ข่าวการเงิน - การลงทุน

19 July 2008

อัตราแลกเปลี่ยน(Exchange Rate) หรือที่เรียกกันว่า “ค่าเงินบาท”

ช่วงนี้มักจะได้ยินสื่อต่างๆ พูดคำว่า ค่าเงินบาทแข็งอยู่ตลอด จึงอยากจะขออธิบายให้ฟังเพื่อให้มีความเข้าใจว่า ค่าเงินบาทแข็ง,ค่าเงินบาทอ่อนคืออะไร เกิดจากอะไรได้บ้าง ค่าเงินบาทแข็งแล้วอ่อนได้หรือไม่ ถ้าแข็งหรืออ่อนแล้วจะมีผลดีและผลเสียต่อใคร อย่างไร แล้วค่าเงินบาทที่อ่อนดีกว่าค่าเงินบาทที่แข็งจริงหรือไม่ ซึ่งก่อนอื่นขอสร้างความเข้าใจก่อนว่า ค่าเงินบาทคืออะไร

ค่าเงินบาทคืออะไร ?

ค่าเงินบาท หมายถึง จำนวนเงินบาทที่ใช้นำไปแลกเปลี่ยนกับเงินตราต่างประเทศ หรือที่เรียกว่าเงินสกุลอื่นๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ ดอลลาร์สิงคโปร์ เยนญี่ปุ่น ปอนด์สเตอร์ลิง เป็นต้น ซึ่งที่ค่อนข้างคุ้นเคยก็คือ การนำเงิน 33 บาทไปแลกกับดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือการนำเงิน 30 บาทไปแลกได้ 100 เยนญี่ปุ่น หรือ นำเงิน 63 บาท ไปแลกได้ 1 ปอนด์สเตอร์ลิง เป็นต้น

โดยเวลาที่พูดกันว่า ค่าเงินบาทแข็ง ก็หมายถึง เงินบาทของเรามีค่ามากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลที่กำลังเปรียบเทียบอยู่ เช่น ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็คือ สมมติ เราเคยใช้เงินบาทจำนวน 36 บาทไปแลกกับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ตอนนี้ เราใช้เงินบาทในจำนวนที่น้อยลง เช่น 33 บาทไปแลกกับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น ส่วนคำว่า ค่าเงินบาทอ่อนตัว ก็ตรงกันข้ามกับค่าเงินบาทแข็ง กล่าวคือ เราต้องใช้เงินบาทมากขึ้น เช่น 40 บาทไปแลก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น

ค่าเงินบาทแข็ง หรืออ่อน เกิดจากสาเหตุอะไร ?

ค่าเงินบาทแข็ง จะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หากสมมติให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่ การที่อยู่ ๆ ก็มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยมาก ๆ เช่น เข้ามาในตลาดหุ้น ซึ่งเวลาเข้ามานั้น นักลงทุนต่างประเทศจะไม่สามารถเอาเงินตราต่างประเทศที่เค้าถืออยู่มาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้โดยตรง โดยเค้าต้องขอแลกเป็นเงินบาทก่อน ดังนั้น กรณีนี้ ความต้องการในเงินบาทก็จะสูงขึ้น ซึ่งเวลาที่ความต้องการในเงินบาทสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณเงินบาทที่มีในระบบเศรษฐกิจอยู่คงที่ กลไกตลาดก็จะทำงาน โดยทำให้เงินบาทมีค่าสูงขึ้น หรือที่เราเรียกว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นนั่นเอง

อีกตัวอย่างที่อาจทำให้เห็นภาพชัดขึ้น ก็คือ หากธุรกิจของไทยสามารถส่งออกได้มาก ผู้ส่งออกของไทยเมื่อได้รับรายได้ในรูปของเงินสกุลต่างประเทศ ผู้ส่งออกก็จะเอาเงินสกุลต่างประเทศนั้น ๆ มาแลกเป็นเงินบาท เพื่อจะได้นำมาใช้ต่อไป ในกรณีนี้ก็จะคล้ายๆ กับกรณีแรกคือ ความต้องการเงินบาทก็จะมากขึ้น และทำให้ค่าของเงินบาทแข็งขึ้นได้เช่นกัน

สำหรับกรณีของค่าเงินบาทอ่อนลง ก็อาจจะเกิดได้ในกรณีที่ไทยต้องการนำเข้ามาก ๆ เช่น ต้องการนำเข้าน้ำมัน หรือกรณีการนำเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักรจากต่างประเทศ ดังนั้น ในกรณีนี้ ก็จะต้องมีการนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินตราต่างประเทศ เพื่อที่จะได้เอาเงินไปจ่ายต่างประเทศ ความต้องการในเงินตราสกุลต่างประเทศก็จะสูงขึ้น กลไกตลาดก็จะทำให้ค่าของเงินบาทอ่อนลง เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ค่าเงินบาทสามารถที่จะแข็งขึ้นและอ่อนลงได้ด้วยหลายๆ ปัจจัย แม้กระทั่งหากนักเก็งกำไรมีความรู้สึกว่าค่าเงินบาทน่าจะอ่อนกว่าที่เป็นอยู่ จึงต้องการที่จะถือเงินบาทน้อยลง และหากนักเก็งกำไรทุก ๆ คน คิดและทำเหมือนกันหมด ก็จะมีส่วนทำให้ค่าเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงได้เช่นกัน

ค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนมีผลดีและผลเสียต่อใคร อย่างไร แล้วค่าเงินบาทอ่อนดีกว่าค่าเงินบาทแข็งจริงหรือไม่ ตรงนี้จะขออธิบายว่า เวลาค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อน จะต้องมีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์เสมอ จึงไม่ควรมองเพียงด้านใดด้านหนึ่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

เจาะประเด็นค่าเงินบาทแข็ง

เวลาค่าเงินบาทแข็ง ก็คือใช้จำนวนเงินบาทที่น้อยลงไปแลกกับเงินสกุลต่างประเทศ คนที่ได้ประโยชน์ จะมีหลายกลุ่ม อาทิ

• คนที่ต้องนำเข้าสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ เช่น ธุรกิจที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบ หรือ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตจากต่างประเทศ ก็จะซื้อวัตถุดิบ หรือเครื่องจักรได้ถูกลง ต้นทุนการผลิตก็จะต่ำลง หรือกรณีที่เราพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เพื่อใช้โดยตรง หรือใช้ในการผลิตไฟฟ้า กรณีนี้ ราคาน้ำมันที่เราเติม กับค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายก็จะถูกไปด้วย เพราะนำเข้ามาในราคาที่ถูกลง หากราคาวัตถุดิบ เครื่องจักร และน้ำมันที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศไม่ได้แพงขึ้น หรือแม้ว่า ราคาวัตถุดิบ เครื่องจักร และน้ำมันที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศจะแพงขึ้น แต่การที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ก็ช่วยให้ราคาของวัตถุดิบ เครื่องจักรและน้ำมันดังกล่าวในรูปของเงินบาทไม่แพงขึ้นได้ ดังจะเห็นตัวอย่างจากช่วงที่ผ่านมาที่ในบางช่วงที่แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะแพงขึ้น แต่ราคาน้ำมันในประเทศในรูปของเงินบาทไม่ได้ปรับขึ้นตาม ส่วนหนึ่งก็เพราะค่าเงินบาทที่แข็งช่วยให้ราคาในการนำเข้าไม่แพงขึ้นนั่นเอง
• คนที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ก็จะมียอดหนี้เมื่อแปลงเป็นเงินบาทน้อยลง ก็อาจจะเป็นจังหวะให้เราอาจจะตัดสินใจใช้หนี้ เพราะใช้เงินน้อยลงในการแลกเงินสกุลต่างประเทศไปคืนเค้า เป็นต้น
• คนที่ส่งลูกเรียนเมืองนอก หรือคนที่อยากไปเที่ยวเมืองนอก ก็ใช้เงินน้อยลงในการส่งเงินให้ลูกได้เท่าที่เคยส่ง หรือใช้เงินน้อยลงเวลาไปเที่ยวหรือไปซื้อของที่เมืองนอก เป็นต้น

แต่ค่าเงินบาทแข็ง ผลกระทบก็มีเช่นกัน

• ผลต่อคนที่ส่งออกในด้านความสามารถในการแข่งขัน เช่น แต่ก่อนชาวต่างชาติเคยซื้อข้าวจากเรา สมมติ ตันละ 8,000 บาท เวลาเค้ามาซื้อเค้าเคยใช้เงิน 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาซื้อ หากค่าเงินบาทแข็งขึ้น และเค้าเอาเงิน 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่าเดิมมาซื้อ คราวนี้เค้าจะไม่ได้ข้าว 2 ตัน แต่จะได้น้อยกว่านั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่ค่าเงินบาทแข็ง สินค้าของเราก็จะดูว่าแพงขึ้น ชาวต่างชาติเค้าก็อาจจะหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นแทน แต่ประเด็นนี้ จะมีข้อยกเว้นตรงที่ หากคู่แข่งของเรา เช่น เวียดนาม หรืออินเดีย หรือประเทศอื่นๆ ค่าเงินของเค้าแข็งขึ้นด้วย กรณีนี้ ค่าเงินบาทที่แข็ง ก็ไม่ได้มีส่วนทำให้เราส่งออกไม่ได้ หรือสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งไป (ในเรื่องความสามารถในการแข่งขันนี้ แม้ค่าเงินจะเป็นเรื่องหนึ่งที่มีผล แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกมาก อาทิ ความสามารถในการผลิต ต้นทุนการผลิต เป็นต้น)

ผลต่อคนที่ส่งออกด้านรายได้ที่จะได้รับ เช่น สมมติเคยขายได้ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเคยแลกได้ 4,000 บาท (หากอัตราแลกเปลี่ยน 40 บาทแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่เพราะค่าเงินบาทแข็งขึ้น (อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ก็เลยเอา 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาแลกได้เงินน้อยลง โดย แลกได้เพียง 3,600 บาท เป็นต้น ก็ได้เงินน้อยลง แต่ถ้าผู้ส่งออกคนนี้ มีการนำเข้าด้วย ก็จะสามารถลดผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งไปได้ โดยถ้าผู้ส่งออกคนนี้ มีการนำเข้าที่มากกว่าการส่งออก ก็จะถือได้ว่า แม้จะเป็นผู้ส่งออก แต่ก็ยังได้รับผลดีเวลาที่ค่าเงินบาทแข็งได้ เป็นต้น
โดยหากเป็นกรณีค่าเงินบาทอ่อนลง ผลก็จะเป็นตรงกันข้าม คือ ผู้ที่ต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบ หรือเครื่องจักรมาก ๆ หรือผู้ที่ยังส่งลูกเรียนเมืองนอกอยู่ ก็จะต้องจ่ายแพงขึ้น ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่อ่อนลง ก็จะช่วยให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้ดีขึ้น (หากค่าเงินของประเทศคู่แข่งไม่ได้อ่อนลงตามไปด้วย) และมีรายได้หลังจากแลกเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น

นโยบายอัตราดอกเบี้ย กับค่าเงินบาท

การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบทได้จริงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ คือ 1. ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยต้องส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของเงินทุน และ 2. การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตามตามทฤษฎีเงินทุนเคลื่อนย้ายจะหาผลตอบแทนที่สูงที่สุดในระยะที่ผ่านมา ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมีผลเพียงบางส่วนต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจากค่าเฉลี่ยร้อยละ 0.20 ในปี 2546 เป็นลบร้อยละ 0.56 ในปี 2548 ตามวัฏจักรดอกเบี้ยที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ Fed Funds โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนระยะ 1 วัน แต่ส่วนต่างที่ลดลงไม่ได้ทำให้เงินทุนไหลออก แต่กลับทำให้เงินทุนไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2546 และในปี 2548 มีเงินทุนไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่นักลงทุนให้ความสนใจ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย คือความเชื่อมั่นและความเสี่ยง ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากการที่นักลงทุนต่างประเทศโยกย้ายการถือครองสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ กลับไปถือครองสินทรัพย์ในตลาดหลัก ทั้งที่ส่วนต่างของระหว่าง 2 ตลาดไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือเรียกว่า Emerging Market Risk Aversion ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2549 และต้นปี 2550 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยการคาดการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพราะนอกจากผลตอบแทนจากดอกเบี้ยแล้ว การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินก็มีส่วนกำหนดอัตราผลตอบแทนการลงทุนด้วยดังนั้น หากนักลงทุนคาดว่าเงินสกุลใดสกุลหนึ่งจะแข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีหรือแรงกดดันจากการเก็งกำไรค่าเงิน

จากข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่าในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 2.50 ในเดือนกรกฎาคม 2544 เป็นร้อยละ 1.25 ในเดือนกรกฎาคม 2546อัตราแลกเปลี่ยนกลับแข็งค่าขึ้นจาก 45.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 41.78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยลดแรงกดดันทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนอาจไม่ประสบผลเท่าที่คาดการณ์ไว้

ดังนั้น เวลาจะดูผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง หรืออ่อน รวมทั้งการสรุปว่าค่าเงินบาทอ่อนเป็นเรื่องดี ค่าเงินบาทแข็งเป็นเรื่องไม่ดี จึงอาจจะไม่จริงเสมอไป แต่จะต้องดูผลดีและผลเสียในหลายๆ ด้านประกอบกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่าจะเลือกมองจากด้านใด ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้ว อาจไม่มีใครตอบได้ว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยควรจะอยู่ที่ระดับใด เพราะขึ้นอยู่กับสภาพของเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่สิ่งที่เห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่คือ ค่าเงินบาท ควรจะมีเสถียรภาพ กล่าวคือ ไม่ควรจะผันผวนเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างรวดเร็วมากเกินไป เพราะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว คาดเดาได้ยาก จะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป

ลิงค์ข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยน : http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/FinancialMarkets/ExchangeRate/_layouts/Application/ExchangeRate/ExchangeRate.aspx

ภาวะเงินเฟ้อคืออะไร?

ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) คืออะไร เกิดจากอะไร วัดอย่างไร และถ้าสูงขึ้นมาก ๆ จะเกิดอะไรขึ้น

ภาวะเงินเฟ้อคืออะไร?

หลายคนเมื่อได้ยินคำว่าเงินเฟ้อ อาจจะสงสัยว่าเงินเฟ้อคืออะไร แล้วเมื่อไรถึงจะเรียกว่าเกิดภาวะเงินเฟ้อ คำว่าภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็จะมีผลทำให้ค่าของเงินที่เราถืออยู่ลดลง ตัวอย่างของค่าของเงินที่ลดลงเช่น ราคาน้ำมันเคยอยู่ที่ 14 บาทต่อลิตร สมมติเราเคยเติมน้ำมัน 10 ลิตร ก็จะใช้เงิน 140 บาท แต่ปัจจุบัน ราคาน้ำมันได้กลายเป็น 28 บาทต่อลิตร หากเราใช้เงินเท่าเดิมคือ 140 บาท เราจะเติมน้ำมันได้เพียง 5 ลิตร ไม่ใช่ 10 ลิตรแบบที่เคยเติมได้ ซึ่งหากต้องการที่จะเติมน้ำมัน 10 ลิตร เท่าเดิม แปลว่าเราต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเป็น 280 บาท หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การเกิดภาวะเงินเฟ้อ จะทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมที่เราถืออยู่มีค่าลดลง ทำให้ซื้อของได้น้อยลง

ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้นแบบนี้ ต้นทุนในการขนส่งสินค้าจากแหล่งผลิตที่จะส่งไปขายยังที่ต่าง ๆ ก็ย่อมต้องสูงขึ้น และทำให้ราคาสินค้าชนิดอื่นๆ ต้องขึ้นราคาตามไปด้วย แต่การที่มีสินค้าแค่ชนิดใดชนิดหนึ่งแพงขึ้น จะยังไม่เรียกว่าเงินเฟ้อ เพราะภาวะเงินเฟ้อหมายถึง ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วๆ ไปแพงขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจจะมีราคาสินค้าบางอย่างถูกลงด้วยในเวลาเดียวกัน แต่โดยรวม ๆ แล้ว หากราคาสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น และเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไปสักพักหนึ่ง ถึงจะเรียกได้ว่าเกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยที่เราจำเป็นต้องรู้เรื่องเงินเฟ้อ ก็เพื่อที่จะใช้สำหรับวัดค่าครองชีพหรือมาตรฐานการครองชีพของเรา (ประชาชน) ว่าดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร

เงินเฟ้อเกิดจากอะไร?

ภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นได้จากหลายๆ สาเหตุ แต่ส่วนใหญ่ในทางวิชาการมักจะแบ่งสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อได้เป็น 2 สาเหตุหลักๆ ได้แก่ Cost-push inflation และ Demand-pull inflation

(1) เกิดจากต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า Cost-push inflation ซึ่งต้นทุนที่ใช้ในการผลิตสินค้าอาจจะสูงขึ้นได้จากทั้งส่วนผสมหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า ค่าจ้างแรงงาน รวมทั้งค่าขนส่งสินค้า มีราคาแพงขึ้น เช่น กรณีของราคาน้ำมันที่แพงขึ้นก็เป็นตัวอย่างได้ หรือการที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน หรือเกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตเกษตรเสียหาย ราคาสินค้าเกษตรก็แพงขึ้น เป็นต้น หรือแม้แต่ในกรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนลง จาก 35 บาท เป็น 40 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องใช้เงินบาทจำนวนที่มากขึ้นเพื่อไปซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิต) หรือแม้แต่การที่รัฐบาลเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เช่น การเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หรืออาจเกิดจากผู้ผลิตต้องการกำไรที่สูงขึ้นจึงขึ้นราคาสินค้า ซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ก็จะมีส่วนทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นได้
ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ อาจจะเกิดขึ้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ หรืออาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กันก็ได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และทำให้ราคาสินค้าและบริการหลายๆ ชนิดแพงขึ้นพร้อมๆ กัน ความรุนแรงของเงินเฟ้อก็จะมากขึ้นด้วย

(2) เกิดจากความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า Demand-pull inflation ส่วนใหญ่ในช่วงที่ปกติ ผู้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่ก็ย่อมจะวางแผนการผลิตสินค้าโดยดูว่ามีคนต้องการซื้อสินค้าของเราเท่าไรในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้น ปริมาณสินค้าที่มีในตลาดก็น่าจะอยู่ใกล้เคียงกับความต้องการซื้อสินค้า แต่หากความต้องการสินค้าและบริการสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่สินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการมีอยู่ในตลาดมีไม่พอ ก็ย่อมทำให้ราคาสินค้าและบริการแพงขึ้นได้ ซึ่งเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น คนจะยิ่งรีบใช้เงินซื้อสินค้าและบริการมาตุนไว้ ก่อนที่ค่าเงินที่มีอยู่จะลดลง เพราะซื้อสินค้าได้น้อยลง ราคาสินค้าและบริการจะยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นไปกว่าเดิม เพราะคนจะยิ่งรีบใช้เงินที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว หน่วยงานของทางการก็มักจะไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง โดยทางการอาจจะเข้ามากำกับดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้า ตัวอย่างเช่น การขอความร่วมมือให้ ขสมก. เลื่อนการขึ้นค่ารถเมล์ไปก่อน หรืออนุญาตให้ค่ารถเมล์ปรับขึ้นราคาได้บ้างนิดหน่อย เป็นต้น หรือในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย อาจใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนน้อยที่สุด

เงินเฟ้อวัดอย่างไร?

อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยวัดโดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ประกาศอัตราเงินเฟ้อเป็นประจำทุกเดือน โดยวิธีวัดอัตราเงินเฟ้อทำได้โดยการวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาของสินค้าและบริการกลุ่มหนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ซึ่งระดับราคาของสินค้าและบริการ ใช้ชื่อว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index-CPI) ตัวอย่างการคำนวณอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน ซึ่งคือเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เพื่อที่จะบอกว่าราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปแพงขึ้นหรือถูกลงเมื่อเปรียบเทียบกัน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่ประกาศโดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า อยู่ที่ 114.5 ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ปี 2549 อยู่ที่ 111.9

ดังนั้น
อัตราเงินเฟ้อของเดือนกุมภาพันธ์ 2550 [(114.5-111.9)/111.9]x100 = 2.3%
ซึ่งอันนี้จะมีความหมายว่า ระดับราคาสินค้าและบริการโดยรวมมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน 2.3% หรือหากเรามีเงินจำนวนเท่าเดิมกับปีที่แล้ว ค่าของเงินที่เราถืออยู่จะด้อยค่าไป 2.3% ซึ่งทำให้ซื้อของได้น้อยลง


ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์


ถ้าเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ๆ จะเกิดอะไรขึ้น?

โดยปกติแล้ว หากเงินเฟ้อสูงขึ้นนิด ๆ หน่อย ๆ (ปกติตามหลักวิชาการคือเงินเฟ้อที่สูงไม่เกิน 5% จะเรียกเงินเฟ้ออย่างอ่อน (Mild inflation)) จะเป็นสิ่งที่ดีที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตมีการลงทุนขยายการผลิต และมีการจ้างงาน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัวได้ดี ไม่มีผลเสียต่อเศรษฐกิจ แต่หากเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ๆ และสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนยากที่จะคาดเดาได้ว่าเงินเฟ้อจะเป็นเท่าไร (Hyper inflation) จะมีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถวางแผนการผลิตและลงทุนได้ เพราะไม่รู้ว่าวัตถุดิบที่จะซื้อเข้ามาราคาจะเป็นเท่าไร จะตั้งราคาสินค้าเท่าไร เพื่อให้ยังมีกำไร ขณะที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคเองก็ไม่แน่ใจว่าราคาสินค้าจะแพงขึ้นอีกหรือไม่ เงินจำนวนเท่าเดิมที่มีอยู่ในกระเป๋าก็ด้อยค่าลงไป เพราะข้าวของแพงขึ้น ทำให้ซื้อของได้น้อยลง ธุรกิจก็ขายของได้น้อยลง ซึ่งที่สุดแล้วจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศแย่ลงได้
โดยสรุปคือ ภาวะเงินเฟ้อใช้เพื่อวัดค่าครองชีพของประชาชน ภาวะเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นต่อเมื่อราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปสูงขึ้นต่อเนื่อง หากสูงขึ้นแล้วปรับลดลง จะไม่นับว่าเกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อในระดับอ่อนๆ จะไม่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ แต่หากเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงๆ จะทำให้ค่าของเงินที่เรามีอยู่ด้อยค่าลงไป ทำให้ซื้อของได้น้อยลง ธุรกิจไม่สามารถผลิตหรือลงทุนได้เพราะมีความไม่แน่นอนเรื่องราคาอยู่สูง ซึ่งจะมีผลกระทบทางลบต่อระบบเศรษฐกิจในที่สุด

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP

คำว่า GDP เป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยมาก แต่ใครเล่าจะรู้ซึ้งถึงความหมายที่แท้จริง และมันมีไว้ทำอะไร ?!?

นิยาม

จากความสัมพันธ์ระหว่างภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างการทำหน้าที่ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ในฐานะที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ผลิต และฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ใช้ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ จะเห็นว่ากิจกรรมที่เชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจทั้งสองเข้าด้วยกัน คือ ภาคครัวเรือน ให้ใช้ปัจจัยแรงงาน ที่ดิน ทุน และผู้ประกอบการ ได้รายได้เป็น ค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย และกำไร เมื่อรวมรายได้ทุกประเภทของเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหมดที่มีส่วนร่วมในการผลิต เรียกว่า " รายได้ประชาชาติ " ซึ่งจะนำไปใช้จ่ายเพื่อซื้อผลผลิตที่อยู่ในรูปของสินค้า และบริการต่าง ๆ จากภาคธุรกิจ
เพราะฉะนั้น ถ้าหากมองความสัมพันธ์อย่างง่าย ๆ จะเห็นว่า " รายได้ประชาชาติ " จะเท่ากับ " ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ " และจะต้องเท่ากับ " มูลค่าของผลผลิต " อีกด้วย เช่น คนในครอบครัวไปซื้อของที่ตลาดเสียเงินไปหนึ่งร้อยบาท ก็จะต้องได้สินค้าที่มีมูลค่าหนึ่งร้อยบาทกลับมาใช่ไหม แล้วขอถามต่อว่า แล้วคนในครอบครัว เอาเงินมาจากไหน คำตอบก็คือ ได้มาจากการขายปัจจัยการผลิตในภาคธุรกิจ ซึ่งมีผลตอบแทนมาหนึ่งร้อยบาทเท่ากับปัจจัยการผลิตของเรา ที่ให้เขาเอาไปใช้นั่นเอง ดังนั้น จะคิดมูลค่าของ " รายได้ " หรือ " ค่าใช้จ่าย " หรือ " มูลค่าผลผลิต " มันก็ต้องเป็นจำนวนเท่ากัน

ความหมาย

GDP ย่อมาจากคำว่า Gross Domestic Product ภาษาไทยแปลว่า " ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเบื้องต้น " หรือ " ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ " หมายถึง มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นภายในประเทศในระยะเวลาหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงว่าทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตสินค้า และบริการจะเป็นทรัพยากรของพลเมืองในประเทศหรือเป็น ของชาวต่างประเทศ ในทางตรงข้าม ทรัพยากรของพลเมืองในประเทศแต่ไปทำ การผลิตในต่างประเทศ ก็ไม่นับรวมไว้ในผลิตภัณฑ์ในประเทศ ผลิตภัณฑ์ในประเทศมีการจัดทำทั้งตามราคาปัจจุบันและราคาคงที่โดย GDP ณ ราคาปัจจุบัน คิดมูลค่าผลผลิตเป็นเงินตามราคาตลาดของสินค้าและบริการเหล่านั้น ขณะที่ GDP ณ ราคาคงที่คิดมูลค่าผลผลิตเป็นเงินตามราคาปีที่กำหนดเป็นปีฐาน

