ข่าวการเงิน - การลงทุน

26 July 2008

นโยบายการเมือง คลัง พาณิชย์ ธปท. และกนง.

การเมืองกับหุ้น

เรื่องการเมืองหรือนักการเมืองกับหุ้นหรือตลาดหุ้นนั้น คนจำนวนมากเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันสูงมาก มองในภาพใหญ่ คนมักจะเชื่อว่า รัฐบาลหรือนักการเมืองสามารถที่จะทำให้หุ้นดีหรือไม่ดีได้ รัฐบาลหนึ่งมาจะทำให้เศรษฐกิจดีดังนั้นหุ้นจะต้องดี รัฐบาลอีกชุดหนึ่งมา ฝีมือในการบริหารแย่ เศรษฐกิจแย่ หุ้นจะตกต่ำ พูดง่าย ๆ คนเชื่อว่ารัฐบาลมีส่วนอย่างมหาศาลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและดังนั้นต่อดัชนีหุ้น

นั่นคือความเชื่อของคนจำนวนมากซึ่งผมไม่ใคร่จะเชื่อ ผมรู้แต่เพียงว่า:
1) ถ้าเศรษฐกิจในปีนี้ดี หุ้นดี นักการเมืองจะรีบออกมาคุยว่าทั้งหมดนี้คือฝีมือและผลงานของรัฐบาลและเห็นไหมว่าดัชนีหุ้นขึ้นไปเท่าไร? โดยที่อาจจะไม่ได้พูดด้วยว่าที่จริงต่างประเทศเขาก็ดีไม่แพ้กัน แต่ถ้าดีเฉพาะประเทศไทย การคุยก็จะดังขึ้นเป็นสองเท่า
2) ถ้าเศรษฐกิจแย่ นักการเมืองจะดูว่าต่างประเทศในย่านเดียวกันหรือประเทศที่เกี่ยวข้องเช่นอเมริกาหรือยุโรปแย่ด้วยไหม ถ้าใช่ เขาก็จะบอกว่าเรื่องเศรษฐกิจแย่นั้น “เป็นไปตามภาวะ” และของเรายังดีกว่าคนอื่นเพราะรัฐบาลไม่ได้อยู่เฉย ๆ
3) ถ้าเศรษฐกิจแย่ในขณะที่เพื่อนบ้านต่างประเทศดูเหมือนจะดีกว่า นักการเมืองก็จะไม่พูดถึงเรื่องของประเทศอื่น แต่จะบอกว่า มันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดแบบนั้น แต่รัฐบาลเห็นปัญหาและกำลังแก้ไข ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไร เศรษฐกิจจะแย่กว่านี้มาก และรับรองว่าด้วยฝีมือของรัฐบาล เศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เพื่อที่จะบอกว่า ความเก่งไม่เก่งของนักการเมืองที่บริหารเศรษฐกิจนั้น ส่วนใหญ่แล้วน่าจะเป็นเรื่องของภาพพจน์ แต่เรื่องจริงว่าใครเก่งหรือไม่เก่งนั้นเป็นเรื่องที่ดูยากมาก ว่าที่จริง คนบริหารเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นนักการเมืองนั้น อาจจะไม่มีผลอะไรเลยก็ได้ เพราะเศรษฐกิจของประเทศนั้นประกอบไปด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนทั้งประเทศ รัฐบาลเองเป็นเพียงอีกคนหนึ่งที่ใช้จ่ายเงิน ซึ่งคิดเป็นเพียงไม่เกิน 20% ของการใช้จ่ายทั้งหมด และการใช้จ่ายของรัฐบาลนั้นจริง ๆ จะมากหรือน้อยส่วนใหญ่ก็มาจากภาษีซึ่งก็เกิดจากกิจกรรมของชาวบ้าน ดังนั้น เอาเข้าจริง ๆ แล้วรัฐบาลมีอิทธิพลต่อภาวะเศรษฐกิจไม่มาก การกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะทำได้บ้างโดยการกู้เงินมาใช้จ่ายเพิ่ม แต่นี่คงไม่ทำให้ภาพรวมใหญ่ ๆ ของเศรษฐกิจในแต่ละปีเปลี่ยนแปลงไปมากนัก ข้อสรุปของผมก็คือ เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ตลาดหุ้นจะดีหรือไม่ดี ไม่ค่อยเกี่ยวกับนักการเมือง หรือรัฐบาล

รัฐบาลที่จะทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นดีในระยะยาวไม่ควรจะเป็น “ฮีโร่” ทางเศรษฐกิจในสายตาชาวบ้านทั่วไป แต่ควรเป็นผู้กำหนดกติกาที่ดีและให้ทุกคนปฎิบัติตามกติกาอย่างเคร่งครัด ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ รัฐบาลที่ผมชอบควรจะเป็นกรรมการตัดสินที่ดี แทนที่จะพยายามลงสนามในฐานะผู้เล่นกองหน้าของทีมฟุตบอล


นโยบายการคลัง

นโยบายการคลังเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการเก็บภาษีอากร การตัดสินใจในการใช้จ่ายของรัฐบาลและการตัดสินใจเกี่ยวกับหนี้สาธารณะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินด้วย การตัดสินใจของรัฐ เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระดับอุปสงค์รวม เช่น ระดับราคาสินค้า อัตราดอกเบี้ย ระดับรายได้ประชาชาติ ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ประชาชาติ ดุลการชำระเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน

บทบาทของนโยบายการคลัง

1. บทบาททางด้านการจัดสรร จะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจจัดสรรทรัพยากรของรัฐบาล เพื่อใช้ผลิตสินค้าสาธารณะ ( Public Goods ) และ สินค้าเอกชน ( PrivateGoods ) เนื่องจากประเทศมีทรัพยากรในการผลิตและบริการที่จำกัด เพราะฉะนั้นรัฐจึงต้องจัดสรรทรัพยากรเพื่อการผลิตสินค้าเหล่านี้อย่างเหมาะสม นโยบายการคลังยังมีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบภายนอก ซึ่งก็คือ ผลประโยชน์ที่ตกแก่สังคมนั่นเอง
2.บทบาททางด้านการกระจาย การตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องของการจัดเก็บภาษี และนำมาใช้จ่ายเป็นเงินโอน (Transfer Payment )เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้พิการ เด็ก และคนสูงอายุ ให้มีระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงเท่ากับเป็นการโอนอำนาจซื้อจากประชาชนผู้มีความสามารถเสียภาษีไปให้แก่ประชาชนผู้ยากจนต่างๆ ซึ่งช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ของบุคคลต่างๆในสังคมให้มีความเท่าเทียมกัน
3. บทบาททางด้านการรักษาเสถียรภาพ การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจควรเป็นนโยบายที่ผู้วางนโยบายได้กำหนดไว้อย่างเหมาะสมในการกระตุ้นอุปสงค์รวมในเวลาที่อุปสงค์รวมของประเทศมีต่ำเกินไป หรือลดอุปสงค์รวมของประเทศในยามที่อุปสงค์รวมมีมากเกินไป

1.1 นโยบายการคลังกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ
ภาวะเศรษฐกิจตำต่ำบางครั้งเรียกว่าการเกิดภาวะเงินฝืด คือภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการลดลง อุปสงค์รวมต่อสินค้าและบริการมีน้อยกว่าอุปทานรวม
การแก้ไขภาวะเงินฝืดหรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมักกระทำโดยการเพิ่มอุปสงค์รวมหรือการทำให้มีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นได้แก่
- การใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค
- การใช้จ่ายลงทุน (Invesment)
- การใช้จ่ายของรัฐบาล (Government expenditure)
1) การเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล ควรเป็นการใช้จ่ายในโครงการใดโครงการหนึ่งที่
สามารถเริ่มดำเนินการได้เร็ว และสิ้นสุดได้เร็ว เพื่อช่วยให้คนมีงานทำได้เร็ว
2) การลดอัตราภาษีอากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดอัตราภาษีทางอ้อมที่มีผลสามารถกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคมากขึ้น

1.2 นโยบายการคลังกับปัญหาเงินเฟ้อ
กรณีเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงดันของต้นทุน (Cost push inflation)
หมายถึงการที่ระดับราคา (Price level) สูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รัฐบาลอาจแก้ไขโดยการลดอัตราภาษีสำหรับวัตถุดิบ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการหรืออาจลดอัตราภาษีแก่สินค้าสำเร็จรูปก็ได้

กรณีการเกิดภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงดึงของอุปสงค์ (Demand pull inflation)
มาตรการทางการคลังที่จะช่วยแก้ไขหรือบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ โดยจะมีผลต่อการลดการใช้จ่ายหรือโดยการลดอุปสงค์รวมได้แก่
1) ลดการใช้จ่ายของภาครัฐบาล (Government expenditure) โดยการลดการใช้จ่ายด้านการลงทุนต่าง ๆ ของรัฐบาลลง
2) การเพิ่มภาษีอากร (Taxation) โดยอาจเพิ่มทั้งภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม ในทางปฏิบัติการเพิ่มภาษี การเพิ่มอัตราภาษีมีผลทำให้ราคาสูงขึ้น โดยทั่วไปผู้บริโภคก็จะลดการบริโภคลง

1.3) นโยบายการคลังกับปัญหาการว่างงาน (Unemployment)
การว่างงานมีหลายลักษณะ เช่น การว่างที่เกิดจากภาวะเงินฝืด ,ตามฤดูกาล ,จากการใช้เครื่องจักรแทนคน ,จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการว่างงานแอบแฝง
แต่สาเหตุหลักจริงๆการว่าจ้างแรงงานถูกกำหนด โดยอุปสงค์รวม (Aggregate demand) และอุปทานรวม (Aggregate supply) ในการแก้ไขปัญหาการว่างงานจึงต้องพยายามเพิ่มอุปสงค์รวม โดยพยายามเพิ่มการใช้จ่ายอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายในการลงทุน และการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งอาจจะกระทำได้โดยผ่านทางนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ดังนี้
1) เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลให้กับโครงการในลักษณะ ดังนี้
- การจ่ายเงินประกันการว่างงาน
- การจ่ายเงินสงเคราะห์
- การเพิ่มการลงทุนของรัฐ เช่น การสร้างถนน
2) การลดภาษีอากร โดยพิจารณาได้ ดังนี้
- การลดภาษีการค้าหรือภาษีการขาย เพื่อกระตุ้นการบริโภค
- การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อจูงใจให้นักธุรกิจลงเพิ่มมากขึ้น
- การลดภาษีสินค้าบุคคลธรรมดา เช่น บุคคลที่มีรายได้ต่ำเพื่อกระตุ้นการบริโภค

1.4 นโยบายการคลังกับปัญหาดุลการชำระเงิน
การดำเนินนโยบายการคลังในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า
1) ด้านสินค้าออก โดยสนับสนุนการส่งออกเพิ่มขึ้น ดังนี้
- ลดต้นทุนสินค้าส่งออก โดย การคืนอากรวัตถุดิบ และการชดเชยภาษีอากร
- ราคาสินค้าส่งออก โดย การลด/หรือยกเว้นอากรขาออกสำหรับสินค้าส่งออกเป็นการสนับสนุนให้สามารถขายสินค้าได้ถูกลง
2) ด้านสินค้าเข้า ลดการนำเข้าโดยดำเนินมาตรการด้านภาษีอากรในลักษณะต่างๆ ดังนี้
- เพิ่มต้นทุนการนำเข้า โดยการเพิ่มอัตราภาษีขาเข้าวัตถุดิบและสินค้าชั้นกลางเพื่อลดประมาณการนำเข้าสินค้า และเพื่อเป็นการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผลิตวัตถุดิบและสินค้าชั้นกลาง
- ราคาสินค้านำเข้า เพิ่มอัตราภาษีขาเข้าให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพงควรจัดเก็บในอัตราสูง เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงภาระภาษีและลดการนำเข้า

1.5 นโยบายการคลังกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ประเทศที่กำลังพัฒนาโดยส่วนใหญ่จึงมีการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลเสมอ เนื่องจากรายได้ของประชาชนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นเรื่องที่เกินกว่ากำลังความสามารถของภาคเอกชนที่จะสามารถอาศัยกลไกของตลาดในการแก้ปัญหาและเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเข้ามามีส่วนในการร่วมวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและพยายามเร่งอัตราการลงทุนให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ โดยอาจกำหนดเป็นนโยบายและมาตรการทางการคลังดังนี้ เช่น
1. เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐในโครงการที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยการจัดลำดับโครงการที่มีผลต่อการพัฒนา
เศรษฐกิจให้มากที่สุด
2. การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิตและเพื่อจูงใจให้มีการพัฒนาเฉพาะด้านเช่น การยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ภาษีเงินปันผล การเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยในอัตราสูง เป็นต้น


นโยบายกระทรวงพาณิชย์

กระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce) เป็นกระทรวงหนึ่งของประเทศไทยที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา

บทบาทหน้าที่หลัก
1. ภารกิจด้านในประเทศ มีหน้าที่ดูแลราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร ดูแลผู้บริโภคภายใต้กรอบกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้งการค้าสินค้าและธุรกิจบริการ รวมทั้งธุรกิจประกันภัย และคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา
2. ภารกิจด้านต่างประเทศ มีหน้าที่เจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยการเจรจาภายใต้กรอบ WTO FTA อนุภูมิภาค ภูมิภาค ฯลฯ จัดระเบียบและบริหารการนำเข้าส่งออก รวมทั้งการขายข้าวรัฐต่อรัฐ การค้ามันสำปะหลัง สินค้าข้อตกลงต่างๆ แก้ไขปัญหา และรักษาผลประโยชน์ทางการค้า เช่น การดูแลเรื่อง GSP การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ส่งเสริมและเร่งรัดการส่งออก



ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

หน้าที่ของ ธปท. คือนำเครื่องนโยบายการเงินมาใช้ในการแก้ไขปัญหา เพื่อควบคุมปริมาณเงินในระบบให้สมดุล และส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะยาว

นโยบายการเงิน

หามาตรการหรือเครื่องมือทางการเงินมาจัดการปริมาณเงิน(MS)ของประเทศให้เหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจประเทศ ธนาคารกลางและธปท.จะกำหนดมาตรการและเครื่องมือการเงินต่างๆเพื่อควบคุมปริมาณเงินให้สมดุลให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินและสอดคล้องกับเป้าหมายเศรษฐกิจประเทศ
เป้านโยบายเศรษฐกิจมีหลายประการ

ในการดำเนินนโยบายการเงินจะตั้งเป้านโยบายการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายเศรษฐกิจเพียงประเด็นเดียว คือ “การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ”(การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก)

การดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพภายในประเทศ
1. การรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมด้วยการตั้งเป้าเงินเฟ้อ (Inflation Target)
2. เปิดเผยข้อมูลทางการเงินและพยากรณ์ GDP ตามสภาวะเศรษฐกิจ

เครื่องมือนโยบายการเงินเพื่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอก
1. รักษาระดับทุนสำรองระหว่างประเทศให้เหมาะสม
2. รักษาดุลการชำระเงินให้สมดุล
3. รักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ



คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งรับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ ธปท. อย่างใกล้ชิดในการติดตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ การกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของ กนง. จะพิจารณาจากข้อมูลต่างๆที่ ธปท. นำเสนอให้ทราบ จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวไปกลั่นกรองพิจารณาในที่ประชุม เพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายการเงินต่อไป

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน

อำนาจหน้าที่ของ กนง. ระบุไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย ดังนี้

1. กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศ โดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
2. กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
3. กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายตาม (1) และ (2)
4. ติดตามการดำเนินมาตรการของ ธปท. ตาม (3) ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ พ.ร.บ. ธปท. ฉบับใหม่กำหนดให้ กนง. จัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินของปีถัดไปภายในเดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อเป็นแนวทางให้แก่รัฐและ ธปท. ในการดำเนินการ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคา โดยทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและให้รัฐมนตรีเสนอเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ได้ทำความตกลงร่วมนั้นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ และ กนง. มีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกหกเดือน

สรุปนโยบายการเงิน
นโยบายการเงินมีวัตถุประสงค์หลักนอกจากรักษาเสถียรภาพของราคาแล้ว ก็ยังต้องคำนึงถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วย เศรษฐกิจขยายตัวได้จะต้องอาศัยแรงจูงใจ จากกำไรที่ได้จากราคาของสินค้าที่สูงขึ้น ฉะนั้น ศิลปะของนายธนาคารกลางจึงต้องดูว่า จะสร้างสมดุลระหว่างการขยายตัวของเศรษฐกิจกับความมั่นคงของระดับราคาได้อย่างไรจึงจะมีความพอดี และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว
ในทางปฏิบัตินี้ หากธนาคารกลางต้องการทำนโยบายการเงินแบบกระตุ้นเศรษฐกิจ (ลดดอกเบี้ย) ไม่สู้ยากนัก เพราะทุกคนจะตอบรับเศรษฐกิจขยายตัว ต้นทุนกู้ยืมลดลง ตลาดหุ้นขานรับ การบริโภคขยายตัว ถ้าหากต้องการคะแนน Popular Vote ธนาคารกลางก็ต้องลดดอกเบี้ยมากๆ ผมเอง ในฐานะผู้กู้เงินก็อยากให้ดอกเบี้ยถูกๆ
แต่ความยากอยู่ตรงที่ในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวมากจนอาจก่อให้เกิด หรือนำมาซึ่งความไม่สมดุล (ความต้องการมากกว่าความสามารถในการผลิต) ผมขีดเส้นใต้คำว่า "อาจ" เพราะนโยบายการเงิน จะรอให้เศรษฐกิจขาดความสมดุลก่อนแล้วดำเนินนโยบายตามก็ช้าเกินไป นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า โรคกลัวเงินเฟ้อ คือ อาการที่ทุกคนคิดว่าของจะแพง เมื่อทุกคนคิดเหมือนกัน ก็หันไปซื้อของเก็บไว้ ผลก็คือ ทำให้ของราคาแพงขึ้นและเกิดเงินเฟ้อตามมาจริงๆ
การดำเนินนโยบายการเงินจึงต้องป้องกัน ต้องทันกาลและมิให้ประชาชนคาดการณ์เช่นนั้นด้วย จึงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความเข้าใจ และทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่า ในยามที่เขามีรายได้ มีโบนัสมาก หุ้นขึ้นทุกวัน ราคาที่ดินปรับขึ้นทุกปีนั้น การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดโดยการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติเป็นเรื่องที่ถูกต้อง มันยากจริงๆ ครับ
นี่กระมัง เป็นเหตุว่าทำในประเทศสากลอื่นทั่วโลก จึงต้องมีกฎหมายให้ความอิสระแก่ธนาคารกลาง ในการใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน (Operational Independence) ทั้งนี้ อิสระในการดำเนินนโยบายดังกล่าว ต้องควบคู่กับความรับผิดชอบ ที่จะต้องดูแลให้เงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมาย ที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และรายได้ของประชาชนในระยะยาวด้วย

0 Comments: