ข่าวการเงิน - การลงทุน

04 July 2008

มุมมองหุ้นไทยสไตล์ Richerstock 03-07-08

หุ้นดิ่งเหว17จุด กังวลเงินเฟ้อ-น้ำมันพุ่ง
บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ ดัชนียังคงแกว่งตัวในแดนลบ ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยระหว่างวันดัชนีปรับตัวสูงสุดที่ 753.66 จุด และลดลงต่ำสุดที่ 742.13 จุด ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 742.15 จุด ลบ 17.86 จุด หรือลดลงกว่า 2.35% มูลค่าการซื้อขาย 15,006.48 ล้านบาท
หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย BANPU อยู่ที่ 484.00 บาท ลบ 48.00 บาท PTTEP อยู่ที่ 181.00 บาท ลบ 10.00 บาท PTT อยู่ที่ 298.00 บาท ลบ 6.00 บาท KBANK อยู่ที่ 66.50 บาท ลบ 2.00 บาท และ SCB อยู่ที่ 73.50 บาท ลบ 1.50 บาท
ขณะที่พอร์ตการลงทุนต่างชาติวันนี้ขายสุทธิออกมาอีกกว่า 4,154.05 ล้านบาท
นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลงตามการคาดหมาย ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากตลาดฯไม่ได้มีปัจจัยบวกอะไรมากระตุ้น ประกอบกับต้องเผชิญกับเงินเฟ้อสูง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และเศรษฐกิจจะชะลอตัว ประเด็นนี้ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
สำหรับตลาดหุ้นไทยก็ยังได้รับแรงขายต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติ โดยวันนี้หุ้น BANPU เป็นตัวนำในการฉุดตลาด หลังราคาถ่านหินปรับตัวลง ขณะที่หุ้น PTTEP ก็ได้มีการพักตัว แม้ว่าจะได้รับผลดีจากราคาน้ำมันขึ้นก็ตาม
"ก่อนหน้านี้เมื่อหุ้นใหญ่พักตัว ก็จะมีการหันไปเล่นหุ้นเล็กบ้าง แต่มาวันนี้ดูเหมือนนักลงทุนจะไม่ค่อยกล้าเล่นหุ้นเล็ก เพราะคงจะกลัวเจอเกณฑ์ Turnover List ของตลาดฯ ทำให้เห็นได้ว่าทั้งหุ้นใหญ่-หุ้นเล็กต่างปรับตัวลงกันหมด"นายเจริญ กล่าว
ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยได้เข้ามาอยู่ในเขต oversold แล้ว ดังนั้นก็อาจจะทำให้มีการรีบาวน์ขึ้นได้ในหุ้นบางตัว แต่คงจะไม่ใช่ทุกตัวเพราะ Timing ขณะนี้ยังไม่เหมาะลงทุนเท่าไร
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ค.) ตลาดยังคงเป็นขาลง แต่ก็อาจจะมีการรีบาวน์ได้บ้างในระหว่างเทรด พร้อมให้แนวรับไว้ที่ 737 จุด ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 753 จุด

คลังสั่งแบงก์รัฐตรึงดบ.ช่วยเหลือชาวบ้าน

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะมีทั้งผลดีและผลกระทบหลายส่วน เพราะหากปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงอัตราเงินเฟ้อสูง จะช่วยให้ผู้มีเงินฝากมีรายได้มากขึ้นและเป็นทางเลือกในการออม ขณะเดียวกันหากปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้จะกระทบต่อผู้ประกอบการ ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น รวมถึงผู้กู้ซื้อบ้าน
รมว.คลัง กล่าวว่า ต้องการให้สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาให้เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สำหรับสถาบันการเงินของรัฐน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลได้
ส่วนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เมื่อดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นอาจทำให้หลายโครงการต้องพิจารณาแผนลงทุนให้เกิดความเหมาะสมและไม่ให้มีภาระต่อฐานะการคลังระยะยาว เพราะมีเงินลงทุนเมกะโปรเจกต์ 1.7 ล้านล้านบาท จะต้องทำอย่างรัดกุมไม่ให้เกิดผลตามมาภายหลัง
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะมีแนวโน้มสูงขึ้นก็ยังมีแหล่งเงินกู้ต่างประเทศจากองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นตัวเลือกในการระดมทุน

วอนเอกชนร่วมขับเคลื่อน-ยันเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ
"การดำเนินงานของภาครัฐ จะไม่ประสบความสำเร็จเลย ถ้าภาคเอกชนไม่ช่วยกัน เพราะผมเชื่อว่าเอกชนมีบทบาทที่สำคัญ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศด้วยเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบถึง 70-80%" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
นพ. สุรพงษ์ กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้ตั้งแต่ต้นปีในทุกมาตรการสามารถลดผลกระทบจากความผันผวนในสถานการณ์ต่างๆได้พอสมควร
ขณะที่สิ่งที่รัฐบาลมุ่งมั่นจะดำเนินการ คือ ต้องสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้เกิดการขยายการลงทุน และคาดการณ์ว่าความผันผวนภายนอกประเทศจากราคาน้ำมัน โดยเฉพาะปัญหาการเก็งกำไร น่าจะปรับตัวได้ดีขึ้น หลังทั่วโลกเริ่มจับตามอง

เอกชนระบุดอกเบี้ยสูงกระทบต้นทุน-เพิ่มภาระหนี้
ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า หากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนทั้งค่าแรง ราคาน้ำมัน ปัญหาอัตราเงินเฟ้อจนต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น หากราคาสินค้าสูงมากก็จะทำให้ผู้บริโภคชะลอ การซื้อ ดังนั้นในฐานะผู้ประกอบการก็ไม่อยากให้เพิ่มดอกเบี้ยสูงมากเกินไป
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้เอกชนไม่ต้องการเห็นดอกเบี้ยเงินกู้ขยับสูงขึ้น แต่เรื่องอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะเพิ่มภาระมากขึ้นให้กับทุกส่วนก็เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะต้องแก้ไข
ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินด้านดอกเบี้ย จึงเป็นการให้ความเห็นตามความ
รู้สึกของแต่ละฝ่าย เพราะบางส่วนต้องการให้เพิ่มดอกเบี้ย อีกฝ่ายอาจต้องการให้ชะลอการปรับขึ้น คงเป็นแนวคิดที่ไม่เป็นเอกฉันท์ ดังนั้น ทั้งกระทรวงการคลัง และ ธปท. จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