วิธีการคำนวณตัวเลข GDP ทางรายจ่าย

GDP = C + I + G + ( X - M)
C = รายจ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Expenditure)
I = รายจ่ายเพื่อการลงทุนภาคเอกชน (Private Investment Expenditure)
G = รายจ่ายของรัฐบาลในการซื้อสินค้าและบริการ (Government Expenditure)
X = การส่งออก (Export)
M = การนำเข้า (Import)

โดย ….
C = รายจ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชน (private consumption expenditure)
คือ รายจ่ายของภาคครัวเรือนในการซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งหมวดสินค้าสามารถแบ่งออกเป็น
1. สินค้าประเภทคงทน (Durable Goods) เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
2. สินค้าประเภทไม่คงทน (Non-Durable Goods) เช่น อาหาร เสื้อผ้า

I = รายจ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชน (Private Investment Expenditure)
ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้แก่
1. สินค้าคงเหลือ (Inventories)
2. รายจ่ายในการซื้อเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการผลิตสินค้าและ บริการ (Machinery and equipment)
3. รายจ่ายเพื่อการก่อสร้างใหม่ อาทิ ค่าก่อสร้างโรงงาน สถานที่เก็บสินค้า รวมถึงการ สร้างที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของอยู่อาศัยเองหรือให้ผู้อื่นเช่า
อย่างไรก็ตาม I คือ รายจ่ายลงทุนมวลรวม (Gross Investment) ยังไม่ได้หักค่าเสื่อม (Depreciation) หรือส่วนที่ลงทุนทดแทน

G = รายจ่ายของรัฐบาลในการซื้อสินค้าและบริการ (Government Expenditure)
ได้แก่ รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย รวมทั้งค่าจ้างและเงินเดือน ข้าราชการ แต่ไม่รวมรายจ่ายในเรื่องเงินโอน เช่น รายจ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมและเงินบำนาญ

( X - M) = การส่งออกสุทธิ (Net Export)
การคำนวณ GDP ในระบบเศรษฐกิจแบบเปิดจะต้องรวมเอามูลค่าการส่งออกสุทธิ
มาคำนวณด้วย นั่นคือ การนำมูลค่าสินค้าส่วนที่ถูกบริโภคโดยชาวต่างประเทศ
หักออกด้วยรายจ่ายส่วนที่เป็นการบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ


GDP บอกอะไรเราบ้าง

จีดีพี (GDP)หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product) ได้แก่การผลิตสินค้าและบริการที่ชื้อขายในตลาดในเวลา 1 ปี ในทางเศรษฐศาสตร์ได้นำค่าตัวเลขของจีดีพีมาวัดการเติมโตทางเศรษฐกิจ เช่นว่าปีนี้จีดีพีเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ก็แสดงให้เห็นว่าเรามีรายได้มวลรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ เช่นเมื่อปี 2547 เรามีจีดีพี 5.8 ล้านๆ บาท ประชากรจำนวน 63 ล้านคน เมื่อหารด้วย 63 ล้านจะได้รายได้ต่อปี และหารด้วย 12 จะได้รายได้แต่ละคนต่อเดือน ก็ตกอยู่ประมาณ 7200 บาทต่อเดือน ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขโดยเฉพาะเฉลี่ยทั้งประเทศ ที่นำคนที่มีรายได้ต่อปี 10000 ล้าน 100 ล้านมาเฉลี่ยด้วย จึงเป็นเรื่องปกติธรรมด้าที่เรายังพบว่ามีคนจนที่มีรายได้ไม่ถึง 7200 บาทอยู่จำนวนมาก ที่ทราบกันมากกว่า 10 ล้านคน

ดังนั้นค่าจีดีพีไม่ได้สะท้อนการมีรายได้ของประชากรอย่างแท้จริง เพราะขณะที่จีดีพีเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ในระบบทุนนิยม นักธุรกิจอาจจะมีรายได้เพิ่มมากกว่า 50 เปอร์เซ็น ประชาชนบางกลุ่มอาจมีรายได้เพิ่มไม่ถึง 5 เปอร์เซ้นต์ และอาจจะมีบางกลุ่มรายได้ลดลง ดังที่พูดกันว่ายิ่งพัฒนาในระบบทุนนิยมยิ่งทำให้ยากจนลง เพราะกระตุ้นให้คนบริโภคใช้จ่ายมากขึ้น จะได้ผลิตสินค้าได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง บางทีก็ไม่คุ้มกับที่เสียไป

เมื่อนำค่าจีดีพีของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว ประเทศได้มีจีดีพี 5.5 ล้านล้านบาทขณะที่ประเทศสิงคโปร์มีจีดีพี 4.5 ล้านล้านบาท โดยที่ประชากรประเทศไทย 60 กว่าล้านขายสินค้าและบริการได้ 5.5 ล้านบาท ขณะที่คนสิงคโปร์ 3 ล้านกว่าคนขายสินค้าและบริการได้ 4.5 ล้านบาท ดังนั้นโดยเฉลี่ยคนสิงคโปร์มีรายได้สูงกว่าประเทศไทยมากไม่น้อยกว่า 20 เท่า อาจกล่าวเล่นๆ ว่าคนสิงคโปร์ทำงานหนักว่าคนไทยถึง 20 เท่า แต่ที่ว่าทำงานหนักนั้นไม่ได้หมายความว่าใช้แรงงานในการทำงาน แต่ใช้สมองความรู้ความสามารถในการทำงาน เช่นจ้างแรงงานต่างชาติมาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้เครื่องจักรมาช่วยในการผลิตมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้แรงงานมากมายแต่ก็ต้องคิดทำงานแก้ปัญหาแน่นอน ความเครียดน่าจะมากกว่า

อย่างไรก็ตามการคิดค่าจีดีพีในทางเศรษฐศาสตร์ จากเงินลงทุน บวก ค่าใช้จ่ายบริโภคมวลรวม บวก ค่าใช้จ่ายภาครัฐ บวกกับผลต่างระหว่างค่าสินค้าส่งออกและนำเข้า จากสูตรการคิดดังกล่าวนี้ทำให้ทราบว่าทำไมการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเหมือนเป็นสูตรสำเร็จว่าจะต้องกระตุ้นการส่งออก ส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมการลงทุน และแอบส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ในภาวะที่หุ้นตก การลงทุนก็ลดลง และถ้ารัฐใช้แนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง การบริโภคก็ลดลง การใช้จ่ายภาครัฐก็ลดลง ตัวที่จะทำให้จีดีพีดีขึ้นก็เห็นแต่ภาคการส่งออก ซึ่งก็มีส่วนให้มีการบริโภคภายในประเทศด้วย และที่เราประหยัดกันให้มากในด้านสั่งสินค้าฟุ่มเฟือย ลดการใช้น้ำมันลงก็ช่วยจีดีพีให้เพิ่มขึ้นเหมือนกัน

การวิเคราะห์เศรษฐกิจ (Macro-Economic Analysis)

ก่อนอื่นมาเข้าใจเป้าหมายที่ท้าทายของทุกระบบเศรษฐกิจก่อนครับ...

• เพื่อการกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตแบบยั่งยืน
(Boost economic long term growth)
• เพื่อการทำให้ธุรกิจมีการเติบโตที่มีเสถียรภาพ (Stabilize the business cycle)
• ลดอัตราการว่างงานในระบบเศรษฐกิจ (Reduce unemployment)
• เพื่อการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อ (Keep inflation low)
• เพื่อการลดการขาดดุลงบประมาณภาครัฐ และลดการขาดดุลระหว่างประเทศ (Reduce the government and international deficits)
(prevent large deficits)
• เพื่อการกระจายรายได้ในสังคม (Distribution of Income in the society)

ด้วยเป้าหมายดังกล่าวการวิเคราะห์เศรษฐกิจจึงจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

การวิเคราะห์เศรษฐกิจ (Macro-Economic Analysis)


เป็นการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต เพื่อคาดการณ์ว่าแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจจะมีผลกระทบต่อภาวะอุตสาหกรรมต่างๆ และภาวการณ์ตลาดหลักทรัพย์โดยรวมอย่างไรบ้าง ผู้ลงทุนควรวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่

1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP
2. ภาวะเงินเฟ้อ
3. อัตราแลกเปลี่ยน
4. อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้
5. ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ
6. นโยบายการเมือง การคลัง พาณิชย์ ธปท. และกนง.
7. ราคาน้ำมัน
8. ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจสหรัฐ