ข่าวการเงิน - การลงทุน

19 July 2008

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP

คำว่า GDP เป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยมาก แต่ใครเล่าจะรู้ซึ้งถึงความหมายที่แท้จริง และมันมีไว้ทำอะไร ?!?

นิยาม

จากความสัมพันธ์ระหว่างภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างการทำหน้าที่ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ในฐานะที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ผลิต และฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ใช้ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ จะเห็นว่ากิจกรรมที่เชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจทั้งสองเข้าด้วยกัน คือ ภาคครัวเรือน ให้ใช้ปัจจัยแรงงาน ที่ดิน ทุน และผู้ประกอบการ ได้รายได้เป็น ค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย และกำไร เมื่อรวมรายได้ทุกประเภทของเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหมดที่มีส่วนร่วมในการผลิต เรียกว่า " รายได้ประชาชาติ " ซึ่งจะนำไปใช้จ่ายเพื่อซื้อผลผลิตที่อยู่ในรูปของสินค้า และบริการต่าง ๆ จากภาคธุรกิจ
เพราะฉะนั้น ถ้าหากมองความสัมพันธ์อย่างง่าย ๆ จะเห็นว่า " รายได้ประชาชาติ " จะเท่ากับ " ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ " และจะต้องเท่ากับ " มูลค่าของผลผลิต " อีกด้วย เช่น คนในครอบครัวไปซื้อของที่ตลาดเสียเงินไปหนึ่งร้อยบาท ก็จะต้องได้สินค้าที่มีมูลค่าหนึ่งร้อยบาทกลับมาใช่ไหม แล้วขอถามต่อว่า แล้วคนในครอบครัว เอาเงินมาจากไหน คำตอบก็คือ ได้มาจากการขายปัจจัยการผลิตในภาคธุรกิจ ซึ่งมีผลตอบแทนมาหนึ่งร้อยบาทเท่ากับปัจจัยการผลิตของเรา ที่ให้เขาเอาไปใช้นั่นเอง ดังนั้น จะคิดมูลค่าของ " รายได้ " หรือ " ค่าใช้จ่าย " หรือ " มูลค่าผลผลิต " มันก็ต้องเป็นจำนวนเท่ากัน

ความหมาย

GDP ย่อมาจากคำว่า Gross Domestic Product ภาษาไทยแปลว่า " ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเบื้องต้น " หรือ " ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ " หมายถึง มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นภายในประเทศในระยะเวลาหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงว่าทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตสินค้า และบริการจะเป็นทรัพยากรของพลเมืองในประเทศหรือเป็น ของชาวต่างประเทศ ในทางตรงข้าม ทรัพยากรของพลเมืองในประเทศแต่ไปทำ การผลิตในต่างประเทศ ก็ไม่นับรวมไว้ในผลิตภัณฑ์ในประเทศ ผลิตภัณฑ์ในประเทศมีการจัดทำทั้งตามราคาปัจจุบันและราคาคงที่โดย GDP ณ ราคาปัจจุบัน คิดมูลค่าผลผลิตเป็นเงินตามราคาตลาดของสินค้าและบริการเหล่านั้น ขณะที่ GDP ณ ราคาคงที่คิดมูลค่าผลผลิตเป็นเงินตามราคาปีที่กำหนดเป็นปีฐาน

วิธีการคำนวณตัวเลข GDP ทางรายจ่าย

GDP = C + I + G + ( X - M)
C = รายจ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Expenditure)
I = รายจ่ายเพื่อการลงทุนภาคเอกชน (Private Investment Expenditure)
G = รายจ่ายของรัฐบาลในการซื้อสินค้าและบริการ (Government Expenditure)
X = การส่งออก (Export)
M = การนำเข้า (Import)

โดย ….
C = รายจ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชน (private consumption expenditure)
คือ รายจ่ายของภาคครัวเรือนในการซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งหมวดสินค้าสามารถแบ่งออกเป็น
1. สินค้าประเภทคงทน (Durable Goods) เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
2. สินค้าประเภทไม่คงทน (Non-Durable Goods) เช่น อาหาร เสื้อผ้า

I = รายจ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชน (Private Investment Expenditure)
ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้แก่
1. สินค้าคงเหลือ (Inventories)
2. รายจ่ายในการซื้อเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการผลิตสินค้าและ บริการ (Machinery and equipment)
3. รายจ่ายเพื่อการก่อสร้างใหม่ อาทิ ค่าก่อสร้างโรงงาน สถานที่เก็บสินค้า รวมถึงการ สร้างที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของอยู่อาศัยเองหรือให้ผู้อื่นเช่า
อย่างไรก็ตาม I คือ รายจ่ายลงทุนมวลรวม (Gross Investment) ยังไม่ได้หักค่าเสื่อม (Depreciation) หรือส่วนที่ลงทุนทดแทน

G = รายจ่ายของรัฐบาลในการซื้อสินค้าและบริการ (Government Expenditure)
ได้แก่ รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย รวมทั้งค่าจ้างและเงินเดือน ข้าราชการ แต่ไม่รวมรายจ่ายในเรื่องเงินโอน เช่น รายจ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมและเงินบำนาญ

( X - M) = การส่งออกสุทธิ (Net Export)
การคำนวณ GDP ในระบบเศรษฐกิจแบบเปิดจะต้องรวมเอามูลค่าการส่งออกสุทธิ
มาคำนวณด้วย นั่นคือ การนำมูลค่าสินค้าส่วนที่ถูกบริโภคโดยชาวต่างประเทศ
หักออกด้วยรายจ่ายส่วนที่เป็นการบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ


GDP บอกอะไรเราบ้าง

จีดีพี (GDP)หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product) ได้แก่การผลิตสินค้าและบริการที่ชื้อขายในตลาดในเวลา 1 ปี ในทางเศรษฐศาสตร์ได้นำค่าตัวเลขของจีดีพีมาวัดการเติมโตทางเศรษฐกิจ เช่นว่าปีนี้จีดีพีเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ก็แสดงให้เห็นว่าเรามีรายได้มวลรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ เช่นเมื่อปี 2547 เรามีจีดีพี 5.8 ล้านๆ บาท ประชากรจำนวน 63 ล้านคน เมื่อหารด้วย 63 ล้านจะได้รายได้ต่อปี และหารด้วย 12 จะได้รายได้แต่ละคนต่อเดือน ก็ตกอยู่ประมาณ 7200 บาทต่อเดือน ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขโดยเฉพาะเฉลี่ยทั้งประเทศ ที่นำคนที่มีรายได้ต่อปี 10000 ล้าน 100 ล้านมาเฉลี่ยด้วย จึงเป็นเรื่องปกติธรรมด้าที่เรายังพบว่ามีคนจนที่มีรายได้ไม่ถึง 7200 บาทอยู่จำนวนมาก ที่ทราบกันมากกว่า 10 ล้านคน

ดังนั้นค่าจีดีพีไม่ได้สะท้อนการมีรายได้ของประชากรอย่างแท้จริง เพราะขณะที่จีดีพีเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ในระบบทุนนิยม นักธุรกิจอาจจะมีรายได้เพิ่มมากกว่า 50 เปอร์เซ็น ประชาชนบางกลุ่มอาจมีรายได้เพิ่มไม่ถึง 5 เปอร์เซ้นต์ และอาจจะมีบางกลุ่มรายได้ลดลง ดังที่พูดกันว่ายิ่งพัฒนาในระบบทุนนิยมยิ่งทำให้ยากจนลง เพราะกระตุ้นให้คนบริโภคใช้จ่ายมากขึ้น จะได้ผลิตสินค้าได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง บางทีก็ไม่คุ้มกับที่เสียไป

เมื่อนำค่าจีดีพีของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว ประเทศได้มีจีดีพี 5.5 ล้านล้านบาทขณะที่ประเทศสิงคโปร์มีจีดีพี 4.5 ล้านล้านบาท โดยที่ประชากรประเทศไทย 60 กว่าล้านขายสินค้าและบริการได้ 5.5 ล้านบาท ขณะที่คนสิงคโปร์ 3 ล้านกว่าคนขายสินค้าและบริการได้ 4.5 ล้านบาท ดังนั้นโดยเฉลี่ยคนสิงคโปร์มีรายได้สูงกว่าประเทศไทยมากไม่น้อยกว่า 20 เท่า อาจกล่าวเล่นๆ ว่าคนสิงคโปร์ทำงานหนักว่าคนไทยถึง 20 เท่า แต่ที่ว่าทำงานหนักนั้นไม่ได้หมายความว่าใช้แรงงานในการทำงาน แต่ใช้สมองความรู้ความสามารถในการทำงาน เช่นจ้างแรงงานต่างชาติมาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้เครื่องจักรมาช่วยในการผลิตมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้แรงงานมากมายแต่ก็ต้องคิดทำงานแก้ปัญหาแน่นอน ความเครียดน่าจะมากกว่า

อย่างไรก็ตามการคิดค่าจีดีพีในทางเศรษฐศาสตร์ จากเงินลงทุน บวก ค่าใช้จ่ายบริโภคมวลรวม บวก ค่าใช้จ่ายภาครัฐ บวกกับผลต่างระหว่างค่าสินค้าส่งออกและนำเข้า จากสูตรการคิดดังกล่าวนี้ทำให้ทราบว่าทำไมการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเหมือนเป็นสูตรสำเร็จว่าจะต้องกระตุ้นการส่งออก ส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมการลงทุน และแอบส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ในภาวะที่หุ้นตก การลงทุนก็ลดลง และถ้ารัฐใช้แนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง การบริโภคก็ลดลง การใช้จ่ายภาครัฐก็ลดลง ตัวที่จะทำให้จีดีพีดีขึ้นก็เห็นแต่ภาคการส่งออก ซึ่งก็มีส่วนให้มีการบริโภคภายในประเทศด้วย และที่เราประหยัดกันให้มากในด้านสั่งสินค้าฟุ่มเฟือย ลดการใช้น้ำมันลงก็ช่วยจีดีพีให้เพิ่มขึ้นเหมือนกัน

1 Comment:

Anonymous said...

ขอบคุณสำหรับบทความนะค่ะ