ข่าวการเงิน - การลงทุน

03 August 2008

The Diamond Model

The Diamond Model

ในการวางกลยุทธ์การแข่งขันข้ามพรมแดนต้องคำนึงถึง (1) ปัจจัยด้านที่ตั้ง (Location) และ (2) ความได้เปรียบในการแข่งขันที่เป็นผลจากความร่วมมือข้ามพรมแดนหรือ Global Networks โดยมีเครื่องมือที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบของ Location ที่มีต่อความสามารถในการแข่งขันคือ Diamond Model ซึ่งแบ่งการวิเคราะห์ทั้งปัจจัยที่เป็นบวกและลบออกเป็น 4 ด้านหลัก ได้แก่ (1) ปัจจัยและเงื่อนไขที่เป็น Input ของการพัฒนาอุตสาหกรรม (Factor Conditions) ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน เงินทุน ระบบสาธารณูปโภค, (2) อุปสงค์ของสินค้า/บริการ (Demand Conditions), (3) อุตสาหกรรมที่สนับสนุนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และ (4) กลยุทธ์ของบริษัท โครงสร้างอุตสาหกรรม และคู่แข่ง และมีปัจจัยภายนอกเพิ่มเติมอีก 2 ปัจจัย คือ การเปลี่ยนแปลงในอนาคต และกฎระเบียบและนโยบายของรัฐที่เกี่ยวโยงกับองค์ประกอบหลักทั้งสี่ด้าน


ตัวอย่าง
ใน Diamond Model ที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งได้แก่ (1) เงื่อนไขปัจจัยการผลิต (2) อุตสาหกรรมเชื่อมโยงและสนับสนุน (3) เงื่อนไขด้านอุปสงค์ และ (4) บริบทของการแข่งขันและกลยุทธ์ทางธุรกิจ

จากการศึกษาแบบ Top-down จากบนสู่ล่าง และ Bottom-up Approach กระบวนจากล่างขึ้นบน คณะทำงานได้พบประเด็นสำคัญ ที่ส่งผลกระทบทั้งในการสนับสนุน และเป็นอุปสรรค ต่อการสร้างความสามารถ ในการแข่งขันของไทย ซึ่งเป็นประเด็นพื้นฐานทั่วไป ที่พบทั้งในระดับของการศึกษาจากภาพรวม และจากการศึกษาระดับอุตสาหกรรม 5 อุตสาหกรรม ที่นำมาเป็นกรณีศึกษาในครั้งนี้ สรุปได้ดังนี้

1) ด้านเงื่อนไขปัจจัยการผลิต
๐ ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะมี Bio-diversity สูง และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสวยงาม แต่เริ่มมีปัญหาการเสื่อมโทรมลง
๐ โครงสร้างพื้นฐานโดยทั่วไปอยู่ในระดับดี โดยเฉพาะถนน แต่ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ICT) ยังมีปัญหาด้านการกระจุกตัว ของเครือข่ายในเขตเมือง และราคาบริการที่สูง
๐ การศึกษา และคุณภาพของแรงงานไทยโดยทั่วไปต่ำ การผลิตแรงงาน ที่มีความสามารถเฉพาะ/ขั้นสูง ยังมีจำกัด และด้อยคุณภาพ และไม่สอดคล้อง กับความต้องการของอุตสาหกรรม
๐ ความสามารถทางเทคโนโลยีของธุรกิจไทย อยู่ในระดับต่ำ การวิจัยและพัฒนา (R&D) ยังใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้น้อย และมีปัญหาเรื่องกลไก และระบบการบริหารจัดการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
๐ ตลาดทุนยังอ่อนแอ ทำให้เอกชนส่วนใหญ่พึ่งพาตลาดเงิน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินที่สูงของธุรกิจ

