ข่าวการเงิน - การลงทุน

27 June 2008

มุมมองหุ้นไทยสไตล์ Richerstock 27-06-08

ขึ้นดอกเบี้ย : ยาแก้ (ไข้) เงินเฟ้อ?

“คุณหมอ (เลี๊ยบ) ครับ ผมต้องการยาแก้ไข้ครับ” คุณหมอคงจะถามต่อว่า “อาการเป็นอย่างไร” ผมก็คงจะเล่าต่อว่า “มีอาการซึมๆ (ทางเศรษฐกิจ) มึนงงกับสิ่งรอบข้าง (การเมืองไม่นิ่ง) หน้ามืด (น้ำมันแพง) และอาการท้องเฟ้อ(เงินเฟ้อและของแพง) เกิดขึ้น”
คุณหมอคงจะตอบว่า “แก้ยากเพราะให้ยาตัวหนึ่ง (ขึ้นดอกเบี้ย) อาจมีผลข้างเคียง แต่คงต้องให้ยาแก้ไขปัญหาที่หนักที่สุดก่อน แล้วให้ยาชุด (ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังควบคู่กัน) แก้ไข้ที่คุณเป็นทุกอาการก็แล้วกัน”
เรื่องที่สภากาแฟไทยโดยเฉพาะแวดวงเศรษฐกิจและธุรกิจพูดกันอย่างอื้ออึงในสัปดาห์นี้ นอกจากข่าวลือเกี่ยวกับการปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว คงหนีไม่พ้นเรื่องการปรับหรือไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลระยะเวลา 1 วัน (อาร์พี 1 วัน) ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อดูแลปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงในขณะนี้
ทั้งนี้หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของเดือนพฤษภาคม 2551 โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 7.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีโอกาสปรับตัวสูงถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยิ่งทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อในระดับ 8-9% มีโอกาสได้เห็นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ยิ่งถ้าราคาน้ำมันปรับตัวสูงถึงระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นระดับเวลายาวนาน ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงเกินกว่า 10% ได้
ซึ่งเรื่องนี้แม้กระทั่งผู้ว่าการ ธปท. ก็ออกมายอมรับว่า มีโอกาสที่จะได้เห็นอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลักได้ในบางเดือน ทั้งนี้ขึ้นกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญเพราะราคาน้ำมันเป็น ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อและการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันก็ทำได้ยากในช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม ธปท. ก็แสดงความมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยทั้งปีจะปรับขึ้นไม่ถึง 2 หลักหรือไม่เกิน 10% แน่นอน เพราะอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้อยู่ในระดับเพียง 5.8% ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อทั้งปีสูงถึง 2 หลักแสดงว่าอีก 7 เดือนที่เหลือ อัตราเงินเฟ้อในแต่ละเดือนจะปรับตัวสูงมาก
ผมนั่งคำนวณคร่าวๆ พบว่า อัตราเงินเฟ้อใน 7 เดือนที่เหลือต้องอยู่ในระดับ 13% เป็นอย่างน้อยถึงทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยทั้งปีจะเกิน 10% ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นแบบนี้ยากมากๆ ครับ แต่อาจเป็นไปได้ถ้าระดับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 170-180 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายนักและคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่ม G8 ที่เรียกร้องให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเข้ามาแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงและสนับสนุนให้สหรัฐฯ ผลักดันนโยบายให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้น เพื่อลดแรงกัดดันที่จะทำให้ราคาน้มันแพงขึ้น อีกทั้งกลุ่ม OPEC โดยเฉพาะประเทศซาอุดิอารเบียได้เริ่มเข้ามาตอบสนองการเพิ่มปริมาณน้ำมันในตลาดโลก แม้ว่าในเบื้องต้นการเพิ่มน้ำมันเพียง 2 แสนบาร์เรลต่อวันจะดูน้อยเกินไป แต่ก็เป็นท่าทีที่สำคัญที่จะชะลอการปรับสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่สี่ของปีนี้ (หรืออาจจะเร้วกว่านั้น) ที่กลุ่ม OPEC จะมีการประชุมพิจารณาการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันสู่ตลาดโลก
ไม่ว่าจะราคาน้ำมันจะปรับตัวอย่างไรก็ตามในอนาคต พิษสงของการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันก็ทำให้อัตราเงินเฟ้อของทุกประเทศปรับตัวสูงขึ้น จนทำให้เกิดการประท้วงของประชาชนในหลายประเทศที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงและค่าครองชีพสูง ทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชียได้ตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นเพื่อสกัดกั้นปัญหาเงินเฟ้อไม่ให้ทวีความรุนแรงขึ้น
แม้กระทั่ง ธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือ Fed ก็แสดงท่าทีว่าอาจหยุดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว แล้วหันมาใช้อัตราดอกเบี้ยในการป้องกันปัญหาเงินเฟ้อหรือดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแทน จนทำให้มีการคาดการณ์ว่า Fed อาจปรับขึ้น Fed fund rate จาก 2.0% เป็น 2.25% และ 2.5% ในเดือนสิงหาคมและตุลาคม ตามลำดับ จนทำให้ทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ต่างออกมาแสดงความเห็นต่อสื่อมวลชนต่างประเทศเป็นทิวแถวเพื่อลดกระแสความคาดหมายที่คาดกันว่าธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันอย่างมากเพื่อยับยั้งปัญหาอัตราเงินเฟ้อซึ่งกำลังทวีความรุนแรงขึ้น
เช่น ข่าวที่ว่า “พวกเขา (พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของ Fed ) ไม่ได้โต้แย้งในเรื่องที่ว่า ความเคลื่อนไหวต่อไปในอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯนั้นน่าจะเป็นไปได้มากที่สุดว่าจะเป็นการขยับขึ้น แต่พวกเขารู้สึกว่าตลาดอาจจะไปให้ราคากับการเข้มงวดมากขึ้นดังกล่าวนี้ เอาไว้มากเกินไปแล้วและรวดเร็วเกินไปด้วย” ในรายงานข่าวของไฟแนนเชียลไทมส์ หรือ สำนักข่าวอิตาเลียนที่รายงานคำพูดของ เจ้าหน้าที่บริหารของคนหนึ่งของ ECBที่กล่าวว่า ธนาคารกลางยุโรปขึ้นดอกเบี้ยไปสัก 0.25% ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของแถบยูโรโซน ถอยกลับลงไปต่ำกว่าระดับ 2% ในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า
ข่าวคราวที่เกิดขึ้นมีความหมายสองนัย ประการแรก คือ อัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างแน่นอนเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และประการที่สอง ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ไม่อยากปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นมากเพราะกลัวว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเกิดไปจนยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงไปอีกเพราะการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้การบริโภคและการลงทุนชะลอตัวลง อีกทั้งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการในขณะที่ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นเพราะราคาน้ำมันแพงอยู่แล้ว
ทางสองแพร่งในการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของไทยนั้นมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทางฝั่งผู้สนับสนุนให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงธนาคารและภาควิชาการ โดยให้เหตุผลว่าการที่ธปท.จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นควรดำเนินการเพื่อส่งสัญญานแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และเห็นว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หรือฉุดอำนาจซื้อของประชาชนลง เนื่องจากขณะนี้กระทรวงการคลังได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างเพียงพอต่อการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปตามเป้าที่วางไว้ได้
ขณะที่ฝั่งผู้คัดค้านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งส่วนใหญ่มาจากซีกกระทรวงการคลังมีความเห็นว่า ปัญหาเงินเฟ้อน่าห่วงแต่คงทำอะไรมากไม่ได้เพราะราคาน้ำมันยังพุ่งต่อเนื่อง ถ้าเงินเฟ้อเกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจร้อนแรงจนความต้องการมากกว่าความสามารถในการผลิต กรณีอย่างนี้การขึ้นดอกเบี้ยจึงเป็นเครื่องมือในการดึงความต้องการลงเพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิดจากปัญหาในการผลิตที่ต้นทุนสูงขึ้น ธปท. ควรลดดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนมาตรการทางการคลังเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตในระดับที่ไม่มีปัญหา เพราะ ธปท. เลือกใช้นโยบายดอกเบี้ยตึงตัวด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเท่ากับไปซ้ำเติมภาคเอกชนและระบบเศรษฐกิจ
ขณะที่ ผู้ว่าการ ธปท.ซึ่งเป็นผู้ดูแลนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยของประเทศแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าทิศทางของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอน หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจบ้างแต่ไม่มากนัก แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำสุดในภูมิภาค ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ ซึ่งหากปรับขึ้นอาจกระทบต่อต้นทุนการเงินบ้าง แต่ถือว่าเป็นส่วนน้อยและถือว่ามีฐานที่ต่ำอยู่
อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญานเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม กนง. ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ แต่แสดงความพร้อมว่าหากพบความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กนง. จะพร้อมที่จะใช้นโยบายดอกเบี้ยเข้าดูแลให้เกิดความสมดุลและเหมาะสม ภายใต้ข้อมูลที่แท้จริงทางเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้มีผลกระทบที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาในอนาคต
คงต้องตามอย่างใกล้ชิดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามข้อมูลเศรษฐกิจที่ ธปท.จะประกาศสินเดือนนี้ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนที่กระทรวงพาณิชย์จะประกาศในต้นเดือนกรกฎาคม และแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงเดือนหน้า เพื่อมาดูว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นในการประชุมของกนง. ในเดือนหน้าหรือไม่