ข่าวการเงิน - การลงทุน

26 July 2008

ราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมัน

ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน
เป็นเชื้อเพลิงที่มีความต้องการใช้สูงกว่าพลังงานชนิดอื่น ๆ จึงมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทั้งยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างไรก็ดี “น้ำมันดิบ” จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเมื่อผ่านกระบวนการผลิตที่แยกส่วนออกเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (Petroleum Products) หลายชนิดซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะแตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และน้ำมันเตา ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ราคาน้ำมันดิบแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไปตามคุณภาพของน้ำมันชนิดนั้น เช่น น้ำมันดิบชนิดหนัก/เบา (Heavy/Light Crude)


เมื่อผ่านกระบวนการกลั่นแล้วให้ชนิดน้ำมันสำเร็จรูปตรงตามความต้องการของตลาด อาทิ เบนซิน หรือดีเซลในปริมาณมากน้อยต่างกัน นอกจากนั้น น้ำมันดิบที่มีปริมาณกำมะถันสูง/ต่ำ (Sour/Sweet Crude)จะมีราคาซื้อขายที่แตกต่างกันการคาดการณ์หรือพยากรณ์ระดับราคาน้ำมันในอนาคตเป็นสิ่งที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะน้ำมัน เป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ทั่วโลก และสามารถทำให้คุณภาพเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ได้หลากหลายแตกต่างกับสินค้าอื่นๆ มาก เนื่องจากตลาดน้ำมันส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมระดับภูมิภาคที่เกิดจากหลายประเทศรวมกัน และเกิดจากการปฏิบัติของคนหลายกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์และสภาพแวดล้อมต่างกัน จึงมีปัจจัยหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์แนวโน้มของราคาน้ำมันนั้น สามารถวิเคราะห์ได้ทั้งในระดับภูมิภาค (Regional Area) และระดับโลก (Global)

ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน

1. ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Factor)
ปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ อุปสงค์และอุปทาน (Demand/Supply) เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ อุปสงค์และอุปทานของน้ำมันแต่ละชนิดจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะและเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อใดที่อุปสงค์/อุปทานไม่มีสมดุล (ไม่เท่าเทียมกัน) ก็จะกระทบต่อราคาได้ เช่นอุปสงค์มากกว่าอุปทาน (ความต้องการใช้มากกว่าปริมาณที่ผลิตได้) ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น สิ่งที่ทำให้อุปสงค์และอุปทานขาดสมดุล ได้แก่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันเมื่อใดที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในชีวิตประจำวันและความต้องการใช้เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจะขยายตัวสูงขึ้น ถ้าโลกไม่สามารถผลิตได้ทันความต้องการก็จะส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันสูงขึ้น ในทางกลับกันราคาน้ำมันอาจลดลง เมื่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำเพราะมีน้ำมันมากกว่าความต้องการของตลาด ทั้งนี้จักต้อง




พิจารณาอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในทุกภูมิภาค

สภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนฤดูกาลก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันและการผลิตน้ำมันขาดสมดุล (ไม่เท่าเทียมกัน) โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภค อาทิ ในบริเวณยุโรป และสหรัฐอเมริกาจะมีความต้องการใช้น้ำมันเปลี่ยนไปตามฤดูกาลอย่างเห็นได้ชัด

ดังจะเห็นได้จากในช่วงฤดูหนาว ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่น (Heating Oil) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา จะมีปริมาณมากกว่าน้ำมันประเภทอื่น ทั้งนี้ การสำรองน้ำมันประเภทนี้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี เพื่อเตรียมรับปริมาณการใช้ในฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงต้นปี ทำให้ราคาน้ำมันเริ่มทยอยสูงขึ้นในช่วงดังกล่าว และยิ่งไปกว่านั้นหากสภาพอุณหภูมิในฤดูหนาวนั้นมีความหนาวเย็นรุนแรงกว่าปกติก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความต้องการน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ผู้ใช้เกิดความกลัวว่าจะไม่มีน้ำมันเพียงพอจึงเข้ามาซื้อเก็บไว้มาก ก่อให้เกิดอุปสงค์มากกว่าอุปทานอันส่งผลต่อราคาด้วยเช่นกันในขณะที่ช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นฤดูแห่งการเดินทางท่องเที่ยวของประเทศในตะวันตก และเริ่มในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี คือตั้งแต่ราวกรกฎาคมนั้น ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินก็จะสูงกว่าน้ำมันประเภทอื่น

ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 กล่าวโดยสรุป สภาวะอากาศเป็นปัจจัยพื้นฐานอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อสมดุลของอุปสงค์/อุปทาน (Demand/Supply) ซึ่งมีผลโดยตรงต่อราคาน้ำมัน

กำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน หากมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการผลิตน้ำมันที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้ ย่อมส่งผลกระทบต่อระดับราคาน้ำมันอย่างแน่นอน ดังเช่นวิกฤตการณ์น้ำมันโลกที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองและสามารถผลิตน้ำมันได้ในระดับสูงจึงมีอำนาจในการเจรจาต่อรองราคา ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตน้ำมันที่ว่านี้หมายถึงองค์การประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าออกหรือกลุ่มโอเปก (Organization of Petroleum Exporting Countries) ซึ่งปัจจุบันมี 11 ประเทศได้แก่ แอลจีเรีย อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก คูเวต ลิเบีย ไนจีเรีย กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวเนซุเอลา โดยกลุ่มโอเปกสามารถควบคุมและบริหารปริมาณการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ หากประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกผลิตน้ำมันมากหรือน้อยเกินไปก็ย่อมจะส่งผลถึงราคาน้ำมัน

ยกตัวอย่าง สถานการณ์การประท้วงของพนักงานที่ปฏิบัติงานที่แท่นขุดเจาะน้ำมันที่ประเทศไนจีเรียลุกลามและยืดเยื้อทำให้ปริมาณการผลิตลดลงส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

นโยบายของประเทศกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน
การกำหนดนโยบายของผู้ผลิตน้ำมันต่าง ๆ มีผลกระทบต่อสมดุลของอุปสงค์และอุปทานของตลาดน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น มติของกลุ่มโอเปกซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่และครอบครองปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลกที่ประกาศออกมาแต่ละครั้งย่อมมีอิทธิพลที่จะทำให้ระดับราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลง จึงเห็นได้ว่าการประชุมกลุ่มโอเปกในแต่ละครั้งจะได้รับความสนใจและเป็นข่าวสำคัญที่ต้องติดตามอย่างขาดเสียมิได้

ปริมาณน้ำมันสำรองของประเทศผู้บริโภครายสำคัญของโลก ตามปกติแล้วประเทศต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้น้ำมันสูงจะเก็บสำรองน้ำมันไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง ประเทศผู้บริโภคน้ำมันสูงมักจะเก็บสำรองน้ำมันในระดับที่เพียงพอใช้เท่านั้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย
ถ้าปริมาณสำรองน้ำมันมีมากเพียงพอ ความกังวลว่าอุปทานน้ำมันจะตึงตัวก็ลดลง ราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ในขณะเดียวกันหากความต้องการใช้น้ำมันของโลกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประมาณการไว้มากก็จะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำรองลดต่ำลง ทำให้ ผู้ใช้น้ำมันเข้ามาหาซื้อในตลาดมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานตึงตัว ราคาน้ำมันก็จะปรับสูงขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ ปริมาณสำรองน้ำมันของผู้บริโภครายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในทวีปยุโรปจึงเป็นเรื่องที่วงการธุรกิจน้ำมันให้ความสำคัญไม่น้อย

พลังงานทดแทน หากมีการค้นพบและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำพลังงานชนิดอื่น ๆ เช่นก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน นิวเคลียร์ ฯลฯ มาใช้ทดแทนน้ำมันได้มากขึ้น ในราคาที่แข่งขันได้ และสะดวกในการใช้งานของผู้บริโภค ความต้องการใช้และระดับราคาน้ำมันย่อมลดลง แต่ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถค้นคว้าหรือพัฒนาพลังงานประเภทอื่น ๆ มาใช้ทดแทนน้ำมันได้ ราคาน้ำมันก็ยังจะคงมีความผันผวนขึ้นลงตามอุปสงค์/อุปทานที่ยังขาดความสมดุล อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์น้ำมันโลกที่เกิดขึ้นทุกครั้งกระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนหันไปพัฒนาพลังงานชนิดอื่นขึ้นมาใช้ทดแทนน้ำมัน เมื่อใดก็ตามหากมีการพัฒนาพลังงานทดแทนน้ำมันได้เพียงพอและก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์ /อุปทาน เมื่อนั้นราคาน้ำมันจึงจะมีเสถียรภาพ


2. ปัจจัยทางความรู้สึกของผู้ซื้อขายในตลาดน้ำมัน (Sentimental Factor)
จากการที่ธรรมชาติของตลาดน้ำมันมีลักษณะเฉพาะซึ่งมักจะอ่อนไหวต่อกระแสข่าวต่าง ๆมากกว่าตลาดอื่น ความรู้สึกของผู้ซื้อขายในตลาดน้ำมันมักจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตอบรับกระแสข่าวต่างๆ อย่างรวดเร็วอยู่เสมอ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกในภูมิภาคหนึ่งมักจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะในสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น ภาวะสงคราม
ที่สำคัญ หากข่าวคราวดังกล่าวเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้น้ำมันรายสำคัญของโลก
โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ประเทศในกลุ่มทะเลเหนือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ฯลฯ มักจะมีผลกระทบต่อตลาดน้ำมันมากกว่าและรุนแรงกว่าข่าวคราวจากภูมิภาคอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ การติดตามสถานการณ์ข่าวความไม่สงบ การประท้วง การทำรัฐประหาร การลอบสังหารผู้นำทางการเมืองของประเทศสมาชิกโอเปก หรือมติขององค์การระหว่างประเทศที่มีผลต่อสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งเพราะล้วนมีผลต่อการขึ้นลงของราคาอันเนื่องจากความวิตกกังวล แม้ความจริงแล้วปริมาณการผลิตและส่งออกยังคงเป็นไปตามปกติ ไม่ได้ลดน้อยลงไปจากเดิมแต่อย่างใด


3. ปัจจัยทางเทคนิค (Technical Factor)
การซื้อขายในตลาดน้ำมันนั้น นอกจากผู้ค้าจะต้องติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐานของตลาดน้ำมันแล้ว ยังจำเป็นต้องอาศัยข้อมูล สถิติ รายงานค่าเฉลี่ยย้อนหลังของราคาน้ำมันมาประกอบการพิจารณาระดับราคาน้ำมันในปัจจุบัน ทั้งนี้ ข้อมูลทางสถิติดังกล่าวจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อขายน้ำมันและจะมีผลทางอ้อมต่อระดับราคาด้วย โดยเฉพาะในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า(Future Market) ซึ่งจะมีปริมาณการซื้อขายเกินกว่าปริมาณน้ำมันที่มีอยู่จริงในตลาด และส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายเพื่อเก็งกำไร สำหรับตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าใหญ่ๆ ปัจจุบันมีอยู่ 5 แห่งด้วยกันคือ NewYork Merchantile Exchange (NYMEX) ณ กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา, International PetroleumExchange (IPE) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, Singapore Monetary Exchange (SGX) ประเทศสิงคโปร์, Tokyo Commodity Exchange (TOCOM) ประเทศญี่ปุ่น และ Shanghai Futures Exchangeประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน


4. ปัจจัยอื่น ๆ (Miscellaneous Factor)
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
น้ำมันที่มีการซื้อขายกันระหว่างประเทศ มักจะกำหนดราคาเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ย่อมมีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน เพราะเมื่อใดที่เงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนตัวลง จะทำให้ราคาน้ำมันดิบที่นำเข้าประเทศและราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันต่างๆ ถูกลงเมื่อคิดเป็นเงินตราท้องถิ่น

แต่ถ้าคำนวณในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ ราคาน้ำมันจะสูงขึ้น เมื่อเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งขึ้นราคาน้ำมันก็จะลดลง นอกจากนี้ การที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ย่อมทำให้การเปรียบเทียบราคาน้ำมันในตลาดต่าง ๆเป็นไปด้วยความลำบากอย่างยิ่ง


สรุป
จะเห็นได้ว่าไม่มีใครสามารถกำหนดราคาน้ำมันล่วงหน้าได้ ทว่า......สามารถคาดการณ์แนวโน้มและทิศทางราคาน้ำมันได้ โดยพิจารณา วิเคราะห์จากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันย่อมผันแปรไปตามปัจจัยรายล้อมที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ด้วยเหตุนี้ ความเข้าใจในกลไกของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน จึงนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้สามารถวางแผนการใช้พลังงานได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์แนวโน้มของราคาน้ำมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องหลายประการ ระดับราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่กำหนดไว้ ณ วันที่ทำการวิเคราะห์ ดังนั้น การคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญแต่ละแห่งอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เชี่ยวชาญนั้น ๆ ว่าจะกำหนดสมมติฐานในการประมาณการไว้อย่างไร


ราคาน้ำมัน VS ราคาหุ้น

เรื่องหุ้นนิดนึงดีกว่า ว่าเหมือนหรือเกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันอย่างไรบ้าง น้ำมันนั้นถือเป็นต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมของเกือบทุกบริษัท มากน้อยตามโครงสร้างค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัท เช่น บริษัทขนส่งอย่างการบินไทย แน่นอนน้ำมันถือเป็นต้นทุนสำคัญที่สุดตัวหนึ่ง (สมมุติว่าประมาณสัก 20% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด) หรืออย่างบริษัทรับเหมาก่อสร้างก็เช่นเดียวกัน การก่อสร้างนั้นต้องมีการขนส่งเครื่องไม้เครื่องมือและการขนส่งต่างๆเยอะ น้ำมันก็ย่อมเป็นต้นทุนที่สำคัญอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน แล้วเราก็ลองสมมุติต่อว่า น้ำมันขึ้น 50% (เช่น ดีเซล ขึ้นจาก 12 บาทมาที่ 18 บาทต่อลิตร) นั้นหมายถึงต้นทุนน้ำมันของการบินไทยจะกลายเป็นสัดส่วนถึง 30% (20% x 1.50 = 30%) หรือหมายถึง กำไรสุทธิที่ลดลงถึง 10% (เอาแบบตัวเลขง่ายๆนะ) แต่ แต่อย่าพึงตกใจครับ การบินไทยก็อาจไปทำ fixed ราคาน้ำมันไว้ก่อนเพื่อให้ผลกระทบน้อยลง หรือไม่ก็เพิ่มค่าตั๋ว (เช่น surcharge ค่าน้ำมัน) มาเก็บกับผู้โดยสารเพื่อผลักภาระนี้ไป ทำให้ลดความรุนแรงของผลกระทบจากราคาน้ำมันได้บ้าง ส่วนของบริษัทก่อสร้างใหญ่ๆที่รัฐประมูลโครงการจากรัฐบาลนั้น แบบย่อๆคือว่า ถ้าต้นทุนสูงเกินกว่ากำหนดกันไว้ในสัญญา x.x% รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบแทนครับ ส่วนก่อสร้างรายเล็กๆก็ .... ตายกันเองครับ บริหารกันเอาเอง

นอกจากนี้ น้ำมันยังเป็นต้นทุนสำคัญทางอ้อมส่วนหนึ่งของบริษัทต่างๆอีกด้วย ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การผลิตกระแสไฟฟ้านั้นยังใช้เชื้อเพลิงที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (น้ำมันเตา) หรืออ้างอิงราคาจากราคาน้ำมัน เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ แปลว่าน้ำมันขึ้น ไฟฟ้าก็ขึ้นครับ ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ทุกคนใช้กันอยู่แล้ว ต้นทุนการผลิตของบริษัทและโรงงานต่างๆจึงสูงขึ้นตาม นอกจากนี้ เมื่อต้นทุนการดำเนินชีวิตจากการเติมน้ำมันหรือใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายที่น้อยลงของผู้บริโภค แล้วก็ส่งต่อมาถึงยอดขายและกำไรของบริษัทต่างๆในตลาดหลักทรัพย์ เห็นไหมว่าสุดท้ายแล้วมันเกี่ยวข้องกันหมดแหละ

แล้วราคาหุ้นในตลาดละ แน่นอนว่าการที่น้ำมันขึ้นมากๆก็ทำให้คนกลัวถึงผลประกอบการของบริษัทต่างๆในตลาด (จากต้นทุนที่สูงขึ้นและกำลังซื้อที่ลดลง) ทำให้นักเก็งกำไรกลัวและใช้เป็นข้ออ้างในการขายหุ้น โดยเฉพาะช่วงก่อน เมื่อหุ้นตก คนก็มักอ้างว่าเป็นเพราะน้ำมันขึ้น เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งให้คนที่ลงทุนในหุ้นหันมาสนใจราคาน้ำมันกัน เออ แล้วคิดต่อสิ ว่าถ้าราคาน้ำมันลงละ..... สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือหุ้นก็ตกอยู่ดีครับ เพราะว่าคนกลัวว่าน้ำมันลงทำให้หุ้นใหญ่ๆที่มีผลต่อการคำนวณ SET INDEX มากๆอย่าง ปตท. ปตทสผ. หรือ ไทยออยล์ จะลงทำให้ภาพรวมของ SET INDEX ลงครับ คนก็เลยยังขายกันต่อ ................. สรุปว่าน้ำมันขึ้นหุ้นลง น้ำมันลงหุ้นก็ลง ฮ่า ฮ่า คุ้นๆเหมือนเรื่องราคาน้ำมันในต่างประเทศไหม?

0 Comments: