ข่าวการเงิน - การลงทุน

26 July 2008

ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจสหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ

เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่แสดงการเจริญเติบโต ถดถอย หรือชี้ให้เห็นภาคการลงทุนภายในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเราจำเป็นต้องติดตามอัพเดตข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์หาผลกระทบกับประเทศไทย รวมถึงตลาดหุ้นไทย

• ดุลบัญชีเดินสะพัด โดย กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ
• ผลสำรวจภาคการผลิต โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ
• ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย โดยสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติสหรัฐฯ
• ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และ การขออนุญาตก่อสร้าง โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ
• ตัวเลขสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ
• จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐ
• จีดีพี (GDP) โดย กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ
• ดัชนีการผลิตทั่วประเทศ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ
• ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ โดย Conference Board
• ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจ โดย ธนาคารกลางสหรัฐฯ
• รายได้ส่วนบุคคล โดยกระทรวงพาณิชย์
• ดัชนีความเชื่อมั่นขั้นสุดท้าย โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน
• ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI และ CPI พื้นฐาน โดย ธนาคารกลางสหรัฐฯ
• ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิต โดยกระทรวงพาณิชย์

ปัจจัยชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย
อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และอัตราการใช้จ่ายผู้บริโภคลดลง รวมถึงตัวเลข จีดีพี สหรัฐลดลง และการจ้างงานของบริษัทต่างๆ ที่ลดลง เห็นได้ชัดว่าการลงทุนภายในประเทศสหรัฐฯลดลง สิ้นค้าแพงขึ้น คนว่างงานมากขึ้น การใช้จ่ายเงินของคนสหรัฐฯลดลง ส่งผลให้การนำเข้าลดลง

การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยแบบนี้ กระทบกับเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านการส่งออก และค่าเงินบาท การส่งออกลดลงเนื่องจากสหรัฐฯเป็นประเทศนำเข้าสินค้าจากเอเชียมากที่สุด ดังนั้นดุลการค้าลดลงเรื่อยๆ จนขาดดุลในที่สุด

ภาวะแบบนี้จะคลี่คลายได้ก็ต่อเมื่อมีนโยบายของสหรัฐฯใหม่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น Fed ทำการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุน ขยายการจ้างงานในภาครัฐ เป็นต้น

ปัจจัยชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ช่วงเจริญรุ่งเรือง
ทั้งนี้ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญๆ โดยนอกเหนือจากจีดีพี ยังรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงเล็กน้อย 1-2% และอัตราการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งมีสัดส่วนสูงขึ้น 40-70% ในจีดีพีสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1-2% ขณะที่ การจ้างงานของบริษัทต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น และอาจนับรวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้นทำให้ค่าเงินดอลล่าแข็งขึ้นอย่างมาก

ภาวะแบบนี้จะส่งผลดีกับประเทศไทยในภาคการส่งออก การเติบโตของสหรัฐฯทำให้ต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมากเช่น ผลผลิตทางการเกษตร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น แม้อาจจะพบสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากการที่นักลงทุนถอนเงินกลับไปลงทุนที่ประเทศของตนเองบ้างก็ตาม

เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มอิ่มตัว อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯจะสูงขึ้น ทาง Fed ก็จะทำการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดการลงทุน ลดภาวะเงินเงินเฟื้อ เป็นต้น

ราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมัน

ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน
เป็นเชื้อเพลิงที่มีความต้องการใช้สูงกว่าพลังงานชนิดอื่น ๆ จึงมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทั้งยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างไรก็ดี “น้ำมันดิบ” จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเมื่อผ่านกระบวนการผลิตที่แยกส่วนออกเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (Petroleum Products) หลายชนิดซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะแตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และน้ำมันเตา ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ราคาน้ำมันดิบแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไปตามคุณภาพของน้ำมันชนิดนั้น เช่น น้ำมันดิบชนิดหนัก/เบา (Heavy/Light Crude)


เมื่อผ่านกระบวนการกลั่นแล้วให้ชนิดน้ำมันสำเร็จรูปตรงตามความต้องการของตลาด อาทิ เบนซิน หรือดีเซลในปริมาณมากน้อยต่างกัน นอกจากนั้น น้ำมันดิบที่มีปริมาณกำมะถันสูง/ต่ำ (Sour/Sweet Crude)จะมีราคาซื้อขายที่แตกต่างกันการคาดการณ์หรือพยากรณ์ระดับราคาน้ำมันในอนาคตเป็นสิ่งที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะน้ำมัน เป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ทั่วโลก และสามารถทำให้คุณภาพเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ได้หลากหลายแตกต่างกับสินค้าอื่นๆ มาก เนื่องจากตลาดน้ำมันส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมระดับภูมิภาคที่เกิดจากหลายประเทศรวมกัน และเกิดจากการปฏิบัติของคนหลายกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์และสภาพแวดล้อมต่างกัน จึงมีปัจจัยหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์แนวโน้มของราคาน้ำมันนั้น สามารถวิเคราะห์ได้ทั้งในระดับภูมิภาค (Regional Area) และระดับโลก (Global)

ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน

1. ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Factor)
ปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ อุปสงค์และอุปทาน (Demand/Supply) เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ อุปสงค์และอุปทานของน้ำมันแต่ละชนิดจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะและเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อใดที่อุปสงค์/อุปทานไม่มีสมดุล (ไม่เท่าเทียมกัน) ก็จะกระทบต่อราคาได้ เช่นอุปสงค์มากกว่าอุปทาน (ความต้องการใช้มากกว่าปริมาณที่ผลิตได้) ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น สิ่งที่ทำให้อุปสงค์และอุปทานขาดสมดุล ได้แก่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันเมื่อใดที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในชีวิตประจำวันและความต้องการใช้เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจะขยายตัวสูงขึ้น ถ้าโลกไม่สามารถผลิตได้ทันความต้องการก็จะส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันสูงขึ้น ในทางกลับกันราคาน้ำมันอาจลดลง เมื่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำเพราะมีน้ำมันมากกว่าความต้องการของตลาด ทั้งนี้จักต้อง




พิจารณาอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในทุกภูมิภาค

สภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนฤดูกาลก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันและการผลิตน้ำมันขาดสมดุล (ไม่เท่าเทียมกัน) โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภค อาทิ ในบริเวณยุโรป และสหรัฐอเมริกาจะมีความต้องการใช้น้ำมันเปลี่ยนไปตามฤดูกาลอย่างเห็นได้ชัด

ดังจะเห็นได้จากในช่วงฤดูหนาว ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่น (Heating Oil) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา จะมีปริมาณมากกว่าน้ำมันประเภทอื่น ทั้งนี้ การสำรองน้ำมันประเภทนี้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี เพื่อเตรียมรับปริมาณการใช้ในฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงต้นปี ทำให้ราคาน้ำมันเริ่มทยอยสูงขึ้นในช่วงดังกล่าว และยิ่งไปกว่านั้นหากสภาพอุณหภูมิในฤดูหนาวนั้นมีความหนาวเย็นรุนแรงกว่าปกติก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความต้องการน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ผู้ใช้เกิดความกลัวว่าจะไม่มีน้ำมันเพียงพอจึงเข้ามาซื้อเก็บไว้มาก ก่อให้เกิดอุปสงค์มากกว่าอุปทานอันส่งผลต่อราคาด้วยเช่นกันในขณะที่ช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นฤดูแห่งการเดินทางท่องเที่ยวของประเทศในตะวันตก และเริ่มในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี คือตั้งแต่ราวกรกฎาคมนั้น ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินก็จะสูงกว่าน้ำมันประเภทอื่น

ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 กล่าวโดยสรุป สภาวะอากาศเป็นปัจจัยพื้นฐานอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อสมดุลของอุปสงค์/อุปทาน (Demand/Supply) ซึ่งมีผลโดยตรงต่อราคาน้ำมัน

กำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน หากมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการผลิตน้ำมันที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้ ย่อมส่งผลกระทบต่อระดับราคาน้ำมันอย่างแน่นอน ดังเช่นวิกฤตการณ์น้ำมันโลกที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองและสามารถผลิตน้ำมันได้ในระดับสูงจึงมีอำนาจในการเจรจาต่อรองราคา ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตน้ำมันที่ว่านี้หมายถึงองค์การประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าออกหรือกลุ่มโอเปก (Organization of Petroleum Exporting Countries) ซึ่งปัจจุบันมี 11 ประเทศได้แก่ แอลจีเรีย อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก คูเวต ลิเบีย ไนจีเรีย กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวเนซุเอลา โดยกลุ่มโอเปกสามารถควบคุมและบริหารปริมาณการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ หากประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกผลิตน้ำมันมากหรือน้อยเกินไปก็ย่อมจะส่งผลถึงราคาน้ำมัน

ยกตัวอย่าง สถานการณ์การประท้วงของพนักงานที่ปฏิบัติงานที่แท่นขุดเจาะน้ำมันที่ประเทศไนจีเรียลุกลามและยืดเยื้อทำให้ปริมาณการผลิตลดลงส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

นโยบายของประเทศกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน
การกำหนดนโยบายของผู้ผลิตน้ำมันต่าง ๆ มีผลกระทบต่อสมดุลของอุปสงค์และอุปทานของตลาดน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น มติของกลุ่มโอเปกซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่และครอบครองปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลกที่ประกาศออกมาแต่ละครั้งย่อมมีอิทธิพลที่จะทำให้ระดับราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลง จึงเห็นได้ว่าการประชุมกลุ่มโอเปกในแต่ละครั้งจะได้รับความสนใจและเป็นข่าวสำคัญที่ต้องติดตามอย่างขาดเสียมิได้

ปริมาณน้ำมันสำรองของประเทศผู้บริโภครายสำคัญของโลก ตามปกติแล้วประเทศต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้น้ำมันสูงจะเก็บสำรองน้ำมันไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง ประเทศผู้บริโภคน้ำมันสูงมักจะเก็บสำรองน้ำมันในระดับที่เพียงพอใช้เท่านั้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย
ถ้าปริมาณสำรองน้ำมันมีมากเพียงพอ ความกังวลว่าอุปทานน้ำมันจะตึงตัวก็ลดลง ราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ในขณะเดียวกันหากความต้องการใช้น้ำมันของโลกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประมาณการไว้มากก็จะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำรองลดต่ำลง ทำให้ ผู้ใช้น้ำมันเข้ามาหาซื้อในตลาดมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานตึงตัว ราคาน้ำมันก็จะปรับสูงขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ ปริมาณสำรองน้ำมันของผู้บริโภครายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในทวีปยุโรปจึงเป็นเรื่องที่วงการธุรกิจน้ำมันให้ความสำคัญไม่น้อย

พลังงานทดแทน หากมีการค้นพบและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำพลังงานชนิดอื่น ๆ เช่นก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน นิวเคลียร์ ฯลฯ มาใช้ทดแทนน้ำมันได้มากขึ้น ในราคาที่แข่งขันได้ และสะดวกในการใช้งานของผู้บริโภค ความต้องการใช้และระดับราคาน้ำมันย่อมลดลง แต่ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถค้นคว้าหรือพัฒนาพลังงานประเภทอื่น ๆ มาใช้ทดแทนน้ำมันได้ ราคาน้ำมันก็ยังจะคงมีความผันผวนขึ้นลงตามอุปสงค์/อุปทานที่ยังขาดความสมดุล อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์น้ำมันโลกที่เกิดขึ้นทุกครั้งกระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนหันไปพัฒนาพลังงานชนิดอื่นขึ้นมาใช้ทดแทนน้ำมัน เมื่อใดก็ตามหากมีการพัฒนาพลังงานทดแทนน้ำมันได้เพียงพอและก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์ /อุปทาน เมื่อนั้นราคาน้ำมันจึงจะมีเสถียรภาพ


2. ปัจจัยทางความรู้สึกของผู้ซื้อขายในตลาดน้ำมัน (Sentimental Factor)
จากการที่ธรรมชาติของตลาดน้ำมันมีลักษณะเฉพาะซึ่งมักจะอ่อนไหวต่อกระแสข่าวต่าง ๆมากกว่าตลาดอื่น ความรู้สึกของผู้ซื้อขายในตลาดน้ำมันมักจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตอบรับกระแสข่าวต่างๆ อย่างรวดเร็วอยู่เสมอ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกในภูมิภาคหนึ่งมักจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะในสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น ภาวะสงคราม
ที่สำคัญ หากข่าวคราวดังกล่าวเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้น้ำมันรายสำคัญของโลก
โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ประเทศในกลุ่มทะเลเหนือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ฯลฯ มักจะมีผลกระทบต่อตลาดน้ำมันมากกว่าและรุนแรงกว่าข่าวคราวจากภูมิภาคอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ การติดตามสถานการณ์ข่าวความไม่สงบ การประท้วง การทำรัฐประหาร การลอบสังหารผู้นำทางการเมืองของประเทศสมาชิกโอเปก หรือมติขององค์การระหว่างประเทศที่มีผลต่อสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งเพราะล้วนมีผลต่อการขึ้นลงของราคาอันเนื่องจากความวิตกกังวล แม้ความจริงแล้วปริมาณการผลิตและส่งออกยังคงเป็นไปตามปกติ ไม่ได้ลดน้อยลงไปจากเดิมแต่อย่างใด


3. ปัจจัยทางเทคนิค (Technical Factor)
การซื้อขายในตลาดน้ำมันนั้น นอกจากผู้ค้าจะต้องติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐานของตลาดน้ำมันแล้ว ยังจำเป็นต้องอาศัยข้อมูล สถิติ รายงานค่าเฉลี่ยย้อนหลังของราคาน้ำมันมาประกอบการพิจารณาระดับราคาน้ำมันในปัจจุบัน ทั้งนี้ ข้อมูลทางสถิติดังกล่าวจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อขายน้ำมันและจะมีผลทางอ้อมต่อระดับราคาด้วย โดยเฉพาะในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า(Future Market) ซึ่งจะมีปริมาณการซื้อขายเกินกว่าปริมาณน้ำมันที่มีอยู่จริงในตลาด และส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายเพื่อเก็งกำไร สำหรับตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าใหญ่ๆ ปัจจุบันมีอยู่ 5 แห่งด้วยกันคือ NewYork Merchantile Exchange (NYMEX) ณ กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา, International PetroleumExchange (IPE) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, Singapore Monetary Exchange (SGX) ประเทศสิงคโปร์, Tokyo Commodity Exchange (TOCOM) ประเทศญี่ปุ่น และ Shanghai Futures Exchangeประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน


4. ปัจจัยอื่น ๆ (Miscellaneous Factor)
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
น้ำมันที่มีการซื้อขายกันระหว่างประเทศ มักจะกำหนดราคาเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ย่อมมีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน เพราะเมื่อใดที่เงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนตัวลง จะทำให้ราคาน้ำมันดิบที่นำเข้าประเทศและราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันต่างๆ ถูกลงเมื่อคิดเป็นเงินตราท้องถิ่น

แต่ถ้าคำนวณในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ ราคาน้ำมันจะสูงขึ้น เมื่อเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งขึ้นราคาน้ำมันก็จะลดลง นอกจากนี้ การที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ย่อมทำให้การเปรียบเทียบราคาน้ำมันในตลาดต่าง ๆเป็นไปด้วยความลำบากอย่างยิ่ง


สรุป
จะเห็นได้ว่าไม่มีใครสามารถกำหนดราคาน้ำมันล่วงหน้าได้ ทว่า......สามารถคาดการณ์แนวโน้มและทิศทางราคาน้ำมันได้ โดยพิจารณา วิเคราะห์จากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันย่อมผันแปรไปตามปัจจัยรายล้อมที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ด้วยเหตุนี้ ความเข้าใจในกลไกของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน จึงนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้สามารถวางแผนการใช้พลังงานได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์แนวโน้มของราคาน้ำมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องหลายประการ ระดับราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่กำหนดไว้ ณ วันที่ทำการวิเคราะห์ ดังนั้น การคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญแต่ละแห่งอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เชี่ยวชาญนั้น ๆ ว่าจะกำหนดสมมติฐานในการประมาณการไว้อย่างไร


ราคาน้ำมัน VS ราคาหุ้น

เรื่องหุ้นนิดนึงดีกว่า ว่าเหมือนหรือเกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันอย่างไรบ้าง น้ำมันนั้นถือเป็นต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมของเกือบทุกบริษัท มากน้อยตามโครงสร้างค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัท เช่น บริษัทขนส่งอย่างการบินไทย แน่นอนน้ำมันถือเป็นต้นทุนสำคัญที่สุดตัวหนึ่ง (สมมุติว่าประมาณสัก 20% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด) หรืออย่างบริษัทรับเหมาก่อสร้างก็เช่นเดียวกัน การก่อสร้างนั้นต้องมีการขนส่งเครื่องไม้เครื่องมือและการขนส่งต่างๆเยอะ น้ำมันก็ย่อมเป็นต้นทุนที่สำคัญอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน แล้วเราก็ลองสมมุติต่อว่า น้ำมันขึ้น 50% (เช่น ดีเซล ขึ้นจาก 12 บาทมาที่ 18 บาทต่อลิตร) นั้นหมายถึงต้นทุนน้ำมันของการบินไทยจะกลายเป็นสัดส่วนถึง 30% (20% x 1.50 = 30%) หรือหมายถึง กำไรสุทธิที่ลดลงถึง 10% (เอาแบบตัวเลขง่ายๆนะ) แต่ แต่อย่าพึงตกใจครับ การบินไทยก็อาจไปทำ fixed ราคาน้ำมันไว้ก่อนเพื่อให้ผลกระทบน้อยลง หรือไม่ก็เพิ่มค่าตั๋ว (เช่น surcharge ค่าน้ำมัน) มาเก็บกับผู้โดยสารเพื่อผลักภาระนี้ไป ทำให้ลดความรุนแรงของผลกระทบจากราคาน้ำมันได้บ้าง ส่วนของบริษัทก่อสร้างใหญ่ๆที่รัฐประมูลโครงการจากรัฐบาลนั้น แบบย่อๆคือว่า ถ้าต้นทุนสูงเกินกว่ากำหนดกันไว้ในสัญญา x.x% รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบแทนครับ ส่วนก่อสร้างรายเล็กๆก็ .... ตายกันเองครับ บริหารกันเอาเอง

นอกจากนี้ น้ำมันยังเป็นต้นทุนสำคัญทางอ้อมส่วนหนึ่งของบริษัทต่างๆอีกด้วย ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การผลิตกระแสไฟฟ้านั้นยังใช้เชื้อเพลิงที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (น้ำมันเตา) หรืออ้างอิงราคาจากราคาน้ำมัน เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ แปลว่าน้ำมันขึ้น ไฟฟ้าก็ขึ้นครับ ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ทุกคนใช้กันอยู่แล้ว ต้นทุนการผลิตของบริษัทและโรงงานต่างๆจึงสูงขึ้นตาม นอกจากนี้ เมื่อต้นทุนการดำเนินชีวิตจากการเติมน้ำมันหรือใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายที่น้อยลงของผู้บริโภค แล้วก็ส่งต่อมาถึงยอดขายและกำไรของบริษัทต่างๆในตลาดหลักทรัพย์ เห็นไหมว่าสุดท้ายแล้วมันเกี่ยวข้องกันหมดแหละ

แล้วราคาหุ้นในตลาดละ แน่นอนว่าการที่น้ำมันขึ้นมากๆก็ทำให้คนกลัวถึงผลประกอบการของบริษัทต่างๆในตลาด (จากต้นทุนที่สูงขึ้นและกำลังซื้อที่ลดลง) ทำให้นักเก็งกำไรกลัวและใช้เป็นข้ออ้างในการขายหุ้น โดยเฉพาะช่วงก่อน เมื่อหุ้นตก คนก็มักอ้างว่าเป็นเพราะน้ำมันขึ้น เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งให้คนที่ลงทุนในหุ้นหันมาสนใจราคาน้ำมันกัน เออ แล้วคิดต่อสิ ว่าถ้าราคาน้ำมันลงละ..... สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือหุ้นก็ตกอยู่ดีครับ เพราะว่าคนกลัวว่าน้ำมันลงทำให้หุ้นใหญ่ๆที่มีผลต่อการคำนวณ SET INDEX มากๆอย่าง ปตท. ปตทสผ. หรือ ไทยออยล์ จะลงทำให้ภาพรวมของ SET INDEX ลงครับ คนก็เลยยังขายกันต่อ ................. สรุปว่าน้ำมันขึ้นหุ้นลง น้ำมันลงหุ้นก็ลง ฮ่า ฮ่า คุ้นๆเหมือนเรื่องราคาน้ำมันในต่างประเทศไหม?

นโยบายการเมือง คลัง พาณิชย์ ธปท. และกนง.

การเมืองกับหุ้น

เรื่องการเมืองหรือนักการเมืองกับหุ้นหรือตลาดหุ้นนั้น คนจำนวนมากเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันสูงมาก มองในภาพใหญ่ คนมักจะเชื่อว่า รัฐบาลหรือนักการเมืองสามารถที่จะทำให้หุ้นดีหรือไม่ดีได้ รัฐบาลหนึ่งมาจะทำให้เศรษฐกิจดีดังนั้นหุ้นจะต้องดี รัฐบาลอีกชุดหนึ่งมา ฝีมือในการบริหารแย่ เศรษฐกิจแย่ หุ้นจะตกต่ำ พูดง่าย ๆ คนเชื่อว่ารัฐบาลมีส่วนอย่างมหาศาลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและดังนั้นต่อดัชนีหุ้น

นั่นคือความเชื่อของคนจำนวนมากซึ่งผมไม่ใคร่จะเชื่อ ผมรู้แต่เพียงว่า:
1) ถ้าเศรษฐกิจในปีนี้ดี หุ้นดี นักการเมืองจะรีบออกมาคุยว่าทั้งหมดนี้คือฝีมือและผลงานของรัฐบาลและเห็นไหมว่าดัชนีหุ้นขึ้นไปเท่าไร? โดยที่อาจจะไม่ได้พูดด้วยว่าที่จริงต่างประเทศเขาก็ดีไม่แพ้กัน แต่ถ้าดีเฉพาะประเทศไทย การคุยก็จะดังขึ้นเป็นสองเท่า
2) ถ้าเศรษฐกิจแย่ นักการเมืองจะดูว่าต่างประเทศในย่านเดียวกันหรือประเทศที่เกี่ยวข้องเช่นอเมริกาหรือยุโรปแย่ด้วยไหม ถ้าใช่ เขาก็จะบอกว่าเรื่องเศรษฐกิจแย่นั้น “เป็นไปตามภาวะ” และของเรายังดีกว่าคนอื่นเพราะรัฐบาลไม่ได้อยู่เฉย ๆ
3) ถ้าเศรษฐกิจแย่ในขณะที่เพื่อนบ้านต่างประเทศดูเหมือนจะดีกว่า นักการเมืองก็จะไม่พูดถึงเรื่องของประเทศอื่น แต่จะบอกว่า มันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดแบบนั้น แต่รัฐบาลเห็นปัญหาและกำลังแก้ไข ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไร เศรษฐกิจจะแย่กว่านี้มาก และรับรองว่าด้วยฝีมือของรัฐบาล เศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เพื่อที่จะบอกว่า ความเก่งไม่เก่งของนักการเมืองที่บริหารเศรษฐกิจนั้น ส่วนใหญ่แล้วน่าจะเป็นเรื่องของภาพพจน์ แต่เรื่องจริงว่าใครเก่งหรือไม่เก่งนั้นเป็นเรื่องที่ดูยากมาก ว่าที่จริง คนบริหารเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นนักการเมืองนั้น อาจจะไม่มีผลอะไรเลยก็ได้ เพราะเศรษฐกิจของประเทศนั้นประกอบไปด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนทั้งประเทศ รัฐบาลเองเป็นเพียงอีกคนหนึ่งที่ใช้จ่ายเงิน ซึ่งคิดเป็นเพียงไม่เกิน 20% ของการใช้จ่ายทั้งหมด และการใช้จ่ายของรัฐบาลนั้นจริง ๆ จะมากหรือน้อยส่วนใหญ่ก็มาจากภาษีซึ่งก็เกิดจากกิจกรรมของชาวบ้าน ดังนั้น เอาเข้าจริง ๆ แล้วรัฐบาลมีอิทธิพลต่อภาวะเศรษฐกิจไม่มาก การกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะทำได้บ้างโดยการกู้เงินมาใช้จ่ายเพิ่ม แต่นี่คงไม่ทำให้ภาพรวมใหญ่ ๆ ของเศรษฐกิจในแต่ละปีเปลี่ยนแปลงไปมากนัก ข้อสรุปของผมก็คือ เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ตลาดหุ้นจะดีหรือไม่ดี ไม่ค่อยเกี่ยวกับนักการเมือง หรือรัฐบาล

รัฐบาลที่จะทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นดีในระยะยาวไม่ควรจะเป็น “ฮีโร่” ทางเศรษฐกิจในสายตาชาวบ้านทั่วไป แต่ควรเป็นผู้กำหนดกติกาที่ดีและให้ทุกคนปฎิบัติตามกติกาอย่างเคร่งครัด ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ รัฐบาลที่ผมชอบควรจะเป็นกรรมการตัดสินที่ดี แทนที่จะพยายามลงสนามในฐานะผู้เล่นกองหน้าของทีมฟุตบอล


นโยบายการคลัง

นโยบายการคลังเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการเก็บภาษีอากร การตัดสินใจในการใช้จ่ายของรัฐบาลและการตัดสินใจเกี่ยวกับหนี้สาธารณะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินด้วย การตัดสินใจของรัฐ เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระดับอุปสงค์รวม เช่น ระดับราคาสินค้า อัตราดอกเบี้ย ระดับรายได้ประชาชาติ ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ประชาชาติ ดุลการชำระเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน

บทบาทของนโยบายการคลัง

1. บทบาททางด้านการจัดสรร จะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจจัดสรรทรัพยากรของรัฐบาล เพื่อใช้ผลิตสินค้าสาธารณะ ( Public Goods ) และ สินค้าเอกชน ( PrivateGoods ) เนื่องจากประเทศมีทรัพยากรในการผลิตและบริการที่จำกัด เพราะฉะนั้นรัฐจึงต้องจัดสรรทรัพยากรเพื่อการผลิตสินค้าเหล่านี้อย่างเหมาะสม นโยบายการคลังยังมีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบภายนอก ซึ่งก็คือ ผลประโยชน์ที่ตกแก่สังคมนั่นเอง
2.บทบาททางด้านการกระจาย การตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องของการจัดเก็บภาษี และนำมาใช้จ่ายเป็นเงินโอน (Transfer Payment )เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้พิการ เด็ก และคนสูงอายุ ให้มีระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงเท่ากับเป็นการโอนอำนาจซื้อจากประชาชนผู้มีความสามารถเสียภาษีไปให้แก่ประชาชนผู้ยากจนต่างๆ ซึ่งช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ของบุคคลต่างๆในสังคมให้มีความเท่าเทียมกัน
3. บทบาททางด้านการรักษาเสถียรภาพ การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจควรเป็นนโยบายที่ผู้วางนโยบายได้กำหนดไว้อย่างเหมาะสมในการกระตุ้นอุปสงค์รวมในเวลาที่อุปสงค์รวมของประเทศมีต่ำเกินไป หรือลดอุปสงค์รวมของประเทศในยามที่อุปสงค์รวมมีมากเกินไป

1.1 นโยบายการคลังกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ
ภาวะเศรษฐกิจตำต่ำบางครั้งเรียกว่าการเกิดภาวะเงินฝืด คือภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการลดลง อุปสงค์รวมต่อสินค้าและบริการมีน้อยกว่าอุปทานรวม
การแก้ไขภาวะเงินฝืดหรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมักกระทำโดยการเพิ่มอุปสงค์รวมหรือการทำให้มีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นได้แก่
- การใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค
- การใช้จ่ายลงทุน (Invesment)
- การใช้จ่ายของรัฐบาล (Government expenditure)
1) การเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล ควรเป็นการใช้จ่ายในโครงการใดโครงการหนึ่งที่
สามารถเริ่มดำเนินการได้เร็ว และสิ้นสุดได้เร็ว เพื่อช่วยให้คนมีงานทำได้เร็ว
2) การลดอัตราภาษีอากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดอัตราภาษีทางอ้อมที่มีผลสามารถกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคมากขึ้น

1.2 นโยบายการคลังกับปัญหาเงินเฟ้อ
กรณีเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงดันของต้นทุน (Cost push inflation)
หมายถึงการที่ระดับราคา (Price level) สูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รัฐบาลอาจแก้ไขโดยการลดอัตราภาษีสำหรับวัตถุดิบ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการหรืออาจลดอัตราภาษีแก่สินค้าสำเร็จรูปก็ได้

กรณีการเกิดภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงดึงของอุปสงค์ (Demand pull inflation)
มาตรการทางการคลังที่จะช่วยแก้ไขหรือบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ โดยจะมีผลต่อการลดการใช้จ่ายหรือโดยการลดอุปสงค์รวมได้แก่
1) ลดการใช้จ่ายของภาครัฐบาล (Government expenditure) โดยการลดการใช้จ่ายด้านการลงทุนต่าง ๆ ของรัฐบาลลง
2) การเพิ่มภาษีอากร (Taxation) โดยอาจเพิ่มทั้งภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม ในทางปฏิบัติการเพิ่มภาษี การเพิ่มอัตราภาษีมีผลทำให้ราคาสูงขึ้น โดยทั่วไปผู้บริโภคก็จะลดการบริโภคลง

1.3) นโยบายการคลังกับปัญหาการว่างงาน (Unemployment)
การว่างงานมีหลายลักษณะ เช่น การว่างที่เกิดจากภาวะเงินฝืด ,ตามฤดูกาล ,จากการใช้เครื่องจักรแทนคน ,จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการว่างงานแอบแฝง
แต่สาเหตุหลักจริงๆการว่าจ้างแรงงานถูกกำหนด โดยอุปสงค์รวม (Aggregate demand) และอุปทานรวม (Aggregate supply) ในการแก้ไขปัญหาการว่างงานจึงต้องพยายามเพิ่มอุปสงค์รวม โดยพยายามเพิ่มการใช้จ่ายอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายในการลงทุน และการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งอาจจะกระทำได้โดยผ่านทางนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ดังนี้
1) เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลให้กับโครงการในลักษณะ ดังนี้
- การจ่ายเงินประกันการว่างงาน
- การจ่ายเงินสงเคราะห์
- การเพิ่มการลงทุนของรัฐ เช่น การสร้างถนน
2) การลดภาษีอากร โดยพิจารณาได้ ดังนี้
- การลดภาษีการค้าหรือภาษีการขาย เพื่อกระตุ้นการบริโภค
- การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อจูงใจให้นักธุรกิจลงเพิ่มมากขึ้น
- การลดภาษีสินค้าบุคคลธรรมดา เช่น บุคคลที่มีรายได้ต่ำเพื่อกระตุ้นการบริโภค

1.4 นโยบายการคลังกับปัญหาดุลการชำระเงิน
การดำเนินนโยบายการคลังในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า
1) ด้านสินค้าออก โดยสนับสนุนการส่งออกเพิ่มขึ้น ดังนี้
- ลดต้นทุนสินค้าส่งออก โดย การคืนอากรวัตถุดิบ และการชดเชยภาษีอากร
- ราคาสินค้าส่งออก โดย การลด/หรือยกเว้นอากรขาออกสำหรับสินค้าส่งออกเป็นการสนับสนุนให้สามารถขายสินค้าได้ถูกลง
2) ด้านสินค้าเข้า ลดการนำเข้าโดยดำเนินมาตรการด้านภาษีอากรในลักษณะต่างๆ ดังนี้
- เพิ่มต้นทุนการนำเข้า โดยการเพิ่มอัตราภาษีขาเข้าวัตถุดิบและสินค้าชั้นกลางเพื่อลดประมาณการนำเข้าสินค้า และเพื่อเป็นการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผลิตวัตถุดิบและสินค้าชั้นกลาง
- ราคาสินค้านำเข้า เพิ่มอัตราภาษีขาเข้าให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพงควรจัดเก็บในอัตราสูง เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงภาระภาษีและลดการนำเข้า

1.5 นโยบายการคลังกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ประเทศที่กำลังพัฒนาโดยส่วนใหญ่จึงมีการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลเสมอ เนื่องจากรายได้ของประชาชนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นเรื่องที่เกินกว่ากำลังความสามารถของภาคเอกชนที่จะสามารถอาศัยกลไกของตลาดในการแก้ปัญหาและเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเข้ามามีส่วนในการร่วมวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและพยายามเร่งอัตราการลงทุนให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ โดยอาจกำหนดเป็นนโยบายและมาตรการทางการคลังดังนี้ เช่น
1. เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐในโครงการที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยการจัดลำดับโครงการที่มีผลต่อการพัฒนา
เศรษฐกิจให้มากที่สุด
2. การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิตและเพื่อจูงใจให้มีการพัฒนาเฉพาะด้านเช่น การยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ภาษีเงินปันผล การเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยในอัตราสูง เป็นต้น


นโยบายกระทรวงพาณิชย์

กระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce) เป็นกระทรวงหนึ่งของประเทศไทยที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา

บทบาทหน้าที่หลัก
1. ภารกิจด้านในประเทศ มีหน้าที่ดูแลราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร ดูแลผู้บริโภคภายใต้กรอบกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้งการค้าสินค้าและธุรกิจบริการ รวมทั้งธุรกิจประกันภัย และคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา
2. ภารกิจด้านต่างประเทศ มีหน้าที่เจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยการเจรจาภายใต้กรอบ WTO FTA อนุภูมิภาค ภูมิภาค ฯลฯ จัดระเบียบและบริหารการนำเข้าส่งออก รวมทั้งการขายข้าวรัฐต่อรัฐ การค้ามันสำปะหลัง สินค้าข้อตกลงต่างๆ แก้ไขปัญหา และรักษาผลประโยชน์ทางการค้า เช่น การดูแลเรื่อง GSP การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ส่งเสริมและเร่งรัดการส่งออก



ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

หน้าที่ของ ธปท. คือนำเครื่องนโยบายการเงินมาใช้ในการแก้ไขปัญหา เพื่อควบคุมปริมาณเงินในระบบให้สมดุล และส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะยาว

นโยบายการเงิน

หามาตรการหรือเครื่องมือทางการเงินมาจัดการปริมาณเงิน(MS)ของประเทศให้เหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจประเทศ ธนาคารกลางและธปท.จะกำหนดมาตรการและเครื่องมือการเงินต่างๆเพื่อควบคุมปริมาณเงินให้สมดุลให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินและสอดคล้องกับเป้าหมายเศรษฐกิจประเทศ
เป้านโยบายเศรษฐกิจมีหลายประการ

ในการดำเนินนโยบายการเงินจะตั้งเป้านโยบายการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายเศรษฐกิจเพียงประเด็นเดียว คือ “การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ”(การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก)

การดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพภายในประเทศ
1. การรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมด้วยการตั้งเป้าเงินเฟ้อ (Inflation Target)
2. เปิดเผยข้อมูลทางการเงินและพยากรณ์ GDP ตามสภาวะเศรษฐกิจ

เครื่องมือนโยบายการเงินเพื่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอก
1. รักษาระดับทุนสำรองระหว่างประเทศให้เหมาะสม
2. รักษาดุลการชำระเงินให้สมดุล
3. รักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ



คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งรับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ ธปท. อย่างใกล้ชิดในการติดตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ การกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของ กนง. จะพิจารณาจากข้อมูลต่างๆที่ ธปท. นำเสนอให้ทราบ จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวไปกลั่นกรองพิจารณาในที่ประชุม เพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายการเงินต่อไป

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน

อำนาจหน้าที่ของ กนง. ระบุไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย ดังนี้

1. กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศ โดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
2. กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
3. กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายตาม (1) และ (2)
4. ติดตามการดำเนินมาตรการของ ธปท. ตาม (3) ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ พ.ร.บ. ธปท. ฉบับใหม่กำหนดให้ กนง. จัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินของปีถัดไปภายในเดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อเป็นแนวทางให้แก่รัฐและ ธปท. ในการดำเนินการ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคา โดยทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและให้รัฐมนตรีเสนอเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ได้ทำความตกลงร่วมนั้นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ และ กนง. มีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกหกเดือน

สรุปนโยบายการเงิน
นโยบายการเงินมีวัตถุประสงค์หลักนอกจากรักษาเสถียรภาพของราคาแล้ว ก็ยังต้องคำนึงถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วย เศรษฐกิจขยายตัวได้จะต้องอาศัยแรงจูงใจ จากกำไรที่ได้จากราคาของสินค้าที่สูงขึ้น ฉะนั้น ศิลปะของนายธนาคารกลางจึงต้องดูว่า จะสร้างสมดุลระหว่างการขยายตัวของเศรษฐกิจกับความมั่นคงของระดับราคาได้อย่างไรจึงจะมีความพอดี และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว
ในทางปฏิบัตินี้ หากธนาคารกลางต้องการทำนโยบายการเงินแบบกระตุ้นเศรษฐกิจ (ลดดอกเบี้ย) ไม่สู้ยากนัก เพราะทุกคนจะตอบรับเศรษฐกิจขยายตัว ต้นทุนกู้ยืมลดลง ตลาดหุ้นขานรับ การบริโภคขยายตัว ถ้าหากต้องการคะแนน Popular Vote ธนาคารกลางก็ต้องลดดอกเบี้ยมากๆ ผมเอง ในฐานะผู้กู้เงินก็อยากให้ดอกเบี้ยถูกๆ
แต่ความยากอยู่ตรงที่ในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวมากจนอาจก่อให้เกิด หรือนำมาซึ่งความไม่สมดุล (ความต้องการมากกว่าความสามารถในการผลิต) ผมขีดเส้นใต้คำว่า "อาจ" เพราะนโยบายการเงิน จะรอให้เศรษฐกิจขาดความสมดุลก่อนแล้วดำเนินนโยบายตามก็ช้าเกินไป นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า โรคกลัวเงินเฟ้อ คือ อาการที่ทุกคนคิดว่าของจะแพง เมื่อทุกคนคิดเหมือนกัน ก็หันไปซื้อของเก็บไว้ ผลก็คือ ทำให้ของราคาแพงขึ้นและเกิดเงินเฟ้อตามมาจริงๆ
การดำเนินนโยบายการเงินจึงต้องป้องกัน ต้องทันกาลและมิให้ประชาชนคาดการณ์เช่นนั้นด้วย จึงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความเข้าใจ และทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่า ในยามที่เขามีรายได้ มีโบนัสมาก หุ้นขึ้นทุกวัน ราคาที่ดินปรับขึ้นทุกปีนั้น การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดโดยการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติเป็นเรื่องที่ถูกต้อง มันยากจริงๆ ครับ
นี่กระมัง เป็นเหตุว่าทำในประเทศสากลอื่นทั่วโลก จึงต้องมีกฎหมายให้ความอิสระแก่ธนาคารกลาง ในการใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน (Operational Independence) ทั้งนี้ อิสระในการดำเนินนโยบายดังกล่าว ต้องควบคู่กับความรับผิดชอบ ที่จะต้องดูแลให้เงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมาย ที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และรายได้ของประชาชนในระยะยาวด้วย