว่า " รายได้ประชาชาติ " จะเท่ากับ " ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ " และจะต้องเท่ากับ " มูลค่าของผลผลิต " อีกด้วย เช่น คนในครอบครัวไปซื้อของที่ตลาดเสียเงินไปหนึ่งร้อยบาท ก็จะต้องได้สินค้าที่มีมูลค่าหนึ่งร้อยบาทกลับมาใช่ไหม แล้วขอถามต่อว่า แล้วคนในครอบครัว เอาเงินมาจากไหน คำตอบก็คือ ได้มาจากการขายปัจจัยการผลิตในภาคธุรกิจ ซึ่งมีผลตอบแทนมาหนึ่งร้อยบาทเท่ากับปัจจัยการผลิตของเรา ที่ให้เขาเอาไปใช้นั่นเอง ดังนั้น จะคิดมูลค่าของ " รายได้ " หรือ " ค่าใช้จ่าย " หรือ " มูลค่าผลผลิต " มันก็ต้องเป็นจำนวนเท่ากัน

ความหมาย

GDP ย่อมาจากคำว่า Gross Domestic Product ภาษาไทยแปลว่า " ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเบื้องต้น " หรือ " ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ " หมายถึง มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นภายในประเทศในระยะเวลาหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงว่าทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตสินค้า และบริการจะเป็นทรัพยากรของพลเมืองในประเทศหรือเป็น ของชาวต่างประเทศ ในทางตรงข้าม ทรัพยากรของพลเมืองในประเทศแต่ไปทำ การผลิตในต่างประเทศ ก็ไม่นับรวมไว้ในผลิตภัณฑ์ในประเทศ ผลิตภัณฑ์ในประเทศมีการจัดทำทั้งตามราคาปัจจุบันและราคาคงที่โดย GDP ณ ราคาปัจจุบัน คิดมูลค่าผลผลิตเป็นเงินตามราคาตลาดของสินค้าและบริการเหล่านั้น ขณะที่ GDP ณ ราคาคงที่คิดมูลค่าผลผลิตเป็นเงินตามราคาปีที่กำหนดเป็นปีฐาน

วิธีการคำนวณตัวเลข GDP ทางรายจ่าย

GDP = C + I + G + ( X - M)
C = รายจ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Expenditure)
I = รายจ่ายเพื่อการลงทุนภาคเอกชน (Private Investment Expenditure)
G = รายจ่ายของรัฐบาลในการซื้อสินค้าและบริการ (Government Expenditure)
X = การส่งออก (Export)
M = การนำเข้า (Import)

โดย ….
C = รายจ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชน (private consumption expenditure)
คือ รายจ่ายของภาคครัวเรือนในการซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งหมวดสินค้าสามารถแบ่งออกเป็น
1. สินค้าประเภทคงทน (Durable Goods) เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
2. สินค้าประเภทไม่คงทน (Non-Durable Goods) เช่น อาหาร เสื้อผ้า

I = รายจ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชน (Private Investment Expenditure)
ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้แก่
1. สินค้าคงเหลือ (Inventories)
2. รายจ่ายในการซื้อเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการผลิตสินค้าและ บริการ (Machinery and equipment)
3. รายจ่ายเพื่อการก่อสร้างใหม่ อาทิ ค่าก่อสร้างโรงงาน สถานที่เก็บสินค้า รวมถึงการ สร้างที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของอยู่อาศัยเองหรือให้ผู้อื่นเช่า
อย่างไรก็ตาม I คือ รายจ่ายลงทุนมวลรวม (Gross Investment) ยังไม่ได้หักค่าเสื่อม (Depreciation) หรือส่วนที่ลงทุนทดแทน

G = รายจ่ายของรัฐบาลในการซื้อสินค้าและบริการ (Government Expenditure)
ได้แก่ รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย รวมทั้งค่าจ้างและเงินเดือน ข้าราชการ แต่ไม่รวมรายจ่ายในเรื่องเงินโอน เช่น รายจ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมและเงินบำนาญ

( X - M) = การส่งออกสุทธิ (Net Export)
การคำนวณ GDP ในระบบเศรษฐกิจแบบเปิดจะต้องรวมเอามูลค่าการส่งออกสุทธิ
มาคำนวณด้วย นั่นคือ การนำมูลค่าสินค้าส่วนที่ถูกบริโภคโดยชาวต่างประเทศ
หักออกด้วยรายจ่ายส่วนที่เป็นการบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ


GDP บอกอะไรเราบ้าง

จีดีพี (GDP)หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product) ได้แก่การผลิตสินค้าและบริการที่ชื้อขายในตลาดในเวลา 1 ปี ในทางเศรษฐศาสตร์ได้นำค่าตัวเลขของจีดีพีมาวัดการเติมโตทางเศรษฐกิจ เช่นว่าปีนี้จีดีพีเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ก็แสดงให้เห็นว่าเรามีรายได้มวลรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ เช่นเมื่อปี 2547 เรามีจีดีพี 5.8 ล้านๆ บาท ประชากรจำนวน 63 ล้านคน เมื่อหารด้วย 63 ล้านจะได้รายได้ต่อปี และหารด้วย 12 จะได้รายได้แต่ละคนต่อเดือน ก็ตกอยู่ประมาณ 7200 บาทต่อเดือน ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขโดยเฉพาะเฉลี่ยทั้งประเทศ ที่นำคนที่มีรายได้ต่อปี 10000 ล้าน 100 ล้านมาเฉลี่ยด้วย จึงเป็นเรื่องปกติธรรมด้าที่เรายังพบว่ามีคนจนที่มีรายได้ไม่ถึง 7200 บาทอยู่จำนวนมาก ที่ทราบกันมากกว่า 10 ล้านคน

ดังนั้นค่าจีดีพีไม่ได้สะท้อนการมีรายได้ของประชากรอย่างแท้จริง เพราะขณะที่จีดีพีเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ในระบบทุนนิยม นักธุรกิจอาจจะมีรายได้เพิ่มมากกว่า 50 เปอร์เซ็น ประชาชนบางกลุ่มอาจมีรายได้เพิ่มไม่ถึง 5 เปอร์เซ้นต์ และอาจจะมีบางกลุ่มรายได้ลดลง ดังที่พูดกันว่ายิ่งพัฒนาในระบบทุนนิยมยิ่งทำให้ยากจนลง เพราะกระตุ้นให้คนบริโภคใช้จ่ายมากขึ้น จะได้ผลิตสินค้าได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง บางทีก็ไม่คุ้มกับที่เสียไป

เมื่อนำค่าจีดีพีของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว ประเทศได้มีจีดีพี 5.5 ล้านล้านบาทขณะที่ประเทศสิงคโปร์มีจีดีพี 4.5 ล้านล้านบาท โดยที่ประชากรประเทศไทย 60 กว่าล้านขายสินค้าและบริการได้ 5.5 ล้านบาท ขณะที่คนสิงคโปร์ 3 ล้านกว่าคนขายสินค้าและบริการได้ 4.5 ล้านบาท ดังนั้นโดยเฉลี่ยคนสิงคโปร์มีรายได้สูงกว่าประเทศไทยมากไม่น้อยกว่า 20 เท่า อาจกล่าวเล่นๆ ว่าคนสิงคโปร์ทำงานหนักว่าคนไทยถึง 20 เท่า แต่ที่ว่าทำงานหนักนั้นไม่ได้หมายความว่าใช้แรงงานในการทำงาน แต่ใช้สมองความรู้ความสามารถในการทำงาน เช่นจ้างแรงงานต่างชาติมาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้เครื่องจักรมาช่วยในการผลิตมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้แรงงานมากมายแต่ก็ต้องคิดทำงานแก้ปัญหาแน่นอน ความเครียดน่าจะมากกว่า

อย่างไรก็ตามการคิดค่าจีดีพีในทางเศรษฐศาสตร์ จากเงินลงทุน บวก ค่าใช้จ่ายบริโภคมวลรวม บวก ค่าใช้จ่ายภาครัฐ บวกกับผลต่างระหว่างค่าสินค้าส่งออกและนำเข้า จากสูตรการคิดดังกล่าวนี้ทำให้ทราบว่าทำไมการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเหมือนเป็นสูตรสำเร็จว่าจะต้องกระตุ้นการส่งออก ส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมการลงทุน และแอบส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ในภาวะที่หุ้นตก การลงทุนก็ลดลง และถ้ารัฐใช้แนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง การบริโภคก็ลดลง การใช้จ่ายภาครัฐก็ลดลง ตัวที่จะทำให้จีดีพีดีขึ้นก็เห็นแต่ภาคการส่งออก ซึ่งก็มีส่วนให้มีการบริโภคภายในประเทศด้วย และที่เราประหยัดกันให้มากในด้านสั่งสินค้าฟุ่มเฟือย ลดการใช้น้ำมันลงก็ช่วยจีดีพีให้เพิ่มขึ้นเหมือนกัน

การวิเคราะห์เศรษฐกิจ (Macro-Economic Analysis)

ก่อนอื่นมาเข้าใจเป้าหมายที่ท้าทายของทุกระบบเศรษฐกิจก่อนครับ...

• เพื่อการกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตแบบยั่งยืน
(Boost economic long term growth)
• เพื่อการทำให้ธุรกิจมีการเติบโตที่มีเสถียรภาพ (Stabilize the business cycle)
• ลดอัตราการว่างงานในระบบเศรษฐกิจ (Reduce unemployment)
• เพื่อการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อ (Keep inflation low)
• เพื่อการลดการขาดดุลงบประมาณภาครัฐ และลดการขาดดุลระหว่างประเทศ (Reduce the government and international deficits)
(prevent large deficits)
• เพื่อการกระจายรายได้ในสังคม (Distribution of Income in the society)

ด้วยเป้าหมายดังกล่าวการวิเคราะห์เศรษฐกิจจึงจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

การวิเคราะห์เศรษฐกิจ (Macro-Economic Analysis)


เป็นการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต เพื่อคาดการณ์ว่าแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจจะมีผลกระทบต่อภาวะอุตสาหกรรมต่างๆ และภาวการณ์ตลาดหลักทรัพย์โดยรวมอย่างไรบ้าง ผู้ลงทุนควรวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่

1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP
2. ภาวะเงินเฟ้อ
3. อัตราแลกเปลี่ยน
4. อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้
5. ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ
6. นโยบายการเมือง การคลัง พาณิชย์ ธปท. และกนง.
7. ราคาน้ำมัน
8. ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจสหรัฐ

18 July 2008

วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis)

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis)

เพื่อค้นหาธุรกิจ และราคาที่เหมาะสม
สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ซึ่งแสดงได้ดังแผนภาพ



พิจารณาภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตว่าเป็นอย่างไร เพื่อประเมินผลกระทบทั้งด้านบวกและลบกับสภาวะอุตสาหกรรมและบริษัทในอุตสาหกรรมที่สนใจลงทุนอย่างไรบ้าง



พิจารณาสภาวะอุตสาหกรรม เพื่อดูว่าอุตสาหกรรมใดมี ความน่าลงทุนบ้างในภาวะเศรษฐกิจขณะนั้น และอุตสาหกรรมของหุ้นที่สนใจอยู่ในช่วงใดของวงจรชีวิต (Industry life cycle) เพื่อที่จะตัดสินใจเลือกลงทุนสามารถใช้ วิธี พลังทั้ง 5 ของพอร์ตเตอร์(Poter’s Five Force) ช่วยวิเคราะห์ได้



พิจารณาว่าบริษัทใดน่าสนใจลงทุน โดยดูว่ามีความสามารถในการแข่งขันหรือไม่ มีอัตราการทำกำไรอย่างไร ผลประกอบการของธุรกิจมีแนวโน้มเป็นอย่างไร