ข่าวการเงิน - การลงทุน

17 July 2008

มุมมองหุ้นไทยสไตล์ Investorsolution 17-07-08

. . . 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติค่าครองชีพสูง . . .

. . .
นายกรัฐมนตรี แถลง 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติค่าครองชีพสูง

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีมหาดไทย ร่วมแถลง 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อไทยทุกคน (ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน ตั้งแต่ ส.ค.2551 - ม.ค.2552 )
ทั้ง 6 มาตรการ จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้รวม 49,404 ล้านบาท มาจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 32,000 ล้านบาท
มาตรการแรก คือการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 ลงลิตรละ 3.30 บาท และลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และดีเซลบี 5 ลงลิตรละ 2.30 บาทและ 2.10 บาท ตามลำดับ มาตรการนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม เป็นต้นไป
มาตรการนี้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 ต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 91 และ 95 จากลิตรละ 3-5 บาท เป็นลิตรละ 7-9 บาท และทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากภาษีสรรพสามิตประมาณ 32,000 ล้านบาท
ส่วนที่จะมาชดเชยรายได้สรรพสามิตที่สูญเสียไป คือ รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่คาดว่าจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากผลของมาตรการ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่าครึ่งปีแรกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เกินเป้าหมายประมาณ 9,600 ล้านบาท คาดว่าครึ่งปีหลังภาษีมูลค่าเพิ่มจะจัดเก็บได้เกินเป้าหมายใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก ซึ่งจะมาช่วยชดเชยรายได้ภาษีสรรพสามิตที่สูญเสียไปจากมาตรการนี้ได้บางส่วน
ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลประกาศ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้แก่ การชะลอปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG สำหรับภาคครัวเรือนไปอีก 6 เดือน, มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา และไฟฟ้าของครัวเรือน โดยผู้ใช้น้ำประปาไม่เกิน 50 หน่วย และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากใช้ไฟฟ้า 80-150 หน่วยรัฐบาลช่วยออกค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง
มาตรการนี้จะครอบคลุมผู้ใช้น้ำประปา 3.2 ล้านราย ประหยัดได้เดือนละ 176-213 บาท และครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้า 9.85 ล้านราย ลดค่าใช้จ่ายได้เดือนละ 120-200 บาทต่อครัวเรือน
มาตรการช่วยค่าใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า มีประมาณการค่าใช้จ่ายรวม 15,930 ล้านบาท โดยให้หักเป็นค่าใช้จ่าย จากรายได้นำส่งรัฐของการไฟฟ้า และการประปาซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ
นอกจากนี้ จะจัดรถโดยสารประจำทาง ขสมก.จำนวน 800 คัน (จากทั้งหมด 1,600 คัน )ใน 73 เส้นทาง ให้บริการในเขตกทม. และปริมณฑล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยภาครัฐจะจัดสรรงบกลางชดเชยรายได้ของขสมก.ประมาณ 1,244 ล้านบาท
มาตรการให้ประชาชนเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ครอบคลุมผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 16 ล้านคน โดยภาครัฐจะจัดสรรงบกลางชดเชยรายได้ของรฟท.ประมาณ 250 ล้านบาท
นายสมัคร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับหลักการนำเข้าน้ำมันดีเซลราคาต่ำจากรัสเซีย เพื่อใช้ในต่างจังหวัด ในชนบท และเพื่อการประมง โดยจะขายผ่านสหกรณ์การประมง และสหกรณ์การขนส่งในต่างจังหวัดจำนวน 200 แห่งทั่วประเทศ และขอยืนยันว่า จะไม่มีจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร หลังจาก ครม.อนุมัติในหลักการแล้วภายใน 15 วัน จะมีการจัดทำเอกสารเพื่อจัดซื้อ หลังจากนั้น 45 วัน ทางรัสเซียจะส่งน้ำมันมาทางเรือ และส่งไปตรวจสอบคุณภาพน้ำมัน เมื่อผ่านการตรวจสอบก็สามารถนำมาออกจำหน่ายตามหลักเกณฑ์ได้
นายสมัคร ว่า 6 มาตรการจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลงชั่วคราว หลังจากนี้รัฐบาลจะเร่งผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ อาทิ โครงการรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า 9 สาย และการขุดลอกคูคลอง ให้ออกมาเร็วขึ้น ซึ่งถือว่าจะเป็นการสร้างงานให้ประชาชน และเป็นการเพิ่มรายได้อีกทาง
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กล่าวว่าการออก 6 มาตรการทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ถึง 46,000 ล้านบาท คาดว่ารัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่จะช่วยชะลออัตราเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้นไปจนถึง 2 หลักอย่างที่คาดการณ์กันไว้ โดยคาดว่าทั้งปี 2551 เงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 9 และเชื่อว่าการดำเนินมาตรการครั้งนี้จะกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.3 - 0.5
. . .

เสียงสะท้อนต่อ 6 มาตรการลดค่าครองชีพ

นายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการปรับลดอัตราภาษีน่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย โดยจะเห็นผลได้เร็วกว่ามาตรการทางการเงิน และเน้นช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบ สำหรับมาตรการทางภาษีที่รัฐได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้หลังจัดตั้งรัฐบาลถือว่ามาถูกทางแล้ว และใช้ได้ผลกับเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่อยากให้เป็นการช่วยไปทุกภาคส่วน และทำให้ไม่เกิดการปรับตัวในที่สุด
นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวถึง มาตรการฝ่าวิกฤติฯ ว่า แม้จะมีผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์บ้าง แต่รวม ๆ แล้วไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ เพราะเมื่อรัฐบาลลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่ารถเมล์ ค่ารถไฟ ภาษีน้ำมัน ในที่สุดก็ต้องมีการจ่ายเงินชดเชยโดยอาจต้องไปเก็บภาษีจากส่วนอื่นเพิ่ม เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมาย หากรัฐจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ก็อาจต้องกู้เงิน หรือออกพันธบัตรมาแก้ปัญหา ซึ่งสุดท้ายก็เป็นเงินภาษีของประชาชนนำมาแก้ปัญหาอยู่ดี
นายเทียนไชย กล่าวว่า กรณีการลดภาษีน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และดีเซล เป็นแนวทางที่คนจนไม่ได้ประโยชน์มากนัก เพราะส่วนใหญ่คนจนไม่ได้มีรถยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตนเอง การลดภาษีน้ำมันเป็นการลดที่เอาใจคนเมือง คนที่มีรายได้ระดับกลางไปจนถึงผู้ประกอบการขนส่งมากกว่า ซึ่งต่อไปนี้คงจะต้องดูว่าผู้ประกอบการขนส่งจะลด หรือตรึงค่าโดยสาร หรือลดค่าขนส่งสินค้า จนทำให้ประชาชนทั่วไปได้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาราคาสินค้าได้บวกกับค่าขนส่งไปแล้ว
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวเพียงว่า ไร้สาระที่จะคอมเมนต์นโยบายลดภาษีน้ำมัน เพราะมันไม่มีประโยชน์
แหล่งข่าวจากวงการน้ำมัน ระบุว่าเป็นนโยบายที่สวนทางกับการประหยัดพลังงาน เท่ากับเป็นการเอาใจผู้ใช้น้ำมัน ซึ่งเป็นคนระดับกลางขึ้นไป และสุดท้ายประเทศจะเสียมากกว่าที่จะได้ประโยชน์
. . .

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน 6 มาตรการรัฐเสี่ยงขาดดุลถึง 2.2 แสนล้านบาท

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีออก “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อไทยทุกคน” น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง โดยคาดว่าจากมาตรการดังกล่าว อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค.อาจจะต่ำกว่า 10% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2551 อาจอยู่ที่ 7.3% เมื่อเทียบกับประมาณการเดิมที่ 7.8%อย่างไรก็ตาม การบรรเทาผลของเงินเฟ้อดังกล่าวต้องแลกมาด้วยฐานะดุลการคลังที่อาจขาดดุลสูงขึ้นเป็น 220,000 ล้านบาท จากประมาณการเดิมที่ 172,000 ล้านบาท
ขณะที่ประเด็นสำคัญที่สุดในยามที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นในขณะนี้ น่าจะยังเป็นการมุ่งประหยัดการใช้พลังงานของทุกฝ่าย เนื่องจากเห็นได้ชัดแล้วว่าการบรรเทาผลกระทบโดยการใช้มาตรการภาษีย่อมจะมีต้นทุนทางการคลังตามมา ซึ่งควรดำเนินการภายใต้กรอบเวลาที่จำกัด โดยหากพ้นระยะเวลา 6 เดือนไปแล้ว ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มชะลอตัวลงก็น่าจะเป็นจังหวะเหมาะสมในการสิ้นสุดการใช้มาตรการ
. . .

ขสมก.โวย แจกขึ้นรถเมล์ฟรี 1 ส.ค.โกลาหลแน่!

นายบุญมา ปังมา รองประธานสหภาพแรงงานพนักงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) กล่าวว่าการที่รัฐบาลให้ประชาชนขึ้นรถเมล์ฟรี 800 คัน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นั้น ถ้ารัฐบาลต้องการจะออกนโยบายประชานิยมแบบนี้ก็น่าจะให้ฟรีทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ ขสมก.มีรถร้อนอยู่กว่า 1,000 คัน การออกนโยบายฟรีบางส่วน ทำให้ ขสมก.ถูกต่อว่ามากกว่า เพราะประชาชนก็ต้องการขึ้นรถฟรีทั้งหมด
“การให้มีรถฟรีแบบคันเว้นคันเช่นนี้ ทำให้มีปัญหาในการปล่อยรถ ทุกวันนี้พนักงานเก็บค่าโดยสารมีรายรับจากเปอร์เซ็นต์ค่าตั๋วโดยสาร รัฐบาลจะชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปอย่างไร เพราะขณะนี้มีรายได้เดือนละ 8,000 บาท ซึ่งแทบไม่พอใช้อยู่แล้ว”
ถ้ารัฐบาลให้ฟรีทั้งหมด ก็ต้องหารายได้ชดเชยในส่วนที่ขาดและไม่ให้เกิดความแตกแยกว่าคันไหนได้เก็บค่าโดยสาร หรือไม่ได้เก็บ สร.ขสมก.เห็นด้วยกับบริการประชาชน แต่ไม่เห็นด้วยกับการทำแบบครึ่งๆ กลางๆ อาจจะหันมาเก็บค่าโดยสารราคาเท่ากันคันละ 5 บาทก็พอแล้ว แต่ต้องเพิ่มรถร้อนให้ครบเส้นทาง และหากรัฐบาลยังยืนว่าจะเก็บค่าโดยสารในลักษณะนี้ จะทำให้เกิดความโกลาหล
. . .