ข่าวการเงิน - การลงทุน

22 July 2008

ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ

บัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ (balance of payments accounts) เป็นบัญชีที่บันทึกข้อมูลสถิติเกี่ยวกับธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ( economics transactions) ระหว่างบุคคลในประเทศใดประเทศหนึ่งกับบุคคลในประเทศอื่น ธุรกรรมเหล่านี้อาจเป็นการซื้อขายสินค้าและบริการหรือการลงทุน หรือการกู้ยืม และส่วนใหญ่มักก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างๆ และการหมุนเวียนของเงินตราข้ามพรมแดนของประเทศต่างๆ โดยทั่วไปการบันทึกข้อมูลเพื่อจัดทำบัญชีเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางซึ่งจะรายงานข้อมูลสำหรับช่วงเวลาต่างๆ เช่น รายเดือน รายไตรมาส และรายปี

โดยปกติบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศแสดงรายละเอียดซึ่งสะท้อนถึงฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จึงถูกทำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของภาครัฐและภาคเอกชน

ภาครัฐ ในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายสำคัญๆ เช่น นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายการค้าระหว่างประเทศ นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

ภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์อาจใช้ข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมโดยรวมของประเทศในการวางแผนกระจายความเสี่ยงอันเกิดจากการกู้ในรูปของเงินตราต่างประเทศ ส่วนบริษัทส่งออกโดยเฉพาะบริษัทพืชผลการเกษตรอาจใช้ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศในการพิจารณาขยายตลาดต่างประเทศ

ส่วนประกอบของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ
1. บัญชีเดินสะพัด (Current Account)
2. บัญชีทุนเคลื่อนย้าย (Capital and Financial Account)
3. รายการสถิติคลาดเคลื่อน (Errors and Omissions)
4. บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve Account)


1. บัญชีเดินสะพัด (Current Account)
1.1 บัญชีดุลการค้า (Trade Account) คือ การบันทึกรายการสินค้านำเข้าและส่งออกของประเทศ
1.2 บัญชีดุลบริการ (Service Account) คือการบันทึกรายการรับและให้บริการทางด้านการขนส่ง ท่องเที่ยว การบริการของรัฐ และการบริการอื่น ๆ 1.3 บัญชีรายได้ (Income Account) รายได้รับจากแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ , รายได้จากการลงทุน ส่วนรายจ่ายนั้นจะเกี่ยวกับส่วนของทุนและหนี้สิน เช่น การจ่ายเงินปันผล
1.4 บัญชีเงินโอน (Current Transfer) คือ การบันทึกรายการให้เปล่าที่เป็นตัวเงินและสิ่งของเช่น การส่งเงินกลับมาให้ญาติ , การส่งเงินไปให้บุตรหลานที่เรียนในต่างประเทศ

2. บัญชีทุนเคลื่อนย้าย (Capital and Financial Account)
2.1 เงินลงทุนโดยตรง (Direct Investment) คือ รายการที่มีการเคลื่อนย้ายลงทุนไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อหวังผลระยะยาว เช่น การสร้างโรงงาน
2.2 เงินลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment) ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
2.3 เงินทุนประเภทอื่น ๆ (Other Investment) คือ รายการสินเชื่อทางการค้า เงินกู้ยืม และบัญชีเงินฝากระหว่างประเทศ

3. รายการสถิติคลาดเคลื่อน (Errors and Omission)
เกิดจากความผิดพลาดในการรวบรวมข้อมูล หรือ การเก็บข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเนื่องจากอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ เช่น การลักลอบสินค้าหนีภาษี การค้ายาเสพติด การฟอกเงิน การจัดเก็บตัวเลขที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายในประเทศไทย

4. บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve Account)
คือ ยอดที่แสดงการเปลี่ยนแปลงในปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศ ในรอบระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการปรับความแตกต่างระหว่างยอดรวมทางด้านรายรับและรายจ่ายเงินตราต่างประเทศ ของทั้งบัญชีเดินสะพัดและบัญชีทุนเคลื่อนย้ายของประเทศนั้น ๆ
ทุนสำรองของประเทศจะประกอบด้วย ทองคำ หลักทรัพย์รัฐบาล, เงินตราสกุลหลัก, สิทธิไถ่ถอนพิเศษ และ เงินสำรองที่มีอยู่ที่ IMF

แน่นอนว่า เราจะค้า เราจะขาย เราจะซื้อ เราจะไปเที่ยว เราจะไปทำงานต่างประเทศ หรือชาวต่างชาติมาทำงานบ้านเรา ฯลฯ จะอยู่ในบัญชีเดินสะพัดทั้งหมด

ดังนั้น บัญชัเดินสะพัด จึงเป็นรายการที่มีสำคัญมากในดุลการชำระเงิน


เมื่อเรารู้ว่าสำคัญที่สุด งั้นมาดูกันแบบละเอียดๆเลย
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน่ากลัวหรือไม่อย่างไร ผมมีความเห็นว่า ประเทศไทยสามารถขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้โดยต่อเนื่องประมาณ 2% ของจีดีพี โดยไม่เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้จะต้องขาดดุลอย่างมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ
หมายความว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งก็คือ การลงทุนมากกว่าเงินออมที่มีอยู่ในประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเริ่มกู้เงิน และเป็นหนี้ต่างประเทศมากขึ้น การเป็นหนี้ในระดับที่เหมาะสมนั้น ไม่เสียหายอะไร ยกตัวอย่างหลายๆ ครอบครัวที่กู้เงินมาซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยหรือผ่อนรถยนต์ ซึ่งทำให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้นและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกด้วย

บัญชีเดินสะพัด กับอัตราดอกเบี้ย
ประเด็นหลัก คือ การกู้ยืมที่ระมัดระวังและนำเงินกู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างรายได้ที่เพียงพอกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและใช้คืนทั้งยอดหนี้และดอกเบี้ย ตัวอย่างเช่น หากประเทศไทยมีโครงการต่างๆ ที่น่าลงทุน เพราะให้ผลตอบแทนจริง 15% ต่อปี ก็สมควรจะกู้เงินมาลงทุน เพราะปัจจุบันเงินกู้นั้นต้องจ่ายดอกเบี้ยเพียง 5-7% ต่อปี
จะเห็นได้ว่า ความเหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับผลตอบแทนการลงทุน ซึ่งต้องเป็นผลตอบแทนจริง หมายความว่า ไม่ใช่ผลตอบแทนที่สูงถึง 15% นั้น เป็นผลมาจากการอุดหนุนของรัฐบาล (เช่นรัฐบาลนำงบประมาณมาช่วยลดต้นทุน) หรือเป็นผลมาจากการอาศัยการผูกขาดไม่ให้รายอื่นๆ มาแข่งขัน หรือมีผลข้างเคียงทางสังคม (เช่นก่อให้เกิดมลภาวะ) ทำให้ผลตอบแทนทางสังคมต่ำแต่ผลตอบแทนของเอกชนสูง
นอกจากนั้น ก็ยังมีความเสี่ยงในเชิงของดอกเบี้ยในอนาคตที่จะต้องปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น จึงควรคาดการณ์เผื่อเอาไว้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวนั้น น่าจะอยู่ที่ 8-9% ไม่ต่ำที่ 5-7% เช่นปัจจุบันอีก

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น ที่หมายความว่า เราจะต้องพึ่งเม็ดเงินจากต่างประเทศ เพราะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด คือ การที่ประเทศไทยซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศมากกว่าขายสินค้าและบริการให้กับชาวต่างประเทศเงินทุนที่ต้องไหลเข้ามานั้น อาจเป็นในรูปของการกู้ยืมโดยเอกชนหรือรัฐบาลไทย การที่ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยหรือการที่ต่างประเทศเข้ามาลงทุนโดยตรงในการก่อสร้างโรงงานและเข้ามาทำธุรกิจในไทย

ผมได้กล่าวตอนต้นว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 2% ของจีดีพี นั้น น่าจะไม่เป็นอันตราย เพราะหากการเป็นหนี้ต่างประเทศปีละ 2% ของจีดีพีดังกล่าว ทำให้เราสามารถนำเงินไปลงทุน แล้วให้ผลตอบแทนสูง ทำให้จีดีพีไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกปีละ 2-3% ก็หมายความว่าจีดีพีจะโตเร็วเท่ากับ หรือมากกว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เสียหายอะไร (กรณีที่เสียหายในระยาว คือ สหรัฐที่จีดีพีโตปีละ 3-4% แต่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปีละ 5-6% ของจีดีพี)



ความสำคัญของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ

- สามารถแสดงให้เห็นถึงฐานะทางการเงินของประเทศนั้น ๆ ว่ามีระดับของการขาดดุลหรือเกินดุลอย่างไร ภายในรอบระยะเวลาหนึ่ง
- เป็นรายการที่มีอิทธิพลต่อตัวแปรเศรษฐกิจ มหภาค เช่น GDP , เงินเฟ้อ, อัตราดอกเบี้ย, อัตราแลกเปลี่ยน
- ทราบถึงระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ- ดุลการชำระเงินจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ
- ภาคธุรกิจสามารถคาดคะเนศักยภาพของตลาด

สาเหตุที่ทำให้ขาดดุลการชำระเงินระหว่างประเทศของประเทศไทย คือ
1. การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจ ได้แก่การลดลงของการส่งสินค้าและบริการออกและการเพิ่มขึ้นของการสั่งสินค้าเข้า การเปลี่ยนแปลงทางด้านการบริโภคและการต้องพึ่งพาความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
2. ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเงิน ได้แก่ การเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อ การว่างงาน การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเงินระหว่างประเทศ เช่น ลดค่าเงิน การเปลี่ยนแปลงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
3. การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองการปกครอง ได้แก่ การเกิดความไม่เชื่อถือของผู้นำประเทศ การเกิดความไม่สงบภายในประเทศการไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การเกิดกรณีพิพาทกับต่างประเทศซึ่งมีผลทำให้ต่างประเทศไม่กล้าเข้ามาลงทุน และคนในประเทศพากันนำเงินออกไปนอกประเทศ

ผลกระทบของการขาดดุลการชำระเงินระหว่างประเทศไทยของประเทศไทย
1. ผลกระทบที่มีต่อฐานะทางเศรษฐกิจภายในประเทศ
2.ผลกระทบที่มีต่อฐานะทางการเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ


ดุลงบประมาณของรัฐบาล

การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล นั่นคือการที่รัฐบาลใช้จ่ายมากกว่ารายรับที่ได้มา หากเราพิจารณาให้ดี การขาดดุลงบประมาณจะส่งผลด้านกลับต่อผลิตภาพ เมื่อรัฐบาลต้องหาเงินมาชดเชยส่วนขาดดุล รัฐบาลอาจกู้เงินในตลาดการเงิน เหมือนอย่างที่นักศึกษากู้เงินมาใช้จ่ายค่าเล่าเรียน หรือเหมือนบริษัทกู้เงินมาสร้างโรงงานใหม่ แต่เมื่อรัฐบาลกู้เงินในตลาด ปริมาณเงินทุนที่เหลือสำหรับให้เอกชนกู้ยืมก็จะน้อยลง นั่นคืองบประมาณขาดดุลทำให้การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์(เช่นค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษา) และการลงทุนด้านทุนกายภาพ(เช่น โรงงานใหม่) ลดน้อยลง งบประมาณขาดดุลจึงถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของที่ทำให้การเติบโตของมาตรฐานการครองชีพลดลง ทั้งนี้เนื่องจากการลงทุนที่ลดลงในปัจจุบันหมายถึงผลิตภาพที่ลดลงในอนาคต