2) อุตสาหกรรมเชื่อมโยงและสนับสนุน
๐ การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นการเชื่อมโยงเชิงกิจกรรม ในห่วงโซ่อุปทานตลอดสาย ของอุตสาหกรรมต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ แต่ในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมอาหาร ยังคงมีปัญหาของการเชื่อมโยงเชิงกิจกรรม ในทุกช่วงของห่วงโซ่อุปทาน
๐ ส่วนการเชื่อมโยงในเชิงความร่วมมือในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster) ก็ยังมีปัญหามาก ซึ่งพบได้ในอุตสาหกรรมทั้ง 5 กลุ่มที่ได้ศึกษา เนื่องจากการขาดกลไก ที่จะผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ
๐ สถาบันเพื่อความร่วมมือของกลุ่มอุตสาหกรรม ได้มีการจัดตั้งอยู่บ้างแล้ว เช่น การรวมกลุ่มของธุรกิจ เป็นสมาคมการค้าต่างๆ แต่ส่วนใหญ่เน้นทำกิจกรรมวิ่งเต้น และเจรจาต่อรอง เพื่อผลประโยชน์ มากกว่าจะสนับสนุน การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม ให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ส่วนสถาบันเฉพาะทางสำหรับแต่ละอุตสาหกรรมยังคงอ่อนแอ และขาดศักยภาพ ที่จะเป็นแกนกลางในการสร้างความร่วมมือ ของอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หลายสถาบันได้มีการริเริ่มกิจกรรมต่างๆ ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจให้กับสมาชิก รวมทั้งหลายแห่งได้มีการริเริ่มกิจกรรม การแลกเปลี่ยนข้อมูล การสร้างเครือข่ายธุรกิจ รวมทั้งประสานความร่วมมือ ระหว่างสถาบันการศึกษากับธุรกิจ ซึ่งจะเป็นรากฐาสำคัญของการพัฒนา และสร้างความเข้มแข็ง ให้กับเครือข่ายวิสาหกิจบ้างแล้ว

3) เงื่อนไขด้านอุปสงค์
๐ อุปสงค์ภายในประเทศของผู้บริโภคทั่วไป ยังคงมีความพิถีพิถันน้อย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพ และมาตรฐานสินค้า และบริการเท่าที่ควร เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ มีการศึกษาน้อย และมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่ประนีประนอมสูง
๐ ปัจจัยผลักดันให้ธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพ และมาตรฐาน ส่วนใหญ่มาจากอุปสงค์ของต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เป็นปัจจัย ที่ก่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน เนื่องจากการพัฒนามาตรฐาน และคุณภาพได้ตามระดับสากลนั้น เป็นลักษณะที่ประเทศอื่นๆ สามารถที่จะเลียนแบบ และพัฒนาจนมีระดับเท่าเทียมกันได้
๐ มีจุดแข็งของอุปสงค์ภายในประเทศ ที่มีลักษณะเฉพาะในบางสินค้า เช่น รถปิกอัพ ซึ่งมีความพิถีพิถันสูง และมีศักยภาพ ในระดับที่ชี้นำอุปสงค์ของโลกได้
๐ อุปสงค์จากภาครัฐในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่ของอุตสาหกรรม ยังขาดความพิถีพิถัน มุ่งเน้นราคาต่ำมากกว่าคุณภาพ จึงไม่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพ หรือผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น

4) สภาพแวดล้อมการแข่งขันและกลยุทธ์ธุรกิจ
๐ ระดับการเปิดกว้างต่อการแข่งขัน และการลงทุนจากต่างประเทศ มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจมีการแข่งขันกันมาก และผลิตภาพของธุรกิจสูงขึ้น
๐ การเปิดเสรียังล่าช้า อัตราภาษียังสูง ซับซ้อน และไม่สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของแต่ละอุตสาหกรรม
๐ การบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้ายังมีปัญหา และไม่เอื้อต่อการสร้างบรรยากาศในการแข่งขันที่เป็นธรรม
๐ กลไกราชการขาดประสิทธิภาพ มีปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งก่อให้เกิดภาระต้นทุนแก่ธุรกิจ ๐ บริษัทส่วนใหญ่แข่งขันบนพื้นฐานปัจจัยการผลิตราคาถูก และการตัดราคา และมีการลงทุน เพื่อการพัฒนาความสามารถ ในการแข่งขันในระยะยาวน้อย

0 Comments